จัดการชีวิต… ก่อนวัยเกษียณ

จัดการชีวิต… ก่อนวัยเกษียณ

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกันอีกครั้งกับบทความดีๆ ทางคอลัมน์กระเบียดเกษียณ โดย บมจ. แอ๊ดวานซ์ ไลฟ์ ประกันชีวิต ที่จะเป็นส่วนหนึ่งให้ท่านได้วางแผนการเงินก่อนและหลังวัยเกษียณ เพื่อให้ท่านมีชีวิตในวัยเกษียณอย่างมีความสุขและไม่เป็นภาระของลูกหลานครับ ก่อนอื่นผมขอกล่าว “สวัสดีปีใหม่ 2561 ท่านผู้อ่านทุกท่านนะครับ และขออวยพรให้ทุกท่านมีความสุขตลอดปีและตลอดไปนะครับ” อย่างไรก็ตามผมก็จะยังมีสาระดีๆ ที่จะนำมาฝากให้ท่านผู้อ่านทุกท่านเป็นประจำเช่นเคยครับ แต่ก่อนอื่นผมขอว่าอย่าเพิ่งเบื่อผมไปก่อนนะครับ และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลางั้นเรามาพบกับสาระดีๆ กันเลยครับ

ใครบอกว่าชีวิตวัยเกษียณนั้นเป็นเรื่องไกลตัว จริงๆ แล้วชีวิตวัยเกษียณนั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นเป้าหมายสุดท้ายและท้ายสุดของชีวิตเลยก็ว่าได้ ซึ่งการวางแผนเพื่อที่จะใช้ชีวิตในวัยเกษียณได้อย่างมีความสุขนั้นจึงเป็นเป้าหมายของชีวิตที่เราทุกคนจำเป็นต้องไปให้ถึง และเมื่อพูดถึงชีวิตวัยเกษียณของตัวเราเองผมจึงอยากให้ท่านผู้อ่านลองนึกภาพชีวิตวัยเกษียณว่าจะเป็นอย่างไร เช่น การเลี้ยงสัตว์ ปลูกต้นไม้ ทำไร่ ทำสวน ทำขนม หรือการออกเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อน เป็นต้น นั่นเท่ากับว่าเราได้วางเป้าหมายการใช้ชีวิตในบั้นปลายสุดท้ายว่าเป็นอย่างไรจะสุขสบายแค่ไหน ก่อนที่เรานั้นจะต้องเริ่มวางแผนเพื่อทำเป้าหมายนั้นให้เป็นจริงนั่นเอง คราวนี้การวางแผนชีวิตวัยเกษียณนั้นจะต้องทำอย่างไรบ้างและควรทำเมื่อไหร่ วันนี้ผมมีข้อมูลการจัดการชีวิตวัยเกษียณมาฝากท่านผู้อ่านทุกท่านครับ

ประการแรก กับคำถามยอดฮิตเลยที่ว่าเราควรวางแผนชีวิตไว้เกษียณเมื่อใด? คำถามนี้คงอยู่ในใจของท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านว่าเราควรจะเตรียมตัวเกษียณตั้งแต่เมื่อไหร่ จริงๆ แล้วนั้นเราควรจะวางเป้าหมายของชีวิตวัยเกษียณอย่างคร่าวๆ ไว้ตั้งแต่ตอนที่เริ่มทำงานใหม่ๆ เพื่อที่เราจะได้มีเป้าหมายในการวางแผนชีวิตให้ก้าวไปเป็นตามเป้าหมายของเรา โดยที่อาจจะมีปรับเปลี่ยนตามกาลเวลาได้บ้าง ซึ่งเป้าหมายการเกษียณของแต่ละคนก็อาจจะไม่เท่ากัน อย่างบางคนอาจจะตั้งเป้าเกษียณอายุไว้ที่ 45 ปี 50 ปี 55 ปี หรือ 60 ปี นี่ก็แล้วแต่ที่ท่านจะวางแผนเอาไว้ แต่สุดท้ายแล้วเราทุกคนก็ต้องเข้าสู่ช่วงชีวิตที่เป็นวัยชราหรือวัยเกษียณ ดังนั้นการวางแผนไว้ก่อนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญประการแรกๆ เพื่อจะได้เตรียมแผนชีวิตให้ดีและไม่มีปัญหาในบั้นปลายของชีวิตนั่นเองครับ

