หากวางแผนชีวิตจะคิดเกษียณ…วันนี้คุณพร้อมแล้วหรือยัง

คอลัมน์ Money DIY 4.0 ทาง นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 19 – วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560

 

 

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกับผมพร้อมบทความในการวางแผนทางการเงินเพื่อสร้างความมั่งคั่ง และมั่นคงทางการเงินให้กับตัวท่านเองครับ โดยในวันนี้ผมอยากให้ท่านผู้อ่านที่กำลังคิดว่าอยากจะเกษียณอายุเร็วๆ หรือมีความคิดว่าได้มีการวางแผนเกษียณไว้ดีแล้ว ลองกลับมาทบทวนว่าวันนี้ท่านได้มีการวางแผนเตรียมพร้อมกับการเกษียณดีจริงๆ แล้วหรือยัง

  1. ทำไมต้องคิดวางแผนเกษียณ นั่นก็เพราะว่าทุกวันนี้เรามีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ดี คนหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น มองในแง่ดีก็คือทำให้คนเรามีชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้น แต่หากคิดในมุมกลับกันนั่นหมายความว่าเราจะต้องมีช่วงชีวิตหลังจากเกษียณอายุแล้วยาวนานขึ้นเช่นกัน ซึ่งหากเรามีการวางแผนเตรียมความพร้อมที่ดีในเรื่องของเงินทองไว้ใช้ในชีวิตหลังเกษียณเราก็คงมีความสุข แต่ถ้าเราไม่ได้เตรียมเงินไว้ให้เพียงพอชีวิตหลังเกษียณก็จะไม่ใช่เกษียณอย่างมีสุข แต่จะกลายเป็นความทุกข์ถนัดนั่นเอง
  2. ทําไมการใช้ชีวิตช่วงเกษียณอายุไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง มีปัจจัยหลายๆ อย่างที่ทำให้การใช้ชีวิตช่วงเกษียณอายุของคนเราไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือเราไม่ได้มีการวางแผนที่ดี หรือเริ่มวางแผนช้าเกินไป เพราะยิ่งช้าเท่าไหร่ระยะเวลาในการเก็บเงินก็สั้นลงเท่านั้น นอกจากนี้หลายๆ ท่านยังละเลยในเรื่องของเงินเฟ้อ โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการนำเงินที่เก็บออมไปลงทุนให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด หลายๆ ท่านกังวลกับการลงทุนเลยนำเงินไปฝากไว้ในธนาคารเพื่อรับดอกเบี้ยแค่ประมาณ 0.5 -2% แต่ลืมคิดไปว่าอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันมากกว่า 3% นั่นก็หมายความว่านอกจากเงินเก็บออมไว้จะไม่งอกเงย กลับลดมูลค่าลงในอนาคตอีกด้วย
  3. ทําไมไม่เริ่มวางแผนเกษียณเสียตั้งแต่วันนี้ ท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านเริ่มคิดที่จะวางแผนเกษียณอายุแต่ไม่รู้ว่าควรจะเริ่มอย่างไรดี วันนี้ผมจึงมีเทคนิคเบื้องต้นง่ายๆ ให้ท่านลองนำไปปรับใช้เพื่อที่ท่านจะได้เริ่มต้นเสียตั้งแต่วันนี้เพื่อให้เหนื่อยน้อยกว่าที่จะเริ่มในเวลาที่เหลือน้อยลง
    • Target (กำหนดเป้าหมาย) อย่างแรกท่านต้องมีการกำหนดเป้าหมายหรือสิ่งที่ต้องการหลังเกษียณอายุเสียก่อน ว่าท่านจะเกษียณอายุเมื่อใดและอยากจะใช้ชีวิตหลังเกษียณเป็นอย่างไร เพื่อที่จะได้รู้ว่าท่านมีเวลาที่ต้องเก็บออมเงินอีกเท่าใด และจะต้องเตรียมเงินเท่าไหร่เพื่อใช้ชีวิตหลังเกษียณได้ตามรูปแบบที่ท่านต้องการ
    • Calculation (คำนวณความต้องการใช้เงินหลังเกษียณอายุ) โดยหลายๆ ท่านไม่แน่ใจว่าต้องเตรียมเงินเท่าไหร่ ผมจึงมีวิธีคิดง่ายๆ ให้ท่านลองคำนวณดู โดยเริ่มจากท่านต้องดูก่อนว่าทุกวันนี้ท่านมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนประมาณเท่าใด ซึ่งการใช้ชีวิตหลังเกษียณโดยทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 70% ของค่าใช้จ่ายปัจจุบัน แล้วนำมาคูณกับช่วงชีวิตที่ท่านจะต้องใช้หลังเกษียณ เช่น หากทุกวันนี้ท่านมีค่าใช้จ่ายต่อเดือน 40,000 บาท ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณต่อเดือนจะตกประมาณ 28,000 บาท (40,000 บาท*70%) ซึ่งถ้าท่านจะเกษียณอายุที่ 60 ปี และคาดว่าจะมีชีวิตถึง 80 ปี แสดงว่าท่านจะต้องใช้ชีวิตหลังเกษียณประมาณ 20 ปี ดังนั้นเงินที่ท่านต้องเตรียมไว้จะเท่ากับ 28,000*20*12 เท่ากับ 6,720,000 บาท  
    • Method (กำหนดวิธีการ) เมื่อท่านผู้อ่านรู้แล้วว่าต้องเตรียมเงินที่จะใช้ชีวิตหลังเกษียณเท่าใด ก็ต้องมากำหนดวิธีการทำให้บรรลุเป้าหมายต่อว่าต้องเก็บเงินออมเท่าใดจึงจะเพียงพอ และที่สำคัญที่สุดคือจะนำเงินออมไปลงทุนอย่างไรจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเงินออมที่เท่ากันแต่ถ้ามีการลงทุนที่ถูกต้องและถูกที่ก็จะทำให้เงินที่จะได้รับกลับมามากกว่าและเพียงพอกับเป้าหมายที่เรากำหนดไว้อีกด้วย
    • Implementation & Review (ลงมือและทบทวน) การเริ่มต้นลงมือทำตามแผนทางการเงินที่วางไว้เหมือนจะเป็นเรื่องง่ายที่สุดแต่ในความเป็นจริงนั้นยากสุด เพราะฉะนั้นท่านผู้อ่านควรจะต้องเริ่มเสียแต่วันนี้อย่ามัวแต่ปล่อยให้เวลาผ่านไป เพราะยิ่งจะทำให้เราต้องเก็บออมเหนื่อยและหนักขึ้น โดยแผนที่วางไว้ท่านผู้อ่านก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมตามสถานการณ์ ด้วยเทคนิคเบื้องต้นง่ายๆ เพียงเท่านี้ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านก็จะพร้อมที่จะเกษียณอายุได้อย่างอุ่นใจ

แล้วกลับมาพบกับสาระความรู้ดีๆ แบบนี้กับผมอีกครั้งในโอกาสหน้า สำหรับวันนี้สวัสดีครับ