4 เทคนิควางแผนการเงินเพื่อการศึกษาของคุณลูก

คอลัมน์ Money DIY 4.0 ทาง นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 19 – วันพุธที่ 22 มีนาคม 2560

 

 

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ผมเชื่อแน่ว่าท่านผู้อ่านหลายท่านมีข้อกังวลเกี่ยวกับการวางแผนอนาคตให้กับคุณลูกโดยเฉพาะเรื่องการศึกษา เพราะทุกวันนี้ค่าใช้จ่ายทางด้านการศึกษาเพิ่มสูงขึ้นและจะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

ลองคำนวณตามผมดูนะครับว่ากว่าท่านจะส่งลูกเรียนหนังสือจบต้องใช้เวลาและเงินเท่าไหร่ ในปัจจุบันการศึกษาชั้นอนุบาลใช้เวลาประมาณ 2 – 3 ปี ช่วงประถมศึกษา 6 ปี ช่วงมัธยมศึกษาอีก 6 ปี และระดับปริญญาตรีอีก 4 ปี รวมระยะเวลาที่คุณลูกต้องเรียนเกือบ 20 ปี แถมบางบางครอบครัวยังส่งลูกเรียนต่อระดับปริญญาโทในต่างประเทศก็ยิ่งต้องมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นไปอีก และกรณีที่ส่งลูกเรียนในโรงเรียนรัฐบาลกับเอกชนก็ยิ่งแตกต่างกัน และโดยเฉพาะหากส่งลูกเรียนโรงเรียนอินเตอร์ก็ยิ่งแพงขึ้นไปอีก ผมลองประมาณการให้คร่าวๆ นะครับว่าถ้าท่านผู้อ่านต้องส่งลูกเรียนในแต่ละแห่งจะมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่

 โรงเรียน   ค่าใช้จ่ายโดยประมาณต่อปี            ค่าใช้จ่ายโดยประมาณจนจบปริญญาตรี
   รัฐบาล      30,000 – 50,000 บาท                  600,000 – 1,000,000 บาท
  เอกชน      50,000 – 100,000 บาท               1,000,000 – 2,000,000 บาท
  อินเตอร์    500,000 – 1,000,000 บาท             10,000,000 – 20,000,000 บาท

เห็นมั้ยละครับว่าขนาดส่งลูกเรียนคนเดียวยังใช้เงินเยอะขนาดนี้ แล้วถ้าท่านผู้อ่านที่มีลูกหลายคนก็ยิ่งต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นไปอีกถึง 2 – 3 เท่าตัว ดังนั้นการวางแผนการเงินที่ดีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างมาก วันนี้ผมจึงมี 4 เทคนิคดีๆ ในการวางแผนการเงินเพื่อการศึกษาของคุณลูกมาฝากครับ

ข้อแรก : วางแผนแนวทางการศึกษาให้ชัดเจนและประมาณการค่าใช้จ่ายให้เพียงพอ อย่างแรกท่านผู้อ่านควรต้องหาข้อมูลสถานศึกษา หลักสูตร ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องก่อนเพราะปัจจุบันมีหลายรูปแบบซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน โดยจะต้องตั้งเป้าหมายและประมาณการค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไว้ว่าต้องใช้จ่ายเท่าใด และควรเลือกสถานที่ศึกษาที่เหมาะกับความต้องการและสถานภาพทางการเงินของครอบครัวเป็นหลัก

ข้อที่สอง : วางแผนจัดตั้งกองทุนเพื่อการศึกษาสำหรับคุณลูก ท่านผู้อ่านควรจะต้องมีการวางแผนออมเงินล่วงหน้าเพื่อเป็นค่าเทอมและค่าใช้จ่ายให้กับคุณลูก โดยอาจจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อการศึกษาของคุณลูกด้วยการเก็บออมเงินและนำมาลงทุนเป็น 3 ส่วน คือ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ให้สอดคล้องกับช่วงเวลาเรียนของคุณลูก เช่น ระยะสั้นอาจลงทุนโดยฝากประจำหรือลงทุนในกองทุนระยะสั้น ระยะกลางอาจลงทุนโดยฝากประจำแบบปลอดภาษี 3 – 5 ปี หรือซื้อพันธบัตรรัฐบาล หรือซื้อประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ระยะสั้น ระยะยาวอาจลงทุนซื้อหุ้นหรือหุ้นกู้ต่างประเทศเพื่อเกร็งกำไร หรือซื้อประกันชีวิตแบบระยะยาวเพื่อรับเงินปันผลเป็นช่วงๆ และรับอัตราผลตอบแทนที่แน่นอน

ข้อที่สาม: การสร้างหลักประกันเพื่ออนาคตที่แน่นอน สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับท่านผู้อ่านทุกท่านซึ่งเป็นกำลังหลักในการวางแผนและเก็บออมเงินก็คือการสร้างหลักประกันที่มั่นคงไว้ให้คุณลูก เพราะอนาคตเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน ซึ่งหากมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นกับท่านก็อาจจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อแผนการศึกษาของคุณลูกได้ อาจทำให้คุณลูกได้เรียนไม่เป็นไปตามแผนหรืออาจจะไม่ได้เรียนเลยก็ได้ ดังนั้นการสร้างหลักประกันเพื่ออนาคตของคุณลูกที่แน่นอนวิธีหนึ่งก็คือการทำประกันชีวิตไว้เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในส่วนนี้ลง โดยท่านผู้อ่านอาจจะทำประกันที่มีความคุ้มครองไว้เท่ากับค่าใช้จ่ายที่ได้มีการประมาณการไว้จนคุณลูกจบการศึกษา ก็จะสามารถช่วยการันตีได้ว่าหากมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นคุณลูกก็จะสามารถเรียนจบได้ตามแผนที่วางไว้อย่างแน่นอน

ข้อที่สี่: กันเงินสำรองเพื่อสร้างสภาพคล่อง ท่านผู้อ่านควรต้องมีการกันเงินสำรองไว้บางส่วนเป็นสภาพคล่องสำหรับค่าใช้จ่ายฉุกเฉินต่างๆ เช่น ตกงาน หรือคุณลูกป่วย เพราะเหตุการณ์เหล่านี้อาจจะทำให้แผนที่วางไว้สะดุดลงได้ ดังนั้นท่านผู้อ่านจึงควรกันเงินสำรองไว้อย่างเป็นระบบเพื่อสร้างสภาพคล่องและไม่ทำให้ผิดแผนจากที่กำหนดไว้

ท่านผู้อ่านลองนำเทคนิคดังกล่าวไปปรับใช้ในการวางแผนการเงินเพื่อการศึกษาของคุณลูกกันนะครับ แล้วกลับมาพบกันใหม่ในครั้งหน้า สำหรับวันนี้สวัสดีครับ