เด็กพิเศษก็รักษาได้ เพียงแค่มีเงินออม

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกับ Money Tips & Tricks คอลัมน์ที่จะหยิบยกเรื่องราวทางการเงินดีๆ และเป็นประโยชน์มานำเสนอให้กับท่านผู้อ่านทุกท่านเป็นประจำทุกสัปดาห์นะคะ โดยในสัปดาห์นี้เราจะมาคุยกันเกี่ยวกับเรื่องของเด็กๆ กับปัญหาที่ไม่ใช่ระดับเด็กๆ ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจเคยพบหรือเคยได้ยินเกี่ยวกับอาการของ “เด็กพิเศษ” ซึ่งเป็นอาการของเด็กที่มีพัฒนาการทางสมองและพฤติกรรมที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่มีบุตรหลานอาจไม่คิดว่าอาการ “พิเศษ” แบบนี้จะเกิดขึ้นกับบุตรหลานของท่าน หรือบางท่านที่กำลังจะสร้างครอบครัวอาจมีความคิดว่าอาการเหล่านี้มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก ทำให้อาจเพิกเฉยหรือไม่ได้วางแผนว่าหากบุตรหลานมีอาการของเด็กพิเศษแล้ว จะรักษาหรือแก้ปัญหาดังกล่าวนั้นอย่างไร

ในปัจจุบันเด็กที่มีอายุ 3 – 10 ขวบ มีปัญหาทางพัฒนาการทั้งทางสมอง ทางอารมณ์ และทางร่างกายอยู่ไม่มากก็น้อย เพียงแต่เด็กจะแสดงอาการออกมาในรูปแบบใด ซึ่งเราเองก็อาจไม่ทราบหรือไม่ทันได้สังเกต หรือสังเกตเห็นแล้วแต่ไม่ทราบว่านั่นเป็นสิ่งผิดปกติ ซึ่งอาการของเด็กพิเศษเหล่านี้มีอยู่หลายรูปแบบด้วยกัน เช่น ออทิสติส ออทิสติสเทียม ดาวซิมโดรม สมาธิสั้น เป็นต้น หากว่าเด็กพิเศษเหล่านี้มีอาการข้างต้นและไม่ได้รับการบำบัดที่ถูกต้องก็จะเกิดสภาวะที่เรียกว่า “เวียร์” ซึ่งเป็นพฤติกรรมของเด็กที่แสดงออกมาในรูปแบบการดื้อดึง ไม่เชื่อฟัง อาละวาด โวยวายที่ค่อนข้างรุนแรง และพ่อแม่ไม่สามารถควบคุมได้เลย

ซึ่งการรักษาเด็กพิเศษนั้นจำเป็นที่จะต้องทำโดยนักกิจกรรมบำบัดร่วมกับกุมารแพทย์ที่จะให้คำวินิจฉัยประกอบการรักษา โดยคิดค่ารักษาเริ่มต้นสูงถึงชั่วโมงละ 800 – 1,500 บาท ตามอาการของเด็ก ซึ่งการรักษาอาจใช้เวลา  20 ชั่วโมง หรือ  30 ชั่วโมง หรืออาจยาวนานเป็น 100 ชั่วโมงก็ได้ ทั้งนี้การบำบัดอาการดังกล่าวจะช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบทางสังคมของเด็ก ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญด้วย โดยหากพ่อแม่ไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลี้ยงดูตามที่นักกิจกรรมบำบัดได้ให้คำแนะนำแล้วการรักษาก็อาจจะสูญเปล่า ดังนั้นท่านผู้อ่านจะเห็นว่าค่าบำบัดและค่ารักษาเด็กพิเศษนั้นมีจำนวนที่สูงมากเลยทีเดียว เช่น หากมีความจำเป็นต้องบำบัดเป็นเวลา 100 ชั่วโมง ซึ่งมีค่าบำบัดตกชั่วโมงละ 1,200 บาท ก็เป็นเงินถึง 120,000 บาท โดยราคานี้ยังไม่รวมค่าเดินทาง ค่าอุปกรณ์ ค่าของเล่นเสริมสร้างพัฒนาการเด็กและค่าใช้จ่ายจิปาถะอีกมากมาย ซึ่งหากไม่มีการวางแผนทางการเงินที่ดีก็อาจทำให้เกิดปัญหาได้

ดังนั้นท่านผู้อ่านนอกจากจะต้องคอยสังเกตอาการบุตรหลานของท่านแล้ว ท่านยังจะต้องเตรียมตัววางแผนการเงินให้ดี โดยจะต้องมีการจัดสรรเงินและออมเงินไว้สำหรับสิ่งที่ไม่คาดคิดดังเช่นกรณีนี้ด้วย เพราะหากท่านผู้อ่านไม่มีเงินสำรองมากพอการรักษาเด็กก็จะไม่ต่อเนื่อง ซึ่งทำให้เด็กไม่สามารถหายขาดจากอาการและอาจทำให้การรักษาก่อนหน้านั้นเสียเปล่า ซึ่งแน่นอนย่อมก่อให้เกิดปัญหาเมื่อเด็กคนนั้นเติบโตขึ้น ซึ่งอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าการบำบัดนี้ก็ได้ค่ะ ยิ่งในสังคมที่ลูกเราต้องอาศัยอยู่นั้นเราไม่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมได้ เราจึงต้องยิ่งเตรียมรับมือกับสถานการณ์ให้พร้อมอยู่เสมอ

การวางแผนการเงินที่ดีนั้นสามารถเริ่มต้นทำได้ตั้งแต่วันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการทำบัญชีเงินฝากประจำ หรือการทำประกันชีวิตประเภทออมทรัพย์ โดยคาดคะเนการได้รับเงินคืนเมื่อเรามีครอบครัวหรือมีบุตร รู้จักใช้จ่ายอย่างประหยัด หรือทำบัญชีรายรับ – รายจ่ายเพื่อฝึกนิสัยการออมเงินที่ดี เป็นต้น อย่าลืมนะคะว่ายิ่งวางแผนไว้ดี เราก็ยิ่งพร้อมรับมือกับปัญหามากเท่านั้น แล้วกลับมาพบกับคอลัมน์ Money Tips & Tricks กันได้ใหม่ในครั้งหน้า สำหรับวันนี้สวัสดีค่ะ