ลดหย่อนภาษีกับโครงการ “ช็อปช่วยชาติ”

บทความทาง นสพ.ผู้จัดการรายวัน  ฉบับ วันที่  26 ธันวาคม 2559

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกันอีกครั้งกับคอลัมน์ดีๆ ที่ช่วยแนะนำการวางแผนทางการเงินเพื่อให้เรื่องการเงินไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป สำหรับวันนี้ผมขอเกาะกระแสเรื่องการลดหย่อนภาษีกับโครงการ “ช็อปช่วยชาติ” ที่มนุษย์เงินเดือนและท่านที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสนใจและให้ความสำคัญเป็นเรื่องต้นๆ เลยทีเดียว ทั้งนี้ก็เพื่อใช้ในการวางแผนภาษีปี 2559 ที่กำลังจะต้องมีการยื่นแบบประเมินตนเองในอีกไม่นานนี้ โดยเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมาทางคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2559) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีสาระสำคัญซึ่งกำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับผู้มีเงินได้ที่เป็นบุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ในระหว่างวันที่ 14 ธันวาคม 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 ตามจำนวนที่จ่ายเงินจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้

  1. ผู้มีเงินได้ต้องซื้อสินค้าหรือรับบริการ และชำระราคาค่าสินค้าหรือค่าบริการในช่วงเวลาดังกล่าว และต้องมีหลักฐานการซื้อสินค้าหรือรับบริการเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมีจุดสังเกตที่สำคัญอยู่ 8 จุด ดังนี้ครับ
  • ต้องมีคำว่า “ใบกำกับภาษี” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
  • ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี และในกรณีที่ตัวแทนเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 86 วรรคสี่ หรือมาตรา 86/2 หรือผู้ทอดตลาดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 86/3 ให้ระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนนั้นด้วย
  • ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
  • หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)
  • ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
  • จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้า และหรือของบริการให้ชัดแจ้ง
  • วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
  • ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด
  1. การซื้อสินค้าหรือรับบริการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น ต้องเป็นการซื้อสินค้าเพื่อใช้ในประเทศหรือบริการเพื่อใช้ในประเทศเท่านั้น และต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 แต่สินค้านั้นไม่รวมถึงการซื้อสุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ น้ำมัน และก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
  2. ค่าบริการที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในเรื่องนี้ไม่รวมถึงค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศและค่าที่พักโรงแรมให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม

หลายๆ ท่านคงจะเกิดคำถามที่ว่าช็อปช่วยชาติในครั้งนี้ สามารถหักลดหย่อนได้เท่าไร? และได้เงินคืนแค่ไหน? โดยผมขอให้ท่านอย่าพึ่งคิดว่าจะลดได้ถึง 15,000 บาทเลยนะครับ เพราะจริงๆ แล้วท่านต้องนำไปคำนวณภาษีตามขั้นภาษีที่ท่านเสียอยู่ก่อน ซึ่งผมได้ทำตารางเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น โดยอัตราภาษีแบ่งเป็นขั้นบันไดตามรายได้สุทธิดังนี้

รายได้สุทธิต่อปี (บาท) ฐานภาษี จำนวนเงินคืนภาษีสูงสุดที่จะได้รับ (บาท)
0 – 150,000 ยกเว้น
150,001 – 300,000 5% 750
300,001 – 500,000 10% 1,500
500,001 – 750,000 15% 2,250
750,001 – 1,000,000 20% 3,000
1,000,001 – 2,000,000 25% 3,750
2,000,001 – 4,000,000 30% 4,500
4,000,001 ขึ้นไป 35% 5,250

เป็นอย่างไรกันบ้างครับสำหรับมาตรการดีๆ ที่ทางรัฐบาลอนุมัติออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยลดภาษีของท่านลงได้ แต่อย่างไรก็ตามก่อนจะซื้อสินค้าหรือบริการ อยากให้ท่านลองคำนวณภาษีของตัวเองดูก่อนว่าปี 2559 ท่านมีรายได้สุทธิที่หักค่าลดหย่อนต่างๆ แล้วเท่าไร เพื่อที่จะได้ทราบว่าตัวท่านเองมีฐานภาษีเท่าไร เพื่อประโยชน์ในการวางแผนลดหย่อนภาษีได้อย่างสูงสุดครับ แล้วกลับมาพบกันใหม่ในครั้งหน้า สำหรับวันนี้สวัสดีครับ