ออมอย่างไรหลังเกษียณให้มีสุข

ออมอย่างไรหลังเกษียณให้มีสุข

 

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกันอีกครั้งกับบทความดีๆ ทางคอลัมน์กระเบียดเกษียณ โดย บมจ. แอ๊ดวานซ์ ไลฟ์ ประกันชีวิต ที่จะเป็นส่วนหนึ่งให้ท่านได้วางแผนการเงินก่อนและหลังวัยเกษียณ เพื่อให้ท่านมีชีวิตในวัยเกษียณอย่างมีความสุขและไม่เป็นภาระของลูกหลาน ก่อนที่จะมาพบสาระดีๆ ที่เรานำมาฝากผู้อ่านทุกท่าน เข้าสู่ต้นปี 2562 สวัสดีปีใหม่ทุกๆ ท่านด้วยครับ เป็นวันเริ่มต้นสิ่งดีๆ ของปี สำหรับวันนี้เราก็ยังมีสาระดีๆ ที่นำมาฝากให้ท่านผู้อ่านของผมทุกท่านเป็นประจำเช่นเคย เพื่อไม่ให้เสียเวลา งั้นเราพบกับสาระดีๆ กันดีกว่าครับ

มนุษย์เงินเดือนจำนวนไม่น้อยเริ่มคิดไว้แล้วว่าจะเกษียณเมื่อไหร่? จะมีเงินไว้ใช้หลังเกษียณเท่าไหร่? จะต้องกันเงินไว้ส่วนไหนบ้างหลังเกษียณ? จะออมเงินอย่างไรให้งอกเงยเพื่อให้เพียงพอที่จะใช้ในวัยหลังเกษียณ บางคนบอกว่าแค่เดือนชนเดือนยังจะยากเลย ซึ่งผมลองได้เช็คข้อมูลคร่าวๆ ว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ 5 ส่วนในการดำเนินชีวิตหลังเกษียณ ได้แก่  1)ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำรงชีพ เช่นค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า  2) ค่าใช้จ่ายที่อยู่อาศัย เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ  3) ค่าใช้จ่ายเพื่อสุขภาพ  4) ค่าใช้จ่ายเพื่อนันทนาการ เช่น การท่องเที่ยวและการกินข้าวนอกบ้าน และ 5) ค่าใช้จ่ายสำหรับเรื่องรถ

ในรายงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้รายงานว่า ครัวเรือนไทยในปี 2556 มีเงินออมโดยเฉลี่ยครัวเรือนละ 115,446 บาท โดยในรายงานระบุว่าผู้สูงอายุจะต้องมีค่าใช้จ่ายประมาณ 2.03 ล้านบาทต่อคนจึงจะเพียงพอต่อการดำรงชีพจนถึงอายุ 80 ปี  นั่นหมายถึงคนส่วนใหญ่ยังมีอัตราการออมที่น้อย  ไม่เพียงพอต่อวัยหลังเกษียณ

การออมในวัยหลังเกษียณ สิ่งสำคัญอย่างมาก คือ การวางแผน ซึ่งการออมสามารถออมได้ ตั้งแต่วิธีง่ายๆ เช่น ฝากธนาคารไปจนถึงการออมในกองทุนประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวม (Mutual Fund) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) หรือการลงทุนอย่างกองทุน LTF และ RMF ซึ่งหลายคนสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย สิ่งสำคัญคือจะออมเงินอย่างไร จะลงทุนกับอะไรดี เพื่อได้ผลตอบแทนที่ดีและทำให้ชีวิตหลังวัยเกษียณอยู่สุขสบาย  ไม่ลำบากมากนักกับเงินที่ออมมาทั้งชีวิต

สำหรับคนที่ต้องการเตรียมวางแผนการออมเงินไว้หลังวัยเกษียณ มีขั้นตอนง่ายๆ 6 ขั้นตอนที่สามารถเตรียมและวางแผนได้เลย ดังนี้

