วางแผนเกษียณอย่างเกษม (ตอนที่2)

คอลัมน์ Money DIY 4.0 ทาง นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 14 – วันพุธที่ 17 พฤษภาคม 2560

 

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกับเทคนิคการวางแผนทางการเงินดีๆ ในคอลัมน์มันนี่ ดีไอวาย 4.0 โดยเมื่อครั้งที่ผ่านมาผมได้บอกเทคนิคในการคำนวณจำนวนเงินที่จะต้องเตรียมไว้ใช้เมื่อเกษียณอายุ ซึ่งเรื่องดังกล่าวค่อนข้างสำคัญมากดังกับที่มีคำกล่าวเชิงติดตลกแต่สะท้อนความจริงของชีวิตที่ว่า “เสียดายที่ตายแล้วยังใช้เงินไม่หมด แต่น่าสลดที่ใช้เงินหมดแล้วยังไม่ตาย”

ดังนั้นวันนี้ผมจึงจะนำเทคนิคในการวางแผนการลงทุนเพื่อช่วยเสริมและตอบโจทย์การออมเงินเพื่อเกษียณ เพราะเงินจำนวนเดียวกันที่เราต้องการ ณ วันเกษียณอายุ ถ้าเรามีการเก็บออมและลงทุนที่เป็น เราก็จะใช้แรงน้อยกว่า ใช้เงินต้นที่เราต้องออมน้อยกว่า ซึ่งผมจะแนะนำเทคนิคในการลงทุนเบื้องต้นเพื่อที่ท่านผู้อ่านที่อยู่ในวัยที่แตกต่างกัน จะได้มีแนวทางในการลงทุนเพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตในวัยเกษียณตามแบบฉบับของท่านครับ

 

1. วัยเริ่มต้นทำงาน (21-30 ปี)  เนื่องจากวัยนี้ยังมีรายได้และค่าใช้จ่ายไม่สูงนัก และที่สำคัญยังมีระยะเวลาในการเก็บออมเงินและลงทุนเป็นระยะเวลานาน จึงสามารถที่จะลงทุนในทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงสูงได้ ดังนั้นจึงอาจนำเงินที่ออมไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ เช่น ลงทุนในหุ้นหรือกองทุนรวมหุ้นระยะยาว อาจจะประมาณ 70 % ซึ่งจะทำให้ได้ผลตอบแทนค่อนข้างสูง ส่วนที่เหลือนำไปลงทุนในกองทุนรวมผสมซึ่งจะนำเงินที่ระดมได้ไปลงทั้งตราสารหนี้และตราสารทุนซึ่งมีผลตอบแทนปานกลางและมีความเสี่ยงไม่สูงมากนัก ประมาณ 20 %, ส่วนอีก 10% ก็นำไปลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น  เงินฝาก, พันธบัตรรัฐบาล, กองทุนรวมตราสารหนี้ หรือออมเงินผ่านการทำประกันชีวิต

 

2. วัยครอบครัว (30-45 ปี)  วัยนี้โดยทั่วไปจะมีรายได้และรายจ่ายอยู่ในระดับสูง ซึ่งการยอมรับความเสี่ยงในการลงทุนของช่วงอายุนี้ก็จะลดลง เพราะจำเป็นต้องใช้เงินในการสร้างครอบครัว ดังนั้นการวางแผนการลงทุนในช่วงอายุนี้อาจลงทุนในหุ้นและกองทุนรวมหุ้นระยะยาว ซึ่งมีความเสี่ยงสูงในจำนวนที่ลดลง เช่น เหลือประมาณ 50% แล้วนำไปลงทุนในกองทุนรวมผสมซึ่งมีความเสี่ยงในระดับปานกลางประมาณ 30 % นอกจากนั้นส่วนที่เหลืออีกประมาณ 20% ก็นำไปลงทุนในเงินฝากเพื่อสร้างสภาพคล่อง และทำประกันชีวิตที่เน้นการป้องกันความเสี่ยงและเพื่อใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษีมากขึ้น

 

3. วัยก่อนเกษียณอายุ (45-55 ปี)  สำหรับการวางแผนการลงทุนในช่วงอายุนี้ เนื่องจากกำลังเตรียมเข้าสู่วัยเกษียณ ซึ่งไม่ควรที่จะนำเงินออมที่มีไปใช้ในการลงทุน ที่มีความเสี่ยงสูง เพราะในช่วงวัยนี้จะไม่มีระยะเวลาในการเก็บออมใหม่ ดังนั้นการลงทุนหลักจึงต้องเน้นไปที่การลงทุนที่มีความเสี่ยงปานกลางถึงค่อนข้างต่ำเพื่อลดความเสี่ยงลง ทั้งเงินฝาก พันธบัตรรัฐบาล กองทุนรวมตราสารหนี้ หรือประกันชีวิต รวมประมาณ 70% ของการลงทุน ส่วนการลงทุนในหุ้นหรือกองทุนรวมหุ้นระยะยาวอาจต้องลดลงเหลือเพียงประมาณ 30% เพื่อลดความเสี่ยง

 

จะเห็นได้ว่าการวางแผนเกษียณเป็นเรื่องที่สำคัญ และในแต่ละช่วงอายุก็จะมีการลงทุนที่แตกต่างกัน การกระจายความเสี่ยงในการบริหารจัดการเงินตามช่วงอายุให้เหมาะสม จะทำให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ได้ การลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงย่อมมีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูง  แต่ในขณะเดียวกันท่านผู้อ่านก็ต้องอย่าลืมว่าการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงก็ย่อมจะมีโอกาสที่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังสูงเช่นเดียวกัน ดังนั้นท่านผู้อ่านจึงควรคำนึงถึงความเสี่ยงที่ยอมรับได้และมีการศึกษาข้อมูลการลงทุนให้ดีเสียก่อนที่จะลงทุนด้วย เพื่อที่ทุกคนจะได้เกษียณอย่างเกษม สำหรับวันนี้สวัสดีครับ.