วางแผนเกษียณ แค่คิดชีวิตก็เปลี่ยน

  วางแผนเกษียณ แค่คิดชีวิตก็เปลี่ยน

โดยที่ปรึกษาด้านวางแผนการเงิน A – life Plan
บริษัท แอ๊ดวานซ์ ไลฟ์ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
alife.planner@localhost โทร. 02-648-3333

          สวัสดีคะ สำหรับสัปดาห์นี้ บมจ.แอ๊ดวานซ์ ไลฟ์ ประกันชีวิต  ก็มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับเรื่องของการเกษียณอายุ ที่อยากจะนำมาแชร์ให้ผู้อ่านได้ทราบกัน  โดยสืบเนื่องจากว่า ตัวผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยและสอบถามกับเพื่อนฝูง รวมถึงคนใกล้ชิดประมาณสัก 30กว่าท่าน ในเรื่องของการปลูกฝังแนวคิดและความสำคัญในการวางแผนเกษียณล่วงหน้าจากรุ่นคุนพ่อคุณแม่ มาสู่คนรุ่นลูก ซึ่งก็พบว่าไม่มีครอบครัวไหนเลย ที่พ่อแม่ได้สอนให้รู้จักการตระหนักถึงความสำคัญในการเกษียณแบบจริงๆจังๆ โดยส่วนใหญ่มักจะสอนแค่ให้รู้จักการเก็บออมเงินเพื่ออนาคตมากกว่า
           
          นอกจากนี้ หากพูดถึงคำว่า “เกษียณ” แน่นอนว่าคนสมัยก่อนที่ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับการวางแผนการเงิน ก็มักจะตีความหรืออาจนึกภาพตามว่า ผู้ที่เกษียณอายุ คือ กลุ่มประชากรที่ส่วนใหญ่ทำงานราชการ หรือต้องมีอายุ 60 ปีเท่านั้น ต้องผมหงอกหรือแก่ชรา ต้องหยุดงานทันทีไม่สามารถทำงานได้แล้ว เป็นต้น  และหากพูดถึงคำว่า “วางแผนเกษียณ” ก็มักจะนึกถึงภาพที่ว่า เราจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไรในช่วงหลังเกษียณดี ไปเที่ยวไหนดี ต้องอยู่กับบ้านตลอดมั้ยหรือ อาจนึกถึงความอิสระที่เราจะสามารถกำหนดอายุเกษียณให้เร็วขึ้นได้เอง ไม่ต้องรอให้ถึงอายุ 60 ปี (Early Retirement ) เป็นต้น โดยไม่มีการนึกถึงเรื่องของการวางแผนการเงินไว้ล่วงหน้าเข้ามาเกี่ยวข้องเลย
           
         ซึ่งความคิดดังกล่าวเกี่ยวกับ “การเกษียณ และ การวางแผนเกษียณ” นี้ ก็มีส่วนถูกอยู่บ้างแต่ก็ยังไม่ถึงครบถ้วนดี จึงสะท้อนให้เห็นว่า คนสมัยก่อนอาจจะยังไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับการเตรียมตัววางแผนเกษียณล่วงหน้า ว่ามีความสำคัญต่ออนาคตตนเองอย่างไร ทำให้เกิดปัญหาในการใช้ชีวิตช่วงหลังเกษียณกันมาก หรือต้องอยู่กันแบบประหยัด และไม่สุขสบายเท่าแต่ก่อน ต่างจากคนสมัยปัจจุบันที่เริ่มเห็นความสำคัญของการวางแผนเกษียณล่วงหน้าแล้ว ดังนี้ ผู้เขียนจึงอยากจะขอสรุปปัญหาที่ได้แง่คิดจากคนรุ่นก่อนๆ ว่าเค้ามีวิถีชีวิต ความเป็นอยู่กันอย่างไรบ้าง และมีปัญหาอะไรที่คนวัยกำลังจะเกษียณในรุ่นนี้อาจต้องพบเจอ โดยขอแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มนะคะ

          1. กลุ่มที่หนึ่ง: คือ ครอบครัวมีธุรกิจอยู่แล้ว หรือมีฐานะทางการเงินที่ดีอยู่แล้ว  เมื่อเกษียณก็ยังสามารถอาศัยเงินจากรายได้ของธุรกิจที่ลูกหลานมาสืบทอดกิจการต่อในการเลี้ยงดูตนเอง หรือใช้เงินกงสี จึงยังสามารถใช้จ่ายได้ตามปกติ ทำให้คนรุ่นลูกมีโอกาสที่จะเตรียมตัววางแผนเก็บออมเงินเพื่อการเกษียณได้มาก

          2. กลุ่มที่สอง:คือ พ่อแม่รับราชการ และใช้เงินบำเหน็จ บำนาญหลังเกษียณ กลุ่มนี้ต้องบอกเลยว่า ทุกครอบครัวจะตอบคล้ายกัน คือ คุณพ่อคุณแม่จะใช้เงินกันอย่างประหยัดมากๆ และยังคงมีภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลบ้านเหมือนเดิม เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าซ่อมบ้าน เป็นต้น ส่วนเงินเลี้ยงดูพ่อแม่ก็มีให้บ้างตามสมควร ทำให้ลูกหลานของคนกลุ่มนี้ มีโอกาสเก็บออมและเตรียมตัววางแผนเกษียณได้ง่ายเช่นกัน

          3. กลุ่มที่สาม :ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใหญ่สุด กลุ่มนี้หลังเกษียณแล้ว ก็จะพอมีเงินออมอยู่บ้าง หรืออาจไม่มีเลย แต่ได้ลูกหลานมาช่วยกันส่งเสียเลี้ยงดู ซึ่งฟังดูแล้วก็เหมือนจะสบายๆ ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่ในความเป็นจริงแล้ว ลูกหลานบางครอบครัวก็ไม่สามาถให้เงินไว้ใช้จ่ายได้มาก เพราะยังมีภาระอื่นอีกๆ และบางครอบครัวก็มีการใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือย ทำให้ไม่พอใช้จ่ายในแต่ละเดือน รวมถึงอาจมีการขอเบิกเงินเดือนค่าเลี้ยงดูกันล่วงหน้า เป็นต้น ทำให้คนรุ่นลูกบริหารจัดการเงินเพื่อการเกษียณของตนเองได้อย่างจำกัด

         4. กลุ่มที่สี่ : คือ กลุ่มที่ครอบครัวมีภาระหนี้สินติดตัว พ่อแม่ยังคงต้องทำงานหาเงิน และลูกหลานก็ต้องช่วยผ่อนส่งภาระหนี้สิน รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูพ่อแม่เพิ่มเติม ส่วนใหญ่จากปัญหาภาระหนี้สินของพ่อแม่ ก็มักจะส่งผลกระทบต่อคนรุ่นลูกให้เกิดภาระหนี้สินตามมาด้วย ทำให้คนกลุ่มนี้ ไม่สามารถเก็บเงินเพื่อวางแผนเกษียณได้เลย หรืออาจเก็บได้บ้างแต่ก็น้อยมาก ทำให้มีโอกาสใช้ชีวิหลังเกษียณอย่างลำบาก ไม่สุขสบายