วางแผนจัดการเงินแบบ “คนมีหนี้”

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกันอีกครั้งกับคอลัมน์  Money Tips & Tricks คอลัมน์ดีๆ ที่จะมาช่วยแนะนำเรื่องราวการวางแผนทางการเงินให้กับท่านผู้อ่านทุกท่านเป็นประจำทุกสัปดาห์นะคะ หากท่านผู้อ่านเป็นคนหนึ่งที่มีภาระหนี้สิน ไม่ว่าจะเป็นภาระหนี้จากการกู้ยืมเพื่อซื้อบ้าน คอนโด รถยนต์ แล้วผ่อนเท่าไหร่ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะหมดสักที หากเป็นอย่างนั้นท่านผู้อ่านก็อย่าเพิ่งได้กังวลใจไปนะคะ ค่อยๆ คิด ค่อยๆ แก้ไขและหาทางออกให้กับตัวเอง โดยคอลัมน์ในวันนี้ก็มีแนวทางการวางแผนจัดการหนี้มานำเสนอ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้นำไปปรับใช้ในชีวิต “คนมีหนี้” กันค่ะ

เริ่มแรกเมื่อเวลาที่ท่านผู้อ่านมีหนี้สินแล้ว ท่านผู้อ่านควรจะต้อง ลด ละ เลิก โดยลดการใช้จ่ายให้น้อยลง ละเว้นการซื้อของที่ไม่จำเป็น และเลิกติดของแบรนด์เนม ซึ่งหากทำได้อย่างน้อยๆ ก็จะทำให้ท่านผู้อ่านพอมีเงินเหลือจากการ ลด ละ เลิก และใช้เงินจำนวนนี้ในการจ่ายหนี้ที่มีอยู่ให้ลดน้อยลงไปค่ะ และนอกจากนี้ท่านผู้อ่านควรมองหาช่องทางการหารายได้เพิ่มให้กับตัวเองนอกเหนือจากงานประจำที่ท่านทำอยู่ แม้รายได้นั้นอาจจะเป็นรายได้ที่เล็กน้อย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ารายได้ดังกล่าวจะไม่ได้ช่วยอะไรท่านผู้อ่านได้เลย การที่ท่านเก็บเล็กผสมน้อยเงินที่ดูว่าน้อยนิดก็มีส่วนช่วยให้ท่านสามารถหมดหนี้ลงได้ไว้กว่าเดิม ยกตัวอย่างเช่น หากท่านผู้อ่านผ่อนซื้อรถคันหนึ่งมาในราคา 240,000 บาท โดยต้องผ่อนชำระเดือนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 4 ปี การที่ท่านผู้อ่านจ่ายเงินค่างวดรถตามที่กำหนดก็ทำให้ท่านผู้อ่านมีหนี้อยู่ถึง 4 ปี แต่หากว่าท่านผู้อ่านนำเงินจากการที่ท่าน ลด ละ เลิก หรือการหารายได้เพิ่มมาจ่ายค่างวดรถให้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม เช่น จ่ายเพิ่มขึ้นอีก 2,000 บาท รวมเป็น 7,000 บาท ท่านผู้อ่านก็จะสามารถจ่ายหมดได้ภายในระยะเวลาเพียง 3 ปีเท่านั้น พอหมดลงเมื่อไหร่ความเป็นไทก็มาเมื่อนั้นนั่นเองค่ะ

ต่อมาหากจะถามว่ามีหนี้แค่ไหนท่านผู้อ่านถึงจะไม่อึดอัด คงตอบได้ว่าน่าจะขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์และรายได้ของแต่ละบุคคล เอาง่ายๆ ว่าหากท่านได้รับเงินเดือน เดือนละ 30,000 บาท และมีหนี้ประจำที่ต้องชำระอยู่ทุกเดือน เดือนละ 20,000 บาท  โดยมีเงินคงเหลือ 10,000 บาท ท่านสามารถใช้จ่ายได้ถึง 30 วัน ก่อนที่เงินเดือนอีกเดือนจะออกหรือเปล่า ซึ่งหากท่านเป็นคนที่มีไลฟ์สไตล์ที่ชอบกินอาหารนอกบ้าน หรือชอบใช้ของแบรนด์เนม หรือเห็นของ Sale ต้องซื้อทุกครั้งไป เงิน 10,000 บาท ที่เหลือคงไม่เพียงพอที่จะทำให้ท่านอยู่รอดไปจนถึงสิ้นเดือน และท่านอาจจะต้องหยิบยืมเงินจากคนอื่นทำให้ก่อเกิดหนี้ก้อนใหม่ขึ้นมาอีก แต่ถ้าท่านเป็นคนใช้จ่ายอย่างประหยัดเงินจำนวน 10,000 บาท อาจเหลือบางส่วนไว้เก็บเป็นเงินออมได้อีกก็เป็นได้ ดังนั้นก่อนที่จะก่อหนี้ก้อนใหม่ขึ้นท่านผู้อ่านอาจจะต้องทบทวนดูว่าท่านเองมีหนี้อยู่แล้วเท่าไหร่ และมีความจำเป็นมากน้อยเพียงไร หากจะต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้นอีกท่านสามารถชำระหนี้ได้หรือไม่ และมีเงินเหลือไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหรือเปล่า ซึ่งหากท่านได้คิดถี่ถ้วนดีแล้ว ท่านก็จะไม่อึดอัดกับการมีหนี้

สุดท้ายเมื่อท่านหมดหนี้แล้วก็ต้องใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ไม่ฟุ้งเฟ้อ สุรุยสุร่าย ระมัดระวังในการดำเนินชีวิตมากขึ้น มีวินัยทางการเงินมากขึ้น มีความพอเพียงและเพียงพอมากขึ้น และหากท่านจะต้องก่อหนี้ขึ้นใหม่ท่านก็ต้องไตร่ตรอง และพิจารณาคิดทบทวนให้ถี่ถ้วน เพื่อที่ท่านจะได้ไม่ต้องตกอยู่ในวังวนแห่งการเป็นหนี้อีกต่อไป

หากเป็นหนี้แล้วท่านผู้อ่านมีความทุกข์ นั่นก็หมายความว่าทุกข์เกิดจากเงินเป็นตัวกำหนดความสุขหรือความทุกข์ ซึ่งมันสามารถบั่นทอนความสุขของท่านได้ เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้วท่านอาจจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง เช่น คิดบวกให้มากขึ้น ปล่อยวางให้มากขึ้น ฝึกเป็นนักบริหารจัดการทางการเงินที่ดี วางเป้าหมายการปลดเปลื้องหนี้ เพื่อว่าสักวันหนึ่งวันใดหนี้จะหมดลง แล้วท่านผู้อ่านก็จะพบเจอความสุขอย่างแท้จริง และกลับมาพบกับสาระความรู้ดีๆ ทางคอลัมน์ Money Tips & Tricks ได้ใหม่ในครั้งหน้า สำหรับวันนี้สวัสดีค่ะ