เตรียมความพร้อมวางแผนภาษีฉบับมนุษย์เงินเดือน

คอลัมน์ Money DIY 4.0 ทาง นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 26 – วันพุธที่ 29 พฤศจิกายน 2560

ใกล้จะสิ้นปีกันแล้วท่านผู้อ่านอย่าลืมวางแผนภาษีกันด้วยนะครับ โดยอย่าลืมใช้สิทธิประโยชน์ในการหักค่าลดหย่อนภาษีตามที่กฎหมายกำหนดให้ ซึ่งบทความนี้ผมจะได้สรุปการปรับปรุงโครงสร้างภาษีที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในปี 2560 นี้สำหรับมนุษย์เงินเดือน เพื่อท่านผู้อ่านทุกท่านจะได้เตรียมความพร้อมในการวางแผนภาษีก่อนที่จะครบสิ้นปีภาษีนี้ในวันที่ 31 ธันวาคม 2560

ก่อนอื่นต้องอธิบายให้ท่านผู้อ่านเข้าใจก่อนครับว่าการคำนวณเพื่อเสียภาษีนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร โดยหลักแล้วผู้มีเงินได้ระหว่างปีทุกคนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมาย แต่ไม่ใช่นำเงินได้ทั้งหมดมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเลย เพราะกฎหมายให้สิทธิในการนำค่าใช้จ่าย รวมถึงค่าลดหย่อนและเงินบริจาคมาหักออกก่อนที่นำเงินได้สุทธิไปคำนวณเพื่อเสียภาษี ตามสมการดังนี้  

   [ (รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) – เงินบริจาค ] x อัตราภาษี

ซึ่งในปีภาษี 2560 นี้ มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษีที่สำคัญหลายๆ เรื่อง ซึ่งล้วนแต่เป็นประโยชน์สำหรับผู้มีเงินได้ที่จะทำให้เสียภาษีน้อยลงจากปีที่ผ่านมา โดยมีประเด็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ดังนี้

  1. มีการปรับปรุงการหักค่าใช้จ่ายของเงินเดือน ค่าจ้าง ค่านายหน้า ฯลฯ อันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร จากเดิมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 40 ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 60,000 บาท เป็นร้อยละ 50 ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งการเพิ่มค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะทำให้เงินสุทธิที่ต้องคำนวณเพื่อเสียภาษีนั้นลดลง
  2. มีการปรับปรุงการหักค่าลดหย่อนในหลายๆ รายการซึ่งทำให้ผู้มีเงินได้ใช้สิทธิได้เพิ่มขึ้น  โดยผู้มีเงินได้สามารถใช้สิทธิหักค่าลดหย่อนส่วนตัวได้ จากเดิม 30,000 บาท เพิ่มเป็น 60,000 บาท ค่าลดหย่อนสำหรับคู่สมรสของผู้มีเงินได้จากเดิม 30,000 บาท เพิ่มเป็น 60,000 บาท รวมทั้งค่าลดหย่อนบุตรจากเดิมคนละ 15,000 บาท และจำกัดจำนวนไม่เกิน 3 คน เพิ่มเป็นคนละ 30,000 บาท โดยไม่จำกัดจำนวนบุตร อย่างไรก็ตามได้มีการยกเลิกค่าลดหย่อนการศึกษาบุตรซึ่งจากเดิมที่ให้หักลดหย่อนได้คนละ 2,000 บาท ออกไปด้วย

นอกจากนี้ในส่วนของค่าลดหย่อนบุตรนั้นท่านผู้อ่านต้องทำความเข้าใจให้ดีนะครับ ว่าในการใช้สิทธิลดหย่อนนั้นต้องเป็นกรณีที่บุตรอายุไม่ถึง 20 ปี หรือยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือเป็นกรณีที่บุตรอายุ 20 – 25 ปี หรือบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่ต้องเรียนอยู่ระดับอนุปริญญา (ปวส.) หรือปริญญาตรีขึ้นไป หรือเป็นกรณีที่บุตรอายุเท่าไหร่ก็ได้ แต่ต้องถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ ซึ่งต้องเข้าเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดดังกล่าวจึงจะใช้สิทธิลดหย่อนได้

  1. มีการปรับปรุงขั้นเงินได้และบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่บางส่วน โดยเปลี่ยนแปลงในส่วนของเงินได้สุทธิที่เกิน 4,000,000 บาท เปลี่ยนเป็น 5,000,000 บาท ในการเสียภาษีที่อัตรา 35% แทน ส่วนเงินได้สุทธิในช่วงอื่นๆ นั้นยังคงใช้บัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา

ในส่วนรายการค่าลดหย่อนอื่นๆ ท่านผู้อ่านสามารถใช้สิทธิได้เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนซื้อ LTF หรือ  RMF หรือการซื้อประกันชีวิตแบบทั่วไปที่มีระยะเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป หรือประกันชีวิตแบบบำนาญ รวมทั้งค่าลดหย่อนอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนด เหลืออีกแค่เดือนเดียวนะครับอย่าลืมในการเตรียมความพร้อมที่จะวางแผนภาษีกันด้วยนะครับ แล้วกลับมาพบกับสาระความรู้ทางการเงินในแบบฉบับของคุณได้ใหม่ในครั้งหน้า สำหรับวันนี้สวัสดีครับ.