วางแผนการเงินอย่างไร หลังจากเที่ยวสงกรานต์

วางแผนการเงินอย่างไร หลังจากเที่ยวสงกรานต์

คอลัมน์ Money Tips & Tricks นสพ. ทันหุ้น ฉบับวันที่ 24 เมษายน 2561

 

สวัสดีครับคุณผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกับคอลัมน์ Money Tips & Tricks ประจำสัปดาห์นี้กันนะครับ เป็นอย่างไรบ้างครับกับเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านคงใช้โอกาสนี้ในการเดินทางกลับบ้านเกิดเพื่อไปหาครอบครัว  หรือบางท่านก็ถือโอกาสเดินทางไปท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ เพื่อหลีกหนีจากสภาพอากาศที่ค่อนข้างร้อน และก็ถือเป็นการไปท่องเที่ยวพักผ่อน เพื่อชาร์จแบตให้กับตัวเองกันด้วยนะครับ

แน่นอนว่าสำหรับมนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ แล้ว การเดินทางไม่ว่าจะไปสถานที่ใด สิ่งที่ตามมาก็คือค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นมาอย่างแน่นอน ทั้งค่าเดินทาง ค่าของฝากญาติๆ ของฝากเพื่อน ค่าอาหารเครื่องดื่มต่างๆ ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในช่วงนี้หากเราไม่มีการวางแผนการใช้จ่ายให้ดี  หลังกลับมาจากการเดินทางแล้ว อาจจะมีปัญหาทางการเงินขึ้นมาได้นะครับ การบริหารและวางแผนการเงิน ถือเป็นเรื่องที่จำเป็นและสำคัญมาก ไม่เพียงแค่เฉพาะในช่วงเทศกาลเท่านั้น แต่ควรทำเป็นประจำในทุกๆ เดือน เพราะว่าหากเราสามารถที่จะวางแผนการเงิน และใช้จ่ายได้อย่างมีวินัยแล้ว ไม่ว่าจะช่วงเทศกาลใดๆ หรือมีเหตุการณ์อะไรขึ้น เราก็สามารถรับมือได้อย่างสบายๆ ซึ่งวันนี้ผมได้มีทริคง่ายๆ สำหรับการวางแผนการเงินมาแนะนำอย่างง่ายๆ 3 ส่วนดังนี้ครับ

เมื่อเงินเดือนออกให้แบ่งส่วนของค่าใช้จ่ายและเงินออมออกมาให้ชัดเจน โดยแบ่งเป็น

1  ค่าใช้จ่ายประจำแต่ละเดือน  เราควรกันเงินส่วนหนึ่งสำหรับรายจ่ายประจำ หรือหนี้สินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ค่าที่พักต่างๆ  (ค่าเช่าห้อง ผ่อนบ้าน/คอนโด) หรือค่าใช้จ่ายรายวัน ทั้งค่าเดินทางและ ค่ากินในแต่ละวัน ซึ่งหนี้สินต่างๆ ควรชำระให้ตรงตามกำหนดเพื่อเป็นการรักษาวินัยการเงินและจะได้ไม่เป็นปัญหาในภายหลังครับ  

2  เงินออม ควรตั้งเป้าเงินออมส่วนนี้ไว้ให้ชัดเจนว่าในแต่ละเดือนควรจะกันไว้เป็นเงินออมเท่าใด ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นจำนวนที่มากเกินไปนักในแต่ละเดือน แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องออมไว้ทุกเดือน เช่น เดือนละ 2,000 บาท เมื่อครบ 1 ปี เราจะมีเงินเก็บ 24,000 บาท จากนั้นจะนำไปลงทุนต่อ หรือจะนำไว้ใช้ซื้อของที่จำเป็นที่อยากได้ก็ได้ครับ

3  เงินทุนสำรอง เราควรสำรองเงินส่วนนี้ไว้เพราะว่าชีวิตเราอาจมีเรื่องจำเป็นได้ตลอดเวลา อย่างเช่นเจ็บป่วย หรือมีค่าใช้จ่ายกะทันหัน เป็นต้น โดยเงินส่วนนี้ หากในแต่ละเดือนไม่ได้นำไปใช้ เราก็ควรนำไปสมทบกับเงินออม หรือจะเอาไว้ใช้ซื้อของให้รางวัลกับชีวิต หรือสังสรรค์กับเพื่อนฝูงบ้างก็ไม่เป็นไร หรือจะกันไว้เป็นเงินก้อนสำหรับใช้ในการท่องเที่ยวก็ได้ครับ

เป็นอย่างไรบ้างครับกับ 3 คำแนะนำง่ายๆ ที่นับเป็นอีกวิธีที่จะทำให้เราได้มีเงินสำหรับท่องเที่ยว ได้ทั้งเงินออมเก็บไว้ เพียงแค่วางแผนการใช้เงินและการออมไปพร้อมๆ กัน เพียงเท่านี้ก็จะมีความสุขทั้งได้เที่ยวและมีเงินเหลือเก็บกันอย่างแน่นอน หากเราสามารถบริหารจัดการเงินได้แล้ว  ปัญหาเรื่องเงินไม่พอใช้จะไม่เกิดกับเราแน่นอน ทั้งนี้ทั้งนั้นควรระมัดระวัง หากระหว่างการท่องเที่ยวแล้วใช้จ่ายเพลินเกินไป เห็นอะไรก็อยากได้ อยากซื้อ อาจจะเผลอใช้จ่ายจนหมดกระเป๋าเสียก่อนเมื่อกลับมาจากเทศกาลก็ได้นะครับ

คำแนะนำเหล่านี้ถือเป็นแนวทางขั้นต้นเท่านั้นนะครับ ซึ่งทุกท่านสามารถบริหารเงิน และวางแผนการใช้จ่ายเงินในแต่ละเดือนไปปรับใช้กันได้ตามสไตล์ของท่านเองนะครับ  ซึ่งหากท่านใดสามารถบริหารเงิน และวางแผนการเงินในแต่ละเดือนไว้ตั้งแต่ต้น รับรองว่าจะกี่เทศกาล หรือกี่ทริปก็เอาอยู่ครับ สำหรับวันนี้สวัสดีครับ