วางแผนค่าใช้จ่ายรับฤดูฝน

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกันอีกครั้งกับคอลัมน์ Money Tips & Tricks ที่มาพร้อมกับสาระความรู้ดีๆ ในเรื่องการวางแผนทางการเงินที่นำมาฝากท่านผู้อ่านทุกท่านเป็นประจำทุกสัปดาห์ และหากพูดถึงดินฟ้าอากาศของบ้านเราในช่วงนี้ เวลาจะเดินทางไปไหนมาไหนก็ต้องเจอแต่ฝนตกเกือบแทบจะทุกวัน คอลัมน์ในวันนี้จึงได้นำ Tips & Tricks ดีๆ ในเรื่องการวางแผนค่าใช้จ่ายเพื่อรับมือกับฤดูฝนมาฝากท่านผู้อ่านทุกท่าน โดยเราจะมาดูกันว่าค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะมาพร้อมกับฝนนั้นจะมีอะไรกันบ้าง และเราจะมีแนวทางในการรับมือกับค่าใช้จ่ายเหล่านั้นได้อย่างไรค่ะ

 1. “ค่าใช้จ่ายจากอาการเจ็บป่วย”

ช่วงฤดูฝนอย่างนี้สิ่งหนึ่งที่หลายคนไม่ชอบที่สุดคือ เรื่องของฟ้าฝนที่อาจจะไม่เป็นใจให้กับเราเสียเลย ทำให้บางครั้งเราอาจจะต้องโดนฝนบ้าง และสิ่งที่ตามมานั่นก็คือเรื่องของอาการเจ็บป่วย ซึ่งแน่นอนว่าไม่สบายครั้งนึงต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม ซึ่งแนวทางการรับมือในเรื่องนี้ก็คือ 1) พกอุปกรณ์กันฝนติดตัวเป็นประจำไม่ว่าจะเป็นร่มหรือชุดกันฝน 2) หากรู้สึกว่าไม่สบายให้ทานยาและพักทันที 3) ทานผักผลไม้ หรืออาหารเสริม และสุดท้าย 4) ควรออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง

2. “ค่าใช้จ่ายจากอุบัติเหตุ”

สิ่งหนึ่งที่เราพบเห็นได้เป็นประจำบนท้องถนนเวลาฝนตกก็คือเรื่องอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุบนท้องถนน หรืออุบัติเหตุอื่นที่เกิดจากการลื่นล้ม ซึ่งแน่นอนว่าหากเราประสบอุบัติเหตุแต่ละครั้งย่อมนำมาซึ่งความสูญเสียทั้งทางด้านร่างกายและเงินทองในการรักษาตัว โดยมีแนวทางในการรับมือคือ เวลาทำอะไรก็ตามต้องมีสติไว้ก่อนโดยเฉพาะการขับรถ นอกจากนั้นทางที่ดีควรจะมีการซื้อประกันภัยเกี่ยวกับอุบัติเหตุเพื่อป้องกันความเสี่ยงเอาไว้ด้วย เพราะหากเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นมา เงินจากการซื้อประกันภัยจะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเราได้ดีเลยทีเดียว

3. “ค่าใช้จ่ายเรื่องการเดินทาง”

ประโยคยอดฮิตในช่วงฤดูฝนคือ “ฝนตกรถติด” ทำให้บางครั้งการเดินทางในแต่ละวันอาจจะไม่เหมือนเดิม บางครั้งอาจจะต้องเปลี่ยนการเดินทางกระทันหันเพื่อประหยัดเวลา หรืออาจจะเกิดเหตุสุดวิสัย เช่น บนท้องถนนเกิดอุบัติเหตุ หรือรถไฟฟ้าขัดข้อง เป็นต้น ซึ่งแนวทางในการรับมือคือ หากเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ อย่าง BTS หรือ MRT เป็นประจำ ก็ควรซื้อตั๋วแบบรายเดือนไปเลยเพื่อประหยัดเวลาในการเดินทาง ไม่ต้องเสียเวลาในการยืนต่อแถวเพื่อแลกเหรียญและคุ้มกว่าเห็นๆ นั่นเอง

4. “ค่าใช้จ่ายช่วงเปิดภาคเรียน”

