“วางแผนการเงินให้กระชับ ในแบบฉบับจัดทัพทีมบอล”

“วางแผนการเงินให้กระชับ ในแบบฉบับจัดทัพทีมบอล”

โดย คุณธัญญะ ซี่อวาจา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ

บริษัท แอ๊ดวานซ์ ไลฟ์ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)

[email protected] โทร. 02-648-3333

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกับ Money DIY 4.0 อีกเช่นเคย สำหรับในช่วงนี้กระแสที่มาแรงที่สุดคงจะหนีไม่พ้นฟุตบอลโลก 2018 ที่กำลังแข่งขันกันอย่างเข้มข้น ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละทีมก็จะมีเทคนิคหรือแผนการเล่นที่แตกต่างกัน บางทีมก็วางแผนการเล่นในระบบ 4-4-2 เน้นจุดเด่นที่คู่กองหน้า บางทีมก็ใช้ระบบ 4-3-3 เน้นเกมส์ในแดนกลางพร้อมโต้กลับ หรือบางทีมที่ต้องการเล่นเกมส์รับอาจจัดทัพมาเป็น 4-5-1 ที่เน้นการครองบอล ซึ่งไม่ว่าแต่ละทีมจะมีแผนการเล่นอย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าจะมี 3 โซนที่เด่นๆ ก็คือ กองหน้า กองกลาง และกองหลัง และที่ขาดไม่ได้ก็คือผู้รักษาประตู วันนี้ผมจึงจะเปรียบเทียบการวางแผนการเงินให้กระชับในแบบฉบับการจัดทัพของทีมฟุตบอลกัน

  1. กองหน้า สำหรับทีมฟุตบอลจะทำหน้าที่สำคัญในการทำประตูคู่ต่อสู้เพื่อให้ทีมได้ชัยชนะ ถ้ามองในมุมกองหน้าในการวางแผนการเงินก็อาจจะเปรียบได้กับการลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภทที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อที่จะทำให้ได้ผลตอบแทนสูงและบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่วางไว้ให้เร็วที่สุด ซึ่งผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภทนี้อย่างเช่น การลงทุนในหุ้น ซึ่งจะมีผลตอบแทนที่สูงและจะทำให้เราไปถึงเป้าหมายทางการเงินได้อย่างรวดเร็ว แต่การลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้ก็มีความเสี่ยงสูง ถ้าลงทุนไม่ดีหรือบุกมากเกินไปก็อาจทำให้พลาดท่าถูกโต้กลับและเสียประตูได้ในที่สุด
  2. กองกลาง สำหรับทีมฟุตบอลจะทำหน้าที่สำคัญในการเดินเกมส์ทั้งช่วยเกมส์รับและเสริมเกมส์รุก จึงเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าตำแหน่งอื่นๆ ดังนั้นตำแหน่งดังกล่าวจึงจะผลีผลามมากไม่ได้ ถ้าเปรียบกับการจัดทัพการเงิน ก็คงเทียบได้กับการลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความเสี่ยงปานกลาง ซึ่งการลงทุนในกลุ่มนี้อาจจะเป็นประเภทตราสารหนี้ระยะยาวและตราสารหนี้ต่างประเทศซึ่งจะมีผลตอบแทนและความเสี่ยงอยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งเราสามารถนำสินทรัพย์ในกลุ่มนี้มาช่วยสร้างผลตอบแทนทั้งในเกมส์รุกและเสริมเกมส์รับได้เป็นอย่างดี
  3. กองหลัง สำหรับทีมฟุตบอลจะทำหน้าที่สำคัญในการช่วยปกป้องการบุกของคู่ต่อสู้เพื่อไม่ให้มีการสร้างโอกาสในการทำประตูของคู่แข่ง ดังนั้นการเล่นของผู้เล่นในตำแหน่งนี้จึงจะมีความเสี่ยงมากไม่ได้เพราะถ้าพลาดนั่นหมายถึงประตูที่อาจจะเสียไป จึงต้องเน้นไปที่ความรัดกุมและช่วยเสริมกองกลางได้บ้างในบางจังหวะ ดังนั้นถ้าเทียบกับทัพการเงินก็คงเปรียบได้กับการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ ไม่ได้เน้นผลตอบแทนมากนักแต่เน้นที่การรักษาเงินต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ทางการเงินกลุ่มนี้ก็อย่างเช่น การซื้อพันธบัตร กองทุนรวมตลาดเงิน หรือเงินฝากธนาคาร
  4. ผู้รักษาประตู สำหรับทีมฟุตบอลจะทำหน้าที่สำคัญในการเป็นปราการด่านสุดท้ายที่จะปกป้องไม่ให้ทีมเสียประตูและแพ้คู่ต่อสู้ ซึ่งผู้เล่นในตำแหน่งนี้ก็มีความสำคัญอย่างมาก เพราะหากทีมมีกองหน้าที่เก่งในการทำประตู แต่มีผู้รักษาประตูที่แย่ ก็จะทำให้ทีมเสียประตูได้ง่ายและแพ้ในที่สุด ดังนั้นผู้รักษาประตูในทัพการเงินจึงเปรียบได้กับผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ช่วยคุ้มครองความเสี่ยงทางการเงินให้กับเราอย่างเช่น ประกัน ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ และประกันทรัพย์สินต่างๆ ซึ่งผลิตภัณฑ์ทางการเงินเหล่านี้จะช่วยถ่ายโอนความเสี่ยง และช่วยในการปกป้องทรัพย์สินของเราไม่ให้สูญหายไป เหมือนกับผู้รักษาประตูที่ช่วยไม่ให้ทีมถูกยิงประตูนั่นเอง

จะเห็นได้ว่าการจัดทัพของทีมฟุตบอลก็จะต้องมีการผสมผสานระหว่างกองหน้า กองกลาง กองหลัง และผู้รักษาประตูให้สมดุลตามแบบฉบับความถนัดและแผนการซ้อมของแต่ละทีม หากเน้นกองหน้ามากเกินไป ก็ทำให้มีโอกาสทำประตูได้มากแต่หากพลาดก็อาจเสียประตูได้ง่ายเช่นกัน หากทีมไหนเน้นกองหลังมากเกินไปโอกาสเสียประตูก็น้อยแต่โอกาสที่จะชนะก็ยากเช่นเดียวกัน ซึ่งก็เช่นเดียวกันกับการจัดทัพทางการเงินที่ต้องเน้นการผสมผสานการลงทุนแบบกระจายความเสี่ยง เพื่อให้ตอบโจทย์กับเป้าหมายของแต่ละคนตามความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ซึ่งหากเรามีความรู้และความเข้าใจที่ดี และเลือกความเสี่ยงให้เหมาะกับวัย ความรู้ความเข้าใจ และความเสี่ยงที่ยอมรับได้แล้ว ก็จะทำให้ทัพการเงินของเราสามารถเอาชนะและบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่วางไว้ได้ในที่สุดเช่นกัน แล้วกลับมาพบกันใหม่กับบทความหน้า สำหรับวันนี้สวัสดีครับ