ใช้เงินอย่างไร ไม่ให้ถังแตก!

ใช้เงินอย่างไร ไม่ให้ถังแตก!

คอลัมน์ Money Tips & Tricks นสพ. ทันหุ้น ฉบับวันที่ 12 มีนาคม 2561

 

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกับคอลัมน์ Money Tips & Tricks ที่จะมานำเสนอสาระความรู้ และเรื่องราวทางการเงินดีๆ ให้กับท่านผู้อ่านทุกท่านเป็นประจำในทุกๆ สัปดาห์นะคะ สำหรับวันนี้จะมาพูดถึงปัญหาของชีวิตมนุษย์เงินเดือนกันค่ะ เชื่อว่ามนุษย์เงินเดือนหลายๆ ท่านคงเคยประสบกับปัญหานี้ หรือเคยเจอเป็นประจำกันเลยทีเดียว กับ “ปัญหาถังแตก!” หรือเงินไม่พอใช้ ต้องมานั่งทนนับรอวันเงินเดือนออกกัน ซึ่งสำหรับวันนี้ ก็จะมานำเสนอเคล็ดลับดีๆ ในการวางแผนใช้จ่ายในแต่ละเดือน ไม่ให้ชีวิตต้องเจอกับคำว่า “ถังแตก” อีกต่อไปค่ะ

 

