“เมื่ออายุขึ้นเลข 3 กับคำถามทางการเงิน”

“เมื่ออายุขึ้นเลข 3 กับคำถามทางการเงิน”

โดย คุณธัญญะ ซี่อวาจา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ

บริษัท แอ๊ดวานซ์ ไลฟ์ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)

[email protected] โทร. 02-648-3333

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกับ Money DIY 4.0 คอลัมน์ดีๆ ที่จะช่วยแนะนำในเรื่องของการวางแผนทางการเงิน ในสัปดาห์นี้ผมจะมาตอบคำถามทางการเงินกับประเด็นที่น่าสนใจของคนที่อายุขึ้นเลข 3 กัน ลองไปดูนะครับว่าถ้าเป็นท่านผู้อ่านจะคิดอย่างไรกับคำถามเหล่านี้

  • ทำไมหลายคนชอบตั้งคำถามเรื่องเงินๆ ทองๆ ตอนอายุขึ้นเลข 3

แน่นอนว่าเมื่ออายุเข้าเลข 3 ก็ถือว่าเข้าสู่วัยกลางคนแล้ว หลายๆ คนเริ่มที่จะต้องสร้างครอบครัว และยังต้องมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับลูก รวมทั้งค่าใช้จ่ายสุขภาพตามมา ดังนั้นหลายๆ คนจึงเริ่มที่จะคิดเรื่องเงินๆ ทองๆ อย่างจริงจัง

  • อายุขึ้นเลข 3 เราควรจะมีเงินเก็บเท่าไหร่

เรื่องนี้ผมคิดว่าต้องแล้วแต่แต่ละคน เพราะแต่ละคนมีเป้าหมายที่ไม่เหมือนกัน และมีต้นทุนทางการเงินที่ไม่เท่ากัน แต่อย่างน้อยที่สุด เมื่อเราอายุขึ้นเลข 3 แล้วก็ควรจะมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน เพื่ออย่างน้อยจะได้เป็นจุดเริ่มต้นในการวางแผนเพิ่มความมั่งคั่งและมั่นคงในอนาคต

  • นิสัยอย่างไร ทำยังไงก็จน

โดยหากท่านเป็นคนที่ “ไม่คิดเรื่องออม” คิดจ่ายเงินเพื่อเรื่องอย่างอื่นก่อนคิดถึงเรื่องการจ่ายหนี้และการออม เช่น คิดถึงเรื่องการเดินห้าง การช็อปปิ้งก่อน และเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องใหญ่ และเรื่องการจ่ายหนี้กลายเป็นเรื่องเล็ก แบบนี้แล้วล่ะก็น่าเป็นห่วง หรือหลายคนที่ไม่วางแผนการใช้เงิน ไม่มีการทำบัญชีรายรับรายจ่าย หรือไม่จดรายการจ่ายที่ใช้ซื้อของ รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ทำให้ไม่รู้ว่าเงินแต่ละวันที่เสียไปนั้นมีอะไรที่เสียไปโดยเปล่าประโยชน์บ้าง แบบนี้เรียกว่า “ไม่พร้อมวางแผน” นี่ก็น่าเป็นห่วงเช่นกัน หรือหากท่าน “ไม่ได้แพลนเงินฉุกเฉิน” ก็น่ากังวล เพราะความแน่นอนก็คือความไม่แน่นอน  เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดอาจเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นเราจึงควรต้องมีเงินเตรียมไว้ โดยออมเงินในแต่ละเดือนกันไว้เพื่อตั้งรับและทำให้มั่นใจได้ว่าจะมีเงินสำรองจ่ายได้อย่างไม่ต้องกังวล หรือรู้จักการซื้อประกันต่างๆ เพื่อเป็นการลดทอนความเสี่ยงลงได้ เพราะหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้นก็ยังสามารถผ่านเหตุการณ์นั้นไปได้ และสุดท้ายหากท่านเป็นคนที่ไม่เคยคิดควักเงินสดออกจากกระเป๋าเลย โดยใช้จ่ายทุกสิ่งด้วยการ “รูดเพลินกับบัตรเครดิต” คิดแต่ใช้เงินในอนาคตเสมอ อันนี้ผมขอเตือนเลยครับว่าอันตรายมาก เพราะคุณจะไม่รู้สึกตัวเลยว่าจ่ายไปเท่าไร นิสัยต่างๆ แบบนี้แหละครับที่เรียกได้ว่าทำยังไงก็จน

  • แล้ว DNA ของคนรวยล่ะควรจะเป็นอย่างไร

สำหรับผมถ้าจะมอง DNA ของคนรวยก็ต้องประกอบไปด้วย “D N P” ซึ่งถ้าหากท่านผู้อ่านมี DNA แบบนี้ผมเชื่อแน่ว่าท่านจะต้อง รวย รวย และรวย อย่างแน่นอน “D” : “Discipline” หรือ “ความมีวินัย” เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการวางแผนการเงินโดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีวินัยในการออม โดยเราจะต้องเริ่มเปลี่ยนนิสัยในการเก็บออมของเรา จากที่เคยใช้จ่ายเท่าไหร่แล้วค่อยเก็บออม มาเป็นต้องออมก่อนจึงจะใช้จ่าย “M” : “Management” หรือ “การบริหารจัดการ” การบริหารจัดการที่สำคัญที่สุดก็คือ การบริหารจัดการรายได้และค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมและเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยจนเกินไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สามารถใช้จ่ายอะไรได้เลย แต่จริงๆ แล้ว คือ การบริหารค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมต่างหาก “P” : “Plan” หรือ “การวางแผน โดยเราจะต้องมีการวางแผนและกำหนดเป้าหมายในชีวิต เพื่อให้สามารถจัดการแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งวางแผนในการออม วางแผนนำเงินออมไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนที่ดีและคุ้มค่า รวมทั้งต้องหมั่นตรวจสอบแผนที่วางไว้ว่าเราสามารถทำได้ตามแผนที่วางไว้หรือเปล่า และหมั่นตรวจเช็คแผนการเงิน Update ทบทวนและปรับปรุงแผนการเงินตามสถานการณ์ปัจจุบันให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ

ถ้าวันนี้ท่านผู้อ่านอายุขึ้นเลข 3 หรืออายุเลยเลข 3 มานานแล้ว ก็อย่าลืมลองสำรวจตัวเองดูนะครับว่าวันนี้เรามีเงินเก็บเท่าไหร่แล้ว และมีเงินพร้อมสำหรับเป้าหมายที่ตั้งใจไว้หรือยัง ถ้าคำตอบคือยัง ก็อย่าลืมที่จะเริ่มวางแผนการเงินเสียแต่วันนี้นะครับ เพราะมิฉะนั้นท่านอาจจะต้องเจอกับเหตุการณ์ดังสำนวนเช่นนี้ “เสียดาย…ที่ตายแล้วยังใช้เงินไม่หมด แต่น่าสลด…ที่ใช้เงินหมดแล้วยังไม่ตาย” แล้วพบกันใหม่ในโอกาสหน้า สำหรับวันนี้สวัสดีครับ