เดินตามรอยเท้า “พ่อ”

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกันอีกครั้งกับคอลัมน์  Money Tips & Tricks คอลัมน์ที่จะคอยนำเรื่องราวทางการเงินดีๆ มานำเสนอให้กับท่านผู้อ่านทุกท่านเป็นประจำทุกสัปดาห์นะคะ เนื่องจากเป็นเดือนแห่งการถวายความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  หรือพ่อหลวงของพวกเราปวงชนชาวไทย ทางคอลัมน์ Money Tips & Tricks จึงขอน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน พร้อมเดินตามรอยเท้า “พ่อ” ด้วยการน้อมนำคำสอนของพระองค์มาปรับใช้ และเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตด้านต่างๆ ดังนี้

  1. อะไรที่ยังใช้ได้ ให้ใช้ไปก่อน น้อยคนนักที่จะไม่รู้ว่าพระองค์ทรงใช้ดินสอจนสั้นกุดทุกแท่ง แถมตลอดปีท่านทรงเบิกดินสอมาใช้เพียง 12 แท่งเท่านั้น นอกจากนี้หลอดยาสีพระทนต์ที่ถูกรีดจนแบน และรองเท้าที่ทรงให้ช่างซ่อมรองเท้าซ่อมแล้วซ่อมอีก เพราะยังสามารถใช้งานอยู่ได้นั้นสะท้อนให้เห็นว่าพระองค์ท่านทรงเป็นผู้ประหยัด อดออม และมัธยัสถ์อย่างแท้จริง โดยเราสามารถดำเนินรอยตามได้ด้วยการเช็คสภาพสิ่งของ และประเมินว่ายังสามารถซ่อมแล้วใช้งานต่อได้หรือไม่ นอกจากนี้ก็ไม่ควรฟุ่มเฟือยตามเทรนด์จนเกินพอดี รวมไปถึงเสื้อผ้าบางอย่างหากซ่อมแซมได้ก็ให้ลองซ่อมแซมเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ แต่ถ้าไม่ต้องการแล้วจริงๆ ก็ลองขายต่อมือสอง หรือบริจาคเพื่อสังคมก็ถือเป็นไอเดียที่น่าสนใจ
  2. รู้จักการใช้เงินอย่างชาญฉลาด การออมเงินนั้นไม่ใช่เพียงหนทางเดียวที่จะช่วยให้เรามีเงินเพิ่มมากขึ้น แต่ถ้าหากรู้จักวางแผนการใช้เงินดีๆ ก็อาจได้เงินออมเพิ่มมากยิ่งขึ้นนั่นเอง เช่นเดียวกับที่พระองค์ได้ทรงวางแผนการใช้เงินส่วนพระองค์ได้อย่างชาญฉลาด ลงทุนด้วยการเริ่มต้นโครงการสวนจิตรลดาเพื่อทดลองการเกษตร และนำผลผลิตทางการเกษตรต่างๆ มาแปรรูปเพื่อความยั่งยืน จะเห็นได้ว่าหากเรารู้จักวางแผนการใช้เงินให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ใช่แค่เงินออมแต่ยังหมายถึงรายได้ทางการเงินที่มั่นคงและยั่งยืนอีกด้วย ดังนั้นควรคิดก่อนนำเงินออมไปลงทุน หรือจะนำไปใช้จ่ายกับอะไรให้มีประโยชน์และคุ้มค่ามากที่สุด จากนั้นค่อยวางแผนและเริ่มต้นลงมือทำ โดยอาจจะกันเงินออมบางส่วนมาเริ่มต้นได้