สำหรับขั้นตอนการวางแผนเกษียณนั้นเราจะเริ่มวางแผนตามช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของแต่ละคน ซึ่งผมแนะนำว่าท่านผู้อ่านควรจะวางแผนเกษียณตั้งแต่ที่อายุยังน้อย เพื่อที่จะได้มีเวลาทำตามแผนตามเป้าหมายที่ต้องการมากยิ่งขึ้น โดยขั้นตอนแรกนั้นก็คือการคำนวณค่าใช้จ่ายหลังเกษียณที่ได้มาแล้วมาประเมินว่าในปัจจุบันนั้นเรามีรายรับเท่าไหร่ รายจ่ายเท่าไหร่ จากนั้นจัดการวางแผนการเงินโดยแบ่งส่วนหนึ่งเป็นเงินที่ใช้เก็บเพื่อวัยเกษียณ รวมถึงแบ่งเงินอีกจำนวนหนึ่งไว้ใช้ลงทุน หรือเข้ากองทุนเพื่อการออมต่างๆ เมื่อเราได้เงินเก็บสักก้อนหนึ่งก็สามารถนำเงินนั้นไปลงทุนในด้านอื่นๆ เพื่อหวังผลกำไรเป็นรายได้อีกทาง หากว่าเป้าหมายหลังเกษียณของเรานั้นใช้เงินจำนวนมากและรายได้ในปัจจุบันเมื่อนับปีไปแล้วคาดว่าจะไม่เพียงพอ สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงก็คือการหารายได้เสริมเพื่อมาช่วยเพิ่มเงินออมและเพิ่มสภาพคล่องในการใช้ชีวิตของเราด้วยครับ

ประการที่สอง ซึ่งสำคัญไม่แพ้กับประการแรกกับเรื่องเงินที่เราจะใช้ชีวิตในวัยเกษียณ เราจำเป็นต้องรู้ว่าเราควรจะอยากใช้เงินเท่าไหร่เพื่อวางแผนเกษียณ ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องนี้เราสามารถที่จะคำนวณได้ง่ายๆ เพียงรู้ส่วนประกอบหลักแค่ 2 อย่างนั่นก็คือ ค่าใช้จ่ายต่อเดือนและจำนวนปีที่เราคิดว่าจะมีชีวิตอยู่หลังเกษียณ แค่นี้เราก็พอที่จะสามารถคำนวณเงินที่เราต้องเก็บในช่วงวัยทำงานเพื่อใช้ในตอนเกษียณได้แล้ว ซึ่งค่าใช้จ่ายต่อเดือนนั้นคิดอย่างไร สำหรับค่าใช้จ่ายต่อเดือนนั้นเราต้องประมาณให้ได้ก่อนว่าในแต่ละเดือนนั้นเรามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง และค่าใช้จ่ายหลังจากเกษียณนั้นในยามที่เราไม่มีรายได้หลักแล้วมันจะมีมูลค่าประมาณสักเท่าไหร่ โดยคิดจากอัตราค่าใช้จ่ายหลังเกษียณที่เหมาะสมคือราวๆ 70% ของรายจ่ายรายเดือนปัจจุบัน จากนั้นเราก็มาคำนวณว่าจำนวนปีที่เราคิดว่าเรานั้นจะมีชีวิตอยู่ประมาณเท่าไหร่นับจากวันที่เกษียณ เราจะเกษียณอายุกันตอนประมาณอายุ 50 ปี เราคาดว่าจะมีชีวิตอยู่อีกประมาณเท่าไหร่ ยกตัวอย่างเช่น จะมีชีวิตอยู่ถึงประมาณอายุ 80 ปี ซึ่งนั่นก็กินเวลาเป็น 30 ปีหลังเกษียณนั่นเอง จากนั้นเราก็นำทั้งสองข้อมูลนั้นมาคำนวณก็จะกลายเป็นจำนวนเงินคร่าวๆ ที่เราใช้ตอนเกษียณ แม้ว่าเราจะได้ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนเงินที่เราจะใช้ในช่วงวัยหลังเกษียณมาเรียบร้อยแล้วแต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นที่จะเป็นผลกระทบต่อเงินเกษียณอีกด้วย เช่น อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่ผันผวน เป็นต้น นั่นก็จะทำให้มูลค่าของเงินนั้นเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ตามสภาพเศรษฐกิจ สภาพทางการเมือง และปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย สิ่งที่เราทำได้คือการคำนวนเผื่อมูลค่าของเงินล่วงหน้าเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมนั่นเองครับ

เป็นอย่างไรกันบ้างครับสำหรับข้อมูลเกี่ยวกับการวางแผนเกษียณ ซึ่งต้องบอกเลยนะครับว่าการวางแผนเกษียณนั้นไม่เป็นเรื่องไกลตัวอย่างที่หลายๆ ท่านคิดอีกต่อไป เพราะถ้าเราเริ่มวางแผนตั้งแต่อายุยังน้อยนั่นถือว่าเราได้เปรียบในเรื่องระยะเวลาการเตรียมตัวเข้าสู่วัยเกษียณที่ยาวนานกว่าคนอื่น ซึ่งจะทำให้เรามีเวลาในการตั้งเป้าหมายและทำเป้าหมายนั้นให้เป็นจริงได้อย่างสบายๆ ครับ แล้วกลับมาพบกันใหม่กับบทความดีๆ ที่จะช่วยให้เรื่องเกษียณไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวและไกลตัวของท่านอีกต่อไป สำหรับวันนี้สวัสดีครับ.