  1. กำหนดเป้าหมายในการเกษียณเช่น จะเกษียณอายุเท่าไหร่ ประเมินค่าใช้จ่ายหลังวัยเกษียณว่าจะต้องใช้ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ต่อเดือน รวมทั้งประเมินว่าตนเองจะสามารถมีชีวิตยืนยาวไปได้เพียงใด เช่น 80 ปี เพื่อให้รู้ว่าเราต้องเตรียมเงินออมไว้เท่าไหร่เพื่อเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ
  2. คำนวณเงินที่ต้องใช้หลังวัยเกษียณ โดยทำการประเมินจากเป้าหมายของตนเอง ว่าจะต้องใช้ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ต่อเดือน รวมทั้งไลฟ์สไตล์ของตนเองที่จะใช้ชีวิตหลังเกษียณ โดยจะต้องคิดอัตราเงินเฟ้อเข้าไปด้วย อาทิ ถ้าคุณมองว่าใช้ค่าใช้จ่ายเดือนละ 10,000 บาท โดยมีจำนวนปีหลังเกษียณ 20 ปี จำเป็นต้องเตรียมเงินประมาณ 3.6 ล้านบาท
  3. คำนวณเงินออมที่มีเพื่อวัยเกษียณจากแหล่งต่างๆซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์การเงินหลากหลายประเภทที่ช่วยในการออมเงิน ตั้งแต่เงินประกันสังคมที่จะได้เงินบำนาญชราภาพ เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  ซึ่งถ้าเป็นมนุษย์เงินเดือนในบริษัทเอกชนหลายๆ แห่ง จะบังคับฝากจากเงินเดือนเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งจะทำให้เป็นหนึ่งในเงินออมที่สำคัญ เงินประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์และแบบบำนาญ รวมทั้งเงินออมที่ลงทุนในรูปแบบอื่น อาทิ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ก็เป็นหนึ่งในกองทุนที่เหมาะสมสำหรับการออมเพื่อเกษียณอย่างแท้จริง  เพราะจะขายคืนหน่วยลงทุนได้ก็ต่อเมื่ออายุ 55 ปีไปแล้ว  ทำให้ได้เงินเป็นก้อนใหญ่และยังได้ผลตอบแทนอีกด้วย
  4. คำนวณเงินที่ต้องออมเพิ่มเพื่อวัยเกษียณโดยการนำเอาตัวเลขจำนวนค่าใช้จ่ายที่ใช้หลังวัยเกษียณมาหักลบกับเงินออมที่มีอยู่ นั่นจะได้ตัวเลขจำนวนเงินที่ต้องออมเพิ่ม เพื่อให้ถึงเป้าหมายในการเกษียณ
  5. กำหนดแนวทางการออมและการลงทุน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะทำให้การออมประสบความสำเร็จ ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่การจดบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อให้มีการออมอย่างต่อเนื่องและที่สำคัญนะครับ ต้องเลือกการออมในรูปแบบของการลงทุนที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของตนเองและความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ ซึ่งถ้าดีที่สุด คือ การเขียนแผนเป็นลายลักษณ์อักษรและปฏิบัติตามแผนอย่างมีระเบียบวินัยในการออมนั่นเอง
  6. ทบทวนและปรับปรุงแผนการออมตลอดเวลาเพื่อให้สามารถออมเงินได้ตามเป้าหมาย พร้อมทบทวนว่า เป้าหมายในการเกษียณมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ การออมเพื่อการเกษียณ เน้นไปที่การวางแผนการออมการลงทุนอย่างเป็นระบบ มีการวางแผนทางการเงิน จัดสัดส่วนเงินที่จะออมและลงทุนในส่วนต่างๆ เพื่อให้ไปตามเป้าหมายที่วางแผนเกษียณไว้

ทั้งหมด 6 ขั้นตอนนี้ จะทำให้การบริหารจัดการเงินของผู้ที่อยากเกษียณอย่างเป็นสุขชัดเจนมากขึ้นและยังทำให้ไม่เครียดเมื่อวัยใกล้เกษียณแล้ว และยังส่งผลให้ตนเองไม่เป็นภาระให้กับลูกหลานและยังสามารถเป็นมรดกตกทอดไปได้ สำหรับวันนี้สวัสดีครับ