ถึงจะเกษียณ แต่ยังจำได้

ถึงจะเกษียณ แต่ยังจำได้

    สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกันอีกครั้งกับบทความดีๆ ที่จะเป็นส่วนหนึ่งให้ท่านได้วางแผนการเงินก่อนและหลังวัยเกษียณเพื่อให้ท่านมีชีวิตในวัยเกษียณอย่างมีความสุข และไม่เป็นภาระของลูกหลานค่ะ ช่วงนี้อากาศประเทศไทยแปรปรวนบ่อยฝนตกตอนเช้าระหว่างเดินทางไปทำงานหรือตกหนักในตอนเย็นทำให้การจราจรจากเดิมที่ติดอยู่แล้วกลายเป็นอัมพาตไปทั้งเส้นทาง ขอแค่ท่านผู้อ่านอย่าใจร้อนในช่วงเวลาที่อากาศเย็นสบายเลยนะคะ ช้าหน่อยแต่ได้กลับถึงบ้านอย่างปลอดภัยจะดีกว่าค่ะ

    ในเวลาที่รถติด ท่านผู้อ่านทำอะไรบ้างในเวลาที่ติดอยู่บนท้องถนนเป็นเวลานานๆ อย่างผู้เขียนเองชอบบวกเลขทะเบียนรถยนต์บนท้องถนน เพื่อเป็นการฝึกสมองให้คิดตลอดเวลา เพราะในวัยที่อายุเริ่มเยอะ สมองของมนุษย์จะเริ่มมีการถดถอยในเรื่องของความจำมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว ที่เรียกกันว่า โรคอัลไซเมอร์ หรือโรคสมองเสื่อม เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้สมองของเราเข้าสู่โหมดประหยัดความทรงจำ เราต้องใช้งานอย่างเป็นประจำ และเพื่อเป็นการป้องกันเราลองมาเช็คกันดูสักหน่อยว่ามีอาการอะไรบ้างที่กำลังเป็นสัญญาณเตือนภัยค่ะ

  1. ขี้หลงขี้ลืมเป็นประจำ ลืมโน่นลืมนี่ ไม่ได้หมายถึงการลืมแบบชั่วคราว ที่พอผ่านไปสักครู่กลับมาจำได้นะคะ ลืมในที่นี้คือลืมจริงๆ เช่น จุดเตาแก๊สไว้ในห้องครัวแล้วลืมสนิท นึกได้อีกที ก็ได้กลิ่นไหม้เสียแล้ว แบบนี้อันตรายมากนะคะ
  2. ชอบถามแต่เรื่องเดิมซ้ำๆ ทั้งที่เพิ่งถามไป ถามไม่ถึง 5 นาที กลับมาถามแบบเดิม อาการแบบนี้ ผู้เขียนเคยเจอกับตัวเองค่ะ เป็นคุณยายข้างบ้าน ขณะที่กำลังจะออกไปข้างนอก คุณยายทักอย่างอารมณ์ดีว่าผู้เขียนจะไปไหน ถามซ้ำแต่ประโยคเดิม พอได้คำตอบคุณยายพยักหน้ารับทราบ  แล้วถามซ้ำเรื่องเดิมอีก หากใครเริ่มมีอาการแบบนี้ ต้องรีบไปพบแพทย์นะคะ หากเริ่มเป็นเบื้องต้น ยังพอรักษาได้ทันค่ะ
  3. มีอาการย้ำคิดย้ำทำในสิ่งที่คุ้นเคย อย่างเช่น เคยทำขนมสูตรที่ทำอยู่แทบทุกวัน ก็หลงลืม จำไม่ได้ เริ่มมีปัญหากับการวางแผนการจัดการปัญหาต่างๆ ทำให้ต้องมีการบันทึกข้อความไว้ จดจำเส้นทางหรือสถานที่ไม่ได้ ทั้งที่เดินทางไปกลับอยู่เป็นประจำ มีความกังวลและรู้สึกสับสนกับสิ่งที่กำลังกระทำอยู่

    หากเริ่มมีอาการตามที่ยกตัวอย่างเบื้องต้นมานั้น ต้องเริ่มดูแลตัวเองได้แล้วนะคะ อย่างแรกเลย คือ การพักผ่อนให้เพียงพอ พักผ่อนทั้งร่างกาย จิตใจ สมอง คิดแต่เรื่องดี สิ่งดี ไม่บั่นทอนจิตใจให้เศร้าหมอง ทำสมาธิ เข้าพบปะสังคม เพื่อให้มีข้อแลกเปลี่ยนความคิดใหม่ๆ

    หรือการออกกำลังกายก็เป็นเรื่องสำคัญ อย่างน้อยวันละ 25-30 นาที เพื่อให้หัวใจสูบฉีดเลือด ไปเลี้ยงสมองได้อย่างเพียงพอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำให้ได้วันละ 8 แก้ว หากกลัวลืม ในโทรศัพท์สมัยนี้ก็มี Application ที่ช่วยเตือนเรื่องการดื่มน้ำต่อวันด้วยนะคะ และที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่งก็คือ งดสิ่งอบายมุขที่ทำร้ายร่างกายและสมอง

    ที่สำคัญที่สุดไม่ต่างไปจากสุขภาพที่ดีก็คือการวางแผนการเงิน การออมเงินที่ดีควรจะเริ่มต้นตั้งแต่ในวัยที่ยังมีแรง โดยการเริ่มเก็บทีละน้อยเป็นประจำทุกเดือนอย่างสม่ำเสมอ ตั้งเป้าหมายหรือจุดประสงค์ว่าทำเพื่ออะไร นำเงินเก็บไปลงทุนที่สามารถให้ผลตอบแทนได้มากกว่าเดิม กระจายการลงทุนไปในรูปแบบต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นด้านการออมเป็นรูปแบบ หุ้น ซื้อสลากออมสิน ซื้อประกันชีวิตแบบออมเงิน การสะสมอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบ บ้าน คอนโด ที่ดิน ปล่อยให้เช่า และหมั่นศึกษาหาความรู้เรื่องการลงทุนเพื่อให้รู้ทันแนวคิดใหม่ๆ เสมอ แต่อย่างไรก็ตามก่อนการลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้เข้าใจด้วยนะคะ

    หากต้องการเป็นวัยเกษียณที่ปลอดหนี้สินที่ยังสามารถเล่าความหลังให้ลูกหลานฟังได้ว่าท่านผู้อ่านมีความทรงจำดีๆ อะไรบ้างในชีวิต ควรวางแผนอนาคต หมั่นเก็บออมเงินอย่าปล่อยให้วันเวลาผ่านไปอย่างเปล่าประโยชน์ ฝึกคิดใช้สมองบ่อยๆ และลงมือทำเพื่อให้ผลลัพธ์เป็นตามที่ต้องการ แล้วกับมาพบกับสาระความรู้ดีๆ กันใหม่ในครั้งหน้า สำหรับวันนี้ สวัสดีค่ะ.