อย่ามัววางแผนแค่การ “คิด” แต่ต้องลองลงมือ “ทำ”

อย่ามัววางแผนแค่การ “คิด” แต่ต้องลองลงมือ “ทำ”

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านทุกท่าน ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ปี 2018 กับคอลัมน์ Money Tips & Tricks ที่เต็มไปด้วยสาระความรู้ดีๆ เกี่ยวกับเคล็ดลับการวางแผนการเงิน ซึ่งในวันนี้ก็นับเป็นคอลัมน์แรกของปีใหม่นี้เลยนะคะ โดยตลอดช่วงปีที่ผ่านมาทางคอลัมน์ของเราก็ได้นำเสนอเรื่องราวทางการเงิน รวมไปถึงเทคนิคและเคล็ดลับในการวางแผนการเงินต่างๆ มากมาย แต่ถึงแม้เนื้อหาที่ผ่านมาจะดีและเป็นประโยชน์สักแค่ไหน ท่านผู้อ่านทุกท่านก็จะไม่สามารถประสบความสำเร็จทางการเงินไปได้ ถ้าหากท่านผู้อ่านทุกท่านยังทำแค่เพียง “คิด” และยังไม่เริ่มลงมือ “ทำ”

ปัญหาคลาสสิคที่สำคัญของการวางแผนการเงินในด้านต่างๆ คงหนีไม่พ้นเรื่องของการไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นวางแผน หรือต้องมีเงินเก็บออมเท่าไหร่ถึงจะเริ่มวางแผนได้ เพราะในแต่ละช่วงอายุก็มีภาระค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน มีวิถีการดำเนินชีวิตที่ต่างกัน จึงทำให้เป้าหมายทางด้านการเงินแตกต่างกันออกไป  โดยคอลัมน์ในครั้งนี้จะมาแนะนำแนวทางในการเตรียมตัวที่จะเริ่มวางแผนการเงินด้วยขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้ค่ะ

ขั้นตอนที่ 1 “จัดทำบัญชีรายรับ รายจ่าย และประเมินฐานะการเงิน” วิธีง่ายๆ คือเริ่มจากการประเมินฐานะทางการเงินของตัวเองก่อน  โดยการจดบัญชีรายรับ รายจ่ายที่มีในแต่ละเดือน เพื่อคำนวณความสามารถในการออมของตัวเราเอง การจดบัญชีอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้เรารู้และแยกแยะค่าใช้จ่ายที่จำเป็นได้ เช่น การผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หรือค่าบัตรเครดิต หรือค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น ท่องเที่ยว ดูหนัง หรือค่าใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ หลังจากทราบแล้วจึงค่อยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงินให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มสัดส่วนเงินออมการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่มากขึ้น     

ขั้นตอนที่ 2 “การลดภาระหนี้” หากประเมินค่าใช้จ่ายที่มีในแต่ละเดือนแล้วพบว่า ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เน้นหนักไปที่การชำระหนี้สิน เช่น ค่าที่อยู่อาศัย ค่ารถ หรือค่าบัตรเครดิต คุณอาจวางแผนลดภาระเหล่านี้ เช่น การรีไฟแนนซ์ โดยการกู้เงินก้อนใหม่ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ เพื่อนำไปชำระหนี้ก้อนเก่าที่มีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า ก็จะช่วยให้ภาระและค่างวดลดลง สิ่งที่ต้องพิจารณาเป็นสำคัญคืออัตราดอกเบี้ยที่แต่ละสถาบันการเงินนำเสนอ รวมถึงรายละเอียดและเงื่อนไขต่างๆ เช่น ค่าธรรมเนียมการโอน ระยะเวลาปลอดหนี้ เป็นต้น เพื่อประโยชน์สูงสุดของตัวเราเอง

ขั้นตอนที่ 3 “สร้างรายได้จากการลงทุน” นอกจากจะต้องลดภาระและค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว การเพิ่มรายได้ก็เป็นเรื่องสำคัญ การบริหารเงินออมจะช่วยให้สร้างรายได้มากขึ้น แทนที่จะฝากเงินไว้ที่ธนาคารเพียงอย่างเดียว ก็เปลี่ยนวิธีมาลงทุนในลักษณะต่างๆ  ตามระดับความเสี่ยงที่รับได้ เช่น ประกันแบบออมทรัพย์ ตราสารทางการเงินต่างๆ หรือกองทุนรวม เป็นต้น

ขั้นตอนที่ 4 “วางแผนภาษีให้มีประสิทธิภาพ” หากเป็นผู้มีเงินได้และต้องเสียภาษี อย่าลืมใช้สิทธิประโยชน์จากค่าลดหย่อนภาษีด้วยสิทธิประโยชน์พื้นฐานเหล่านี้ เป็นสิ่งที่จะช่วยลดรายจ่ายและเพิ่มเงินออมของเราอีกทางหนึ่ง       

เป็นอย่างไรบ้างค่ะกับแนวทางในการการวางแผนการเงินแบบเริ่มต้นด้วยวิธีง่ายๆ ทั้งนี้การเริ่มออมเงินตั้งแต่อายุยังน้อยจะทำให้มีระยะเวลาในการเก็บสะสมมากกว่า อีกทั้งยังมีโอกาสในการลองผิดลองถูก และมีโอกาสปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนได้มากกว่า แล้วกลับมาพบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า สำหรับวันนี้สวัสดีค่ะ