วางแผนเกษียณอย่างเกษม (ตอนที่ 1)

คอลัมน์ Money DIY 4.0 ทาง นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 16 – วันพุธที่ 19 เมษายน 2560

 

 

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกับผมอีกครั้งพร้อมกับบทความในการวางแผนทางการเงินดีๆ สำหรับในช่วงนี้เป็นสัปดาห์แห่งเทศกาลสงกรานต์และในวันที่ 13 เมษายนของทุกปีก็เป็นวันผู้สูงอายุอีกด้วย บทความในวันนี้จึงจะมาพูดถึงเรื่องราวที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุกันครับ ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่มีสุขอนามัยดีขึ้น อายุยืนขึ้นเพราะความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่อัตราการเกิดน้อยลงแต่สัดส่วนผู้สูงอายุสูงขึ้น ในขณะที่ผู้สูงอายุก็หางานทำได้ยากขึ้นเพราะเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นหลายๆ ปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นเหตุผลที่สำคัญว่าทำไมเราจึงควรคิดเรื่องวางแผนเกษียณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ และในอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะมีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่า 1 ใน 5 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งจะเข้าสู่ช่วงสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ดังนั้นเรื่องการวางแผนการเงินเพื่อให้มีเงินไว้ใช้ชีวิตในช่วงวัยเกษียณจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง

ถ้าถามว่าวันนี้ท่านผู้อ่านพร้อมหรือยังกับการวางแผนเกษียณอย่างเกษม ผมเชื่อแน่ว่าหลายๆ ท่านอาจจะตอบว่ายังไม่พร้อม หลายๆ ท่านอาจจะยังไม่ได้เริ่มต้นวางแผนเกษียณ คำถามแรกๆ ที่หลายท่านมักจะมีคำถามก็คือว่าต้องเตรียมเงินไว้ใช้เท่าไหร่จึงจะเพียงพอในการใช้ชีวิตในวัยเกษียณอย่างมีความสุข เพราะฉะนั้นวันนี้ผมจะมาตอบคำถามให้ท่านผู้อ่านทราบว่าหากวางแผนจะเกษียณอายุ ท่านจะต้องเตรียมเงินไว้เท่าไหร่จึงจะเพียงพอในการใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

ขั้นตอนแรก ท่านผู้อ่านจะต้อง “กำหนดเป้าหมายชีวิตหลังเกษียณ” เสียก่อนว่าจะเกษียณที่อายุเท่าไหร่ เช่น 60 ปี หรือบางคนอาจจะอยากเกษียณอายุก่อนกำหนด โดยอาจตั้งเป้าเกษียณที่อายุ 50 ปี โดยในการกำหนดอายุที่จะเกษียณจะทำให้ท่านผู้อ่านทราบว่าท่านมีระยะเวลาการทำงานเหลืออีกยาวนานเท่าใด โดยหากจะเกษียณอายุเร็วขึ้นก็ต้องมีการสะสมเงินเพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยระยะเวลาการทำงานที่ลดน้อยลงและเวลาหลังเกษียณที่เพิ่มขึ้น

ขั้นตอนที่สอง ท่านผู้อ่านจะต้อง “คำนวณค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ” ว่ามีจำนวนเท่าใด โดยท่านจะต้องไม่ลืมว่าค่าใช้จ่ายบางอย่าง เช่น ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ อาจจะลดลงแต่ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับสุขภาพนั้นจะเพิ่มเมื่อเราอายุมากขึ้น ซึ่งโดยทั่วๆ ไปค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนหลังเกษียณจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 70 ของค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนก่อนเกษียณ

ขั้นตอนที่สาม ท่านผู้อ่านจะต้อง “ประมาณการจำนวนปีที่คาดว่าจะใช้ชีวิตอยู่หลังเกษียณ” ว่าท่านจะใช้ชีวิตหลังเกษียณยาวนานเท่าใด ทั้งนี้เพื่อที่จะได้คำนวณจำนวณเงินที่ควรจะมี ณ วันเกษียณอายุได้ว่าควรมีเท่าใด โดยทั่วๆ ไปท่านอาจประมาณการจากค่าเฉลี่ย ซึ่งปัจจุบันระยะเวลาแห่งช่วงชีวิตมนุษย์โดยเฉลี่ยผู้ชายประมาณ 72 ปี และผู้หญิงประมาณ 75 ปี ในขณะที่ผู้ที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอนั้นมีแนวโน้มที่จะมีชีวิตโดยเฉลี่ยยืนยาวถึง 85 ปี

ขั้นตอนสุดท้าย ท่านผู้อ่านสามารถ “คำนวณความต้องการเงินหลังเกษียณอายุ” ว่าควรจะต้องเตรียมเงินไว้เท่าไหร่จึงจะเพียงพอ โดยท่านผู้อ่านสามารถใช้สูตรในการคำนวณได้ ดังนี้

    จำนวณเงินที่ควรจะมี ณ วันเกษียณอายุ = ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อปีหลังเกษียณ x จำนวนปีที่คาดว่าจะใช้ชีวิตอยู่หลังเกษียณ

ตัวอย่างเช่น  ปัจจุบันหน้ากากทุเรียน อายุ 40 ปี วางแผนจะเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี ปัจจุบันมีสุขภาพแข็งแรงมากคาดว่าจะมีอายุจนถึง 85 ปี โดยมีค่าใช้จ่ายปัจจุบันประมาณเดือนละ 30,000 บาท ดังนั้นหน้ากากทุเรียนต้องมีเงินเก็บ ณ วันที่เกษียณประมาณเท่าใด กรณีนี้หน้ากากทุเรียนมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนก่อนเกษียณประมาณเดือนละ 30,000 บาท ดังนั้นค่าใช้จ่ายหลังเกษียณของหน้ากากทุเรียนจึงคำนวณประมาณการอยู่ที่ 21,000 บาทต่อเดือน (ร้อยละ 70 ของ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนก่อนเกษียณ) ดังนั้นคิดเป็นค่าใช้จ่ายหลังเกษียณประมาณปีละ 252,000 บาท โดยหน้ากากทุเรียนคาดว่าจะเกษียณอายุเมื่ออายุ 60 ปี และจะมีอายุจนถึง 85 ปี ทำให้ช่วงชีวิตหลังเกษียณของหน้ากากทุเรียน คือ 25 ปี ดังนั้นจำนวนเงินที่หน้ากากทุเรียนควรจะมี ณ วันเกษียณอายุ คือ 252,000 บาท X 25 ปี นั่นก็คือ ประมาณ 6,300,000 บาท อย่างไรก็ตามเงินจำนวนนี้เป็นประมาณการที่ยังไม่ได้คิดในเรื่องของเงินเฟ้อ ซึ่งเมื่อคิดในเรื่องของเงินเฟ้อทำให้หน้ากากทุเรียนต้องคำนึงถึงเรื่องการออมและการลงทุนเพื่อชนะเงินเฟ้อ ซึ่งในตอนหน้าผมจะได้มาแนะนำท่านผู้อ่านในเรื่องดังกล่าวต่อไป สำหรับวันนี้สวัสดีครับ.