วางแผนสบายตอนแก่

วางแผนสบายตอนแก่

โดยที่ปรึกษาด้านวางแผนการเงิน A – life Plan
บริษัท แอ๊ดวานซ์ ไลฟ์ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
alife.planner@localhost โทร. 02-648-3333

            สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านที่น่ารักทุกท่าน กลับมาพบกันอีกครั้งกับคอลัมน์ประจำที่เต็มไปด้วยสาระความรู้ดีๆ เกี่ยวกับเคล็ดลับการวางแผนการเงินง่ายๆ เพื่อให้ทุกท่านมีชีวิตในวัยเกษียณกันได้อย่างสบายๆ  ซึ่งในวันนี้ ผู้เขียนอยากจะขอเล่าถึงเรื่องแนวคิดในการวางแผนเกษียณกันต่อนะคะ โดยการกำหนดเป้าหมายการเกษียณที่ดี แน่นอนว่าเราควรมีคาดการณ์ถึงสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นจริง และควรคิดเผื่อกันสักนิดด้วยว่าในอนาคตเราอาจมีความคลาดเคลื่อนในเรื่องการเงินได้เสมอๆ เช่น อาจมีความคลาดเคลื่อนในเรื่องรายรับ รายจ่ายที่ไม่เป็นไปตามที่ตั้งใจ หรืออาจเกิดเหตุการณ์ที่ต้องใช้เงินก้อนแบบฉุกละหุก

            นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายท่านที่ยังคิดว่าการวางแผนเกษียณ ไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวมาก หรือ คิดว่าการเกษียณเป็นช่วงเวลาที่จะใช้เงินได้อย่างสบายๆ โดยไม่ต้องทำงานแล้ว ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองอาจเพิ่มความคาดเคลื่อนในแผนเกษียณของเราได้ค่ะ โดยเรื่องที่เรามักคิดกันไปเองส่วนใหญ่ก็มักจะมีดังนี้

  • คิดว่าต้องมีเงินก้อนใหญ่มาก ถึงจะอยู่ได้อย่างสบายหลังเกษียณ :  จริงๆ แล้วไม่จำเป็นเสมอไป เพราะการคำนวณเงินก้อนที่จะใช้หลังเกษียณเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ซึ่งขึ้นอยู่กับฐานะทางการเงินแต่เดิมของครอบครัวและรูปแบบการใช้ชีวิต ซึ่งบางคนอาจใช้น้อยมากๆ ก็ไม่ต้องโหมเก็บเงินให้เท่ากับคนที่เค้ายังมีภาระค่าใช้จ่ายอยู่ ดังนั้น ควรประเมินการใช้เงินในอนาคตไว้ล่วงหน้าว่าหลังเกษียณจะต้องอยู่ไปอีกกี่ปี และแต่ละปีแต่ละเดือนอยากใช้กันเท่าไหร่
  • คิดว่าค่าครองชีพ หลังเกษียณจะน้อยลง:  เรื่องของค่าใช้จ่ายประจำวันโดยเฉลี่ยแล้วจะไม่เปลี่ยนมากนัก แต่รายจ่ายที่อาจเพิ่มขึ้นมาจะเป็นเรื่องค่าเดินทางท่องเที่ยว หรือ ค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น ดังนั้นควรเก็บเงินสำรองเผื่อไว้ในส่วนนี้เพิ่มขึ้นด้วยนะคะ
  • คิดว่าไม่ต้องจ่ายภาษีหลังเกษียณ: อันนี้เป็นเรื่องที่หลายคนน่าจะเข้าใจผิด คิดว่าเงินที่ได้มาหลังเกษียณไม่ต้องเสียภาษี แต่ในความเป็นจริงแล้วผู้มีเงินได้ทุกคนต้องเสียภาษีนะคะ เว้นแต่จะได้รับการยกเว้นตามที่กฎหมายกำหนด  เช่น เงินบำเหน็จบำนาญของข้าราชการ ส่วนภาคเอกชนได้มาก็ต้องเสียแน่นอนค่ะ รวมถึงเงินจากการลงทุนหลังเกษียณ ก็ล้วนแล้วแต่ต้องเสียภาษีทั้งสิ้น
  •  คิดว่าไม่ต้องวางแผน เพราะหลังเกษียณน่าจะทำงานงานไหวอยู่ :ส่วนใหญ่เรามักจะคิดในแง่ดีว่าหลังเกษียณขอทำงานหาเงินต่ออีกสัก 5 – 6 ปี ซึ่งน่าจะทำไหวอยู่และคงมีเงินก้อนเพิ่มมาให้ใช้ได้สบายๆ ซึ่งเป็นแนวคิดไม่ถูกต้อง เพราะหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่นประสบปัญหาด้านสุขภาพ อาจทำให้ไม้ได้รับเงินก้อนนั้นมา ดังนั้น จึงควรคำนวณและวางแผนจากอายุที่ควรจะเกษียณจริง ส่วนเงินที่ได้มาหลังจากนั้น ให้ถือว่าเป็นเงินโบนัสแทน
  •  คิดว่าเงินบำนาญจะเพียงพอหลังเกษียณ : คือ รัฐมีกองทุนบำนาญให้แน่ แต่ในการใช้จ่ายจริงหลังเกษียณ เงินก้อนนี้อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้เราใช้ชีวิตได้ตามปกติ ต้องอยู่แบบประหยัดมาก ถึงจะอยู่ด้วยเงินก้อนนี้ได้นาน ดังนั้น ควรวางแผนหาเงินก้อนอื่นด้วย

            นี่ก็เป็นเพียงแนวคิดเบื้องต้นในเรื่องการเกษียณอายุ ที่ทำให้ผู้วางแผนเกษียณส่วนใหญ่มักเกิดความเข้าใจผิด ดังนั้น เราจึงควรต้องศึกษาข้อมูลให้มากเพื่อทำความเข้าใจและเตรียมวางแผนรับมือให้พร้อมเพื่อลดความคลาดเคลื่อนในการวางแผนเกษียณกันนะคะ