ค่าใช้จ่ายแรกที่ต้องเจอในช่วงเปิดเทอมคือค่าเทอม ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ประจำฤดูฝน และจะมีค่าใช้จ่ายต่อเนื่องตามมาอย่างน้อยหนึ่งเดือนต่อจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นค่าเสื้อผ้า ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าหนังสือ และค่าอื่นๆ อีกจิปาถะ ตามระดับการศึกษาและสถาบันที่เราส่งลูกหลานเข้าไปเรียน ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้บางครั้งก็อาจจะไม่มาก แต่บางครั้งก็มากจนเราตกใจ ซึ่งแนวทางการรับมือเรื่องนี้คือ พ่อกับแม่ควรจะเตรียมสะสมเงินไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ (อย่างน้อยก็ต้องสามเดือนขึ้นไป) ถ้าเป็นเรื่องของอุปกรณ์การเรียนเบื้องต้นอย่างเช่น พวกดินสอ ยางลบ ปากกา หรืออื่นๆ ของอย่างนี้แนะนำว่าถ้าเป็นเด็กเล็กๆ ซื้อเป็นโหลจะคุ้มกว่า (เพราะหายบ่อย) หากเป็นเด็กโต (มัธยมขึ้นไป) อาจจะต้องให้เป็นวงเงินแทนเพราะการซื้อให้อาจจะไม่ถูกใจเท่าไรนัก

แนวทางการรับมือค่าใช้จ่ายช่วงหน้าฝนที่เราต้องเตรียมตัว

การควบคุมค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่เดียวในการบริหารเงินแต่ละเดือน เพราะหากเราไม่ได้วางแนวทางการรับมือ ค่าใช้จ่ายที่อาจจะเกิดขึ้นไว้ล่วงหน้าล่ะก็ อาจจะทำให้เงินในกระเป๋าของเราหมดโดยไม่รู้ตัวก็ได้

แนวทางการรับมือ ค่าใช้จ่ายเรื่องยานพาหนะ  ค่าใช้จ่ายเรื่องต่อไปที่ใกล้ตัวมากนั่นก็คือ ค่าใช้จ่ายเรื่องของยานพาหนะ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ รถกระบะ หรือแม้แต่รถมอเตอร์ไซค์ เข้าหน้าฝนอย่างนี้ ถ้าไม่อยากเสียเงินกับเรื่องรถมากจนเกินไป เราขอแนะนำว่า ควรหมั่นเช็ครถเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของยางรถยนต์ ถ้าดอกยางสึกแล้วก็เปลี่ยนเพราะถนนลื่น หรือหากใครต้องขับรถลุยน้ำ อันนี้ก็ต้องเช็คด้วยว่ามีน้ำเข้าไปในเครื่องตรงไหนหรือไม่ เพราะหากไม่เช็ครถเป็นประจำ เกิดรถเสียขึ้นมาทีนี่บอกได้เลยว่า เสียเงินก้อนใหญ่แน่นอน หรือใครที่ดูรถไม่ค่อยถนัด ก็เอาเข้าศูนย์ตามระยะเวลาก็ได้สบายใจดี

แนวทางการรับมือ ค่าภาษีสังคม ครอบครัว  ค่าใช้จ่ายสุดท้าย จะว่าไปเรื่องนี้ก็ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายซะทีเดียวนะ แต่เราก็ต้องมีการวางแผนเหมือนกัน นั่นก็คือ ค่าใช้จ่ายด้านภาษีสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น งานบวช งานแต่ง งานบุญ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงานบุญมากกว่า เรื่องอย่างนี้ก็พูดยากจะไม่ใส่ก็ดูไม่ดี แต่จะใส่มากจนเราไม่พอใช้ก็จะกลายเป็นไม่ได้บุญไป เราขอแนะแนวทางดังนี้ หากเป็นงานแต่งก็ใส่ตามระดับความสนิท ส่วนถ้าเป็นงานบุญก็เลือกตามระดับความศรัทธา(20,50 100 ก็ว่าไป) เปลี่ยนความคิดใหม่ว่าการทำบุญไม่ได้อยู่ที่จำนวนแต่อยู่ที่ความตั้งใจเป็นหลัก จะช่วยให้การใส่ซองทำบุญของเรา เป็นไปด้วยจิตบริสุทธิ์ ไม่เครียด

และนี่ก็เป็นเคล็ดลับง่ายๆ ในการวางแผนค่าใช้จ่ายรับมือกับฤดูฝน แต่ไม่ว่าจะฤดูไหนๆ ก็ตามเราก็ควรต้องมีการวางแผนควบคุมค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญในการบริหารเงิน เพราะหากเราไม่ได้วางแนวทางการรับมือกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไว้ล่วงหน้า อาจจะทำให้เงินในกระเป๋าของเราหมดโดยไม่รู้ตัว แล้วกลับมาพบกับเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับการวางแผนทางการเงินได้ใหม่ในครั้งหน้า สำหรับวันนี้สวัสดีค่ะ