  3. พอเพียงแบบไม่สุดโต่ง หลายคนมักจะติดภาพลักษณ์ของการพอเพียงว่าต้องประหยัด ต้องทำนา ต้องทำสวน ทำไร่ แต่การใช้ชีวิตอย่างพอเพียงนั้นแท้ที่จริงแล้วก็คือ การที่ใช้จ่ายเท่าที่มี ไม่ฟุ่มเฟือย หรือใช้จ่ายมากจนเกินกำลังที่เราจะหาเงินมาได้นั่นเอง หาได้เท่าไหร่ให้ใช้แต่เพียงเท่านั้น ไม่ใช่แค่ช่วยให้เก็บออมเงินได้แต่ยังช่วยให้ปราศจากหนี้สินต่างๆ ที่ไม่จำเป็น แน่นอนว่าอย่าลืมแบ่งสัดส่วนรายได้ของเงินเดือนเพื่อเก็บออมไว้ใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน หรือเพื่อยามเกษียณด้วย
  4. เริ่มต้นกับบัญชีครัวเรือน บัญชีครัวเรือนไม่ได้หมายถึงแค่การทำบัญชี หรือบันทึกรายรับ – รายจ่ายประจำวันเท่านั้น แต่อาจหมายถึงการบันทึกข้อมูลด้านอื่นๆ ในชีวิตครอบครัวที่เราสามารถจดบันทึกได้ทุกเรื่อง เช่น บัญชีทรัพย์สิน บัญชีความรู้ความคิดของเรา รวมไปถึงบัญชีภูมิปัญญาด้านต่างๆ เป็นต้น ส่วนการทำบัญชีครัวเรือนในด้านเศรษฐกิจหรือการบันทึกรายรับ – รายจ่ายนั้น เป็นเรื่องการบันทึกรายรับ – รายจ่ายประจำวัน หรือประจำเดือนว่าเรามีรายรับจากอะไรบ้างจำนวนเท่าใด มีรายจ่ายอะไรบ้างจำนวนเท่าใด เพื่อให้เห็นภาพรวมว่ามีรายรับและรายจ่ายเท่าไหร่ รายจ่ายไหนที่จำเป็นบ้าง หากจำเป็นน้อยหรือไม่จำเป็นเลยก็อาจจะลดลงแล้วเลือกจ่ายเฉพาะที่จำเป็นเสียก่อน จะเห็นได้ว่าการทำบัญชีครัวเรือนในเรื่องรายรับ – รายจ่ายก็ดี เรื่องอื่นๆ ก็ดี คือวิถีแห่งการเรียนรู้เพื่อพัฒนาชีวิต ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง
  5. มีเป้าหมายในการออมที่แน่นอน การออมเงินที่ไร้จุดหมายหรือเป้าหมายที่ใช้ในการออมเงิน นอกจากจะช่วยให้เก็บเงินได้ยาก เก็บเงินไม่อยู่ เพราะไม่มีแรงจูงใจในความพยายามแล้ว ยังทำให้ขาดวินัยในการเก็บออมเงินอีกด้วย ปัญหาเรื่องนี้สามารถแก้ไขได้ โดยลองตั้งเป้าหมายหรือแรงจูงใจต่างๆ ในการออมดู อาจจะเป็นการเก็บออมเงินเพื่อซื้ออะไรสักอย่างก็ได้ เฉกเช่นเดียวกับสมเด็จย่าที่ทรงสอนให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เก็บออม ทำงานเก็บเงิน เพื่อซื้อของเล่น และหนังสือต่างๆ ด้วยพระองค์เอง โดยหลักการนี้ไม่ใช่เฉพาะเราที่นำไปใช้ได้ แต่เรายังสามารถนำความคิดนี้ไปปลูกฝังหรือสอนลูกหลานต่อไปได้อีกด้วย

และนี่ก็เป็นแบบอย่าง 5 ข้อที่พวกเราปวงชนชาวไทยสามารถน้อมนำไปยึดถือปฏิบัติเพื่อเดินตามร้อยเท้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 แล้วกลับมาพบกับสาระความรู้ดีๆ ทาง Money Tips & Tricks ได้ใหม่ในครั้งหน้า สำหรับวันนี้สวัสดีค่ะ