5 ทริคง่ายๆ ซื้อของเข้าบ้านอย่างไร ให้เซฟเงินในกระเป๋า

คอลัมน์ Money DIY 4.0 ทาง นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 3 – วันพุธที่ 6 กันยายน 2560

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกับผมอีกครั้งพร้อมกับบทความการวางแผนทางการเงินดีๆ สำหรับในสัปดาห์นี้ผมอยากมานำเสนอวิธีการวางแผนทางการเงินอย่างง่ายๆ โดยเฉพาะคุณแม่บ้านหรือใครก็ตามที่ชอบซื้อของเข้าบ้าน เพราะปัญหาส่วนใหญ่ที่พบก็คือบางครั้งหลายๆ คนซื้อของมาแล้วไม่ได้ใช้ หรือบางครั้งก็ซื้อมามากเกินความจำเป็น ดังนั้นเพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในแบบฉบับมันนี่ ดีไอวาย 4.0 ผมจึงมี 5 ทริคง่ายๆ กับการซื้อของเข้าบ้านอย่างไร ให้เซฟเงินในกระเป๋า

 

 

  1. วางแผนจดรายการที่ต้องการจะซื้อ เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการวางแผนจดรายการของที่ต้องการจะซื้อเสียก่อน เพราะหลายๆ ครั้งพบว่าเมื่อเราไม่ได้จดรายการที่จะซื้อจะทำให้เราไม่ได้ซื้อของตามความจำเป็น แต่จะเป็นการซื้อของตามความอยากแทน ทั้งอยากได้ อยากมี อยากซื้อ ทั้งที่ของที่อยากได้นั้นอาจมีอยู่แล้ว หรือซื้อมาก็ไม่ได้ใช้ หรือใช้ครั้งเดียวก็เลิกใช้ เพราะฉะนั้นท่านผู้อ่านต้องเริ่มต้นจดรายการของที่จะซื้อทุกครั้งก่อนจะออกไปซื้อของอะไรก็ตาม วิธีการง่ายๆ แค่ข้อแรกนี้จะทำให้ท่านผู้อ่านสามารถตัดรายจ่ายที่เป็นของฟุ่มเฟือยออกไปได้เป็นจำนวนมากเลยทีเดียว
  2. ตั้งงบค่าใช้จ่ายที่ต้องซื้อในแต่ละเดือน วิธีการนี้จะช่วยทำให้ท่านผู้อ่านไม่ใช้เงินเกินกว่าเงินที่มี หรือเงินที่ควรจะต้องใช้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาส่วนใหญ่ของคนในปัจจุบันที่มักจะเอาเงินในอนาคตมาใช้ โดยหากเราไม่ได้มีการตั้งงบค่าใช้จ่ายในการซื้อของแต่ละเดือนไว้จะทำให้เราใช้เงินไปโดยไม่ได้คิด เห็นอะไรก็อยากได้อยากซื้อไปหมด ซึ่งการใช้ชีวิตแบบนี้จะทำให้ท่านผู้อ่านไม่มีเงินเก็บออมและลงทุนได้ โดยวิธีการตั้งค่าใช้จ่ายง่ายๆ ก็คือ ท่านผู้อ่านอาจจะกำหนดสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมดไว้ว่าจะใช้ไม่เกิน  60% ของรายได้ต่อเดือนทั้งหมด หลังจากนั้นก็แยกเป็นค่าใช้จ่ายประจำและค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย โดยค่าใช้จ่ายประจำที่จำเป็นต้องจ่าย เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าเดินทาง ค่าไฟฟ้า ค่าประปา ในส่วนนี้ต้องกันเอาไว้ก่อน ส่วนที่เหลือหลังจากนั้นก็คือส่วนของค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยต่างๆ ที่เราสามารถใช้ได้ เช่น นำไปเที่ยว หรือช้อปปิ้งทจับจ่ายใช้สอยต่างๆ
  3. เปรียบเทียบราคาหลายๆ ที่ก่อนตัดสินใจซื้อ ปัจจุบันการเข้าถึงข้อมูลเป็นเรื่องที่ง่ายเป็นอย่างมาก ดังนั้นก่อนที่จะจับจ่ายใช้สอยอะไรลองเปรียบเทียบราคาดูสักนิดว่าของที่ท่านผู้อ่านจะซื้อนั้นที่ไหนถูกที่สุด เพราะบางครั้งของชิ้นเดียวกันแต่ราคาต่างกันหลักร้อยหรือเป็นหลักพันบาท การเปรียบเทียบดูราคาสินค้าตามเว็ปไซต์ หรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ เช่น Real Price, Price Compare, Cheap Price Radar ก็จะช่วยทำให้ท่านผู้อ่านซื้อของชิ้นเดียวกันได้ในราคาที่ถูกลง
  4. ตั้งสติอย่าใจอ่อนยอมให้ป้าย SALE มาหลอกเราได้ ท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านมักจะติดกับดักการทำการตลาดของร้านค้าต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อเห็นป้าย SALE ทำให้เดินเข้าไปซื้อของชิ้นนั้นโดยที่ไม่มีแผนว่าจะซื้อมาก่อน ซึ่งหลายๆ ครั้งเมื่อซื้อของเหล่านั้นกลับไปที่บ้านก็พบว่ามีของที่เหมือนกันอยู่เยอะแล้ว หรือบางทีก็ใช้แค่ครั้งเดียวแล้วก็เลิกใช้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างมาก ดังนั้นท่านผู้อ่านจะต้องตั้งสติสักนิดก่อนที่จะไปเดินซื้อของ อย่าใจอ่อนง่ายๆ กับแค่ป้าย SALE เพราะมิฉะนั้นท่านอาจจะเสียเงินไปโดยไม่ได้ของที่จำเป็นกลับมาก็เป็นไปได้
  5. ยุค 4.0 ซื้อออนไลน์สะดวกสบายไม่ต้องเสียค่าเดินทาง ปัจจุบันห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าหลายๆ แห่ง ได้มีบริการซื้อของผ่านทางออนไลน์ โดยท่านผู้อ่านสามารถนั่งอยู่ที่บ้านและคลิกเลือกซื้อของผ่านทางเว็ปไซต์ หรือแอพพลิเคชั่น หลังจากนั้นของที่เลือกก็จะถูกส่งมาที่บ้านได้โดยไม่ต้องไปเลือกซื้อและขนสินค้าเอง ยุค 4.0 นี้จึงทำให้ท่านผู้อ่านสามารถประหยัดได้ทั้งเวลาและประหยัดเงิน แทนที่จะต้องเสียค่าเดินทาง ค่าที่จอดรถ ก็สามารถใช้บริการทางออนไลน์แทนได้ ดังนั้นท่านผู้อ่านอาจลองเลือกซื้อของด้วยวิธีเช่นนี้ก็จะทำให้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายลงไปได้อีกไม่น้อย

บางครั้งท่านผู้อ่านอาจมองข้ามเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้ไปเพราะคิดว่าไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ แต่หากลองคิดดีๆว่าเงินเล็กๆ น้อยๆ แต่บ่อยครั้งก็เป็นเงินก้อนใหญ่ได้ ดังนั้นก่อนที่ท่านผู้อ่านจะออกไปเลือกซื้อของในวันนี้หรือในครั้งหน้า อย่าลืมนำเอาทริคง่ายๆ เหล่านี้ไปใช้ดูนะครับ ผมเชื่อแน่ว่าท่านผู้อ่านจะมีเงินเหลือเพิ่มขึ้นในกระเป๋าได้ไม่น้อยทีเดียว แล้วกลับมาพบกลับสาระความรู้ดีๆ กับเรื่องราวการวางแผนการเงินง่ายๆ ตามสไตล์ มันนี่ ดีไอวาย 4.0 ในครั้งหน้า สำหรับวันนี้สวัสดีครับ

.