  • ใช้หนี้ก่อนเป็นอันดับแรก เมื่อเงินเดือนออกแล้ว สิ่งแรกที่ควรทำ คือการแบ่งเงินชำระหนี้สิน ยิ่งโดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิต หรือหนี้นอกระบบ สำหรับหนี้นอกระบบ แท้จริงแล้วหากไม่จำเป็นจริงๆ ก็ไม่ควรมีหนี้แบบนี้ เนื่องจากว่าดอกเบี้ยสูงมากค่ะ ซึ่งถ้าเทียบกับเงินกู้จากสถาบันการเงินแล้วนั้น เงินกู้แบบนี้จะมีดอกเบี้ยที่โหดมาก ซึ่งไม่คุ้มเลยกับเงินต้นที่เรายืมมา แต่เนื่องจากสถานการณ์ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน อาจจะจำเป็นต้องมีหนี้ทางนี้ เมื่อเกิดหนี้แล้ว อย่างไรก็ตามเราควรใช้เป็นอันดับแรกค่ะ ก่อนที่จะกลายเป็นดินพอกหางหมู และทำให้เงินที่เรายืมมายิ่งทบต้นทบดอกจนเราไม่สามารถที่จะชำระหนี้ได้ นอกจากนี้ หากเราไม่สามารถชำระหนี้ที่ยืมมาจากสถาบันการเงินแล้ว อาจทำให้ในอนาคตหากเราต้องการทำเรื่องขอกู้รถ กู้บ้าน ก็อาจจะทำให้เรากู้ไม่ผ่าน เพราะเคยมีประวัติในการชำระหนี้สินที่ไม่ดี เพราะฉะนั้นเงินส่วนแรกที่เราควรแบ่งมาใช้ คือ การชำระหนี้กันนะคะ
  • ทำแผนรายรับรายจ่าย ข้อนี้เชื่อว่า หลายๆ ท่านคงเคยลองทำดูแล้วไม่ค่อยจะประสบความสำเร็จกันเท่าไรนัก เพราะกว่าจะมานั่งบันทึกกันก็ลืมไปแล้วว่า ใช้จ่ายอะไรไปบ้าง นานวันเข้าก็เลยกลายเป็นขี้เกียจที่จะทำไป และไม่ทำไปในที่สุดค่ะ ซึ่งในปัจจุบันมีตัวช่วยมากมายที่จะทำให้การทำแผนรายรับรายจ่ายไม่ยุ่งยากอีกต่อไป เช่น Mobile Application ที่มาช่วยในการบันทึกรายรับรายจ่ายให้ง่ายขึ้นมากๆ เพียงแค่เปิดแอพพลิเคชั่นขึ้นมา ก็สามารถเลือกหมวดหมู่การใช้งานได้ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งรายรับหรือรายจ่าย โดยสามารถแยกย่อยถึงรายละเอียดการใช้เงินได้อีกด้วย เพื่อให้เราสามารถดูได้ว่า ผลรวมตอนนี้เราใช้เงินไปแล้วเท่าไร ใช้ไปกับอะไรมากที่สุด สามารถเพิ่มหรือลดตรงส่วนไหนบ้างได้หรือไม่ เป็นการทำให้เห็นถึงระบบเงินของตัวเองอย่าง real time และสามารถแก้ปัญหาการมีเงินไม่พอใช้ได้
  • หารายได้เสริม เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ควรทำ เพราะการหารายได้จากหลายๆ ทาง ทำให้เราสามารถป้องกันความเสี่ยงได้ส่วนหนึ่ง หากงานประจำที่เราทำไม่ได้ผลตอบแทนอย่างที่คิด หรือร้ายแรงถึงขั้นเลิกจ้าง อย่างน้อยเราก็ยังมีรายได้จากช่องทางอื่นมาช่วยบรรเทาได้ค่ะ การหางานอย่างอื่นเสริมมีมากมาย เช่น การขายสินค้าออนไลน์ ที่มีต้นทุนไม่สูงมาก ไม่ต้องเสียค่าเช่าที่ หรือจ้างพนักงานมาดูแลประจำ เพราะเราก็สามารถดูแลเองได้ เพียงแค่มีอินเตอร์เน็ตเท่านั้น หรือไม่หากเรามีความสามารถด้านอื่นๆ เพิ่มเติม ก็อาจนำมาประยุกต์ใช้ได้ เช่น สอนพิเศษเด็กๆ ในวิชาที่เราถนัด หรือรับแปลเอกสารหากเรามีความสามารถด้านภาษาเป็นพิเศษ และดีไม่ดีทำไปทำมางานเสริมอาจกลายเป็นงานประจำ หรือเป็นช่องทางหารายได้หลักของเราไปเลยก็ได้ ลองตรวจสอบศักยภาพของตัวเอง แล้วนำมาปรับเป็นจุดแข็ง และหารายได้กันนะคะ
  • เปลี่ยนเงินก้อนเล็ก ให้กลายเป็นเงินก้อนใหญ่ หากเราสามารถทำสามข้อข้างต้นได้ทั้งหมดแล้ว เราต้องมีเงินที่สามารถประหยัดเพิ่มขึ้นได้ ไม่มากก็น้อย และนั่นก็เป็นจุดเริ่มที่ดีในการมีเงินเก็บค่ะ และเงินเพียงเล็กน้อยที่เราเริ่มเก็บได้ หากเรานำเงินนั้นมาเริ่มต้นลงทุน อาจจะเริ่มง่ายๆ จากการฝากประจำ ก็จะทำให้เงินก้อนเล็กๆ นั้น เริ่มเพิ่มพูนขึ้นมา โดยที่เราไม่ต้องเหนื่อย เงินก็สามารถเพิ่มเองได้ แต่หากเราเริ่มหาความรู้ในการลงทุนเพิ่มเติมแล้ว เราอาจจะนำเงินเหล่านี้ไปลงทุนในกองทุน หรือหุ้นเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นก็ได้ค่ะ ซึ่งสิ่งที่สำคัญในการแปลงสภาพเงินก้อนเล็กให้เป็นเงินก้อนใหญ่นั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การมีวินัย หากทำเป็นประจำในทุกๆ เดือนแล้ว เชื่อว่าในปลายปี หากมาลองเช็คกัน จะพบว่ามีเงินก้อนเหลือเก็บเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนค่ะ

 

แม้ว่าแต่ละคนจะมีวิธีใช้เงินของตัวเองไม่เหมือนกันก็ตาม แต่หากเรารู้จักที่จะบริหารวางแผนต่างๆ ในการใช้เงินอย่างดีแล้ว เชื่อว่าทุกท่านจะไม่ต้องเผชิญกับปัญหาถังแตกอีกต่อไป! อีกทั้งยังมีเงินเก็บเพิ่มขึ้นอีกด้วย แล้วกลับมาพบกันใหม่ได้ในครั้งหน้า สำหรับวันนี้สวัสดีค่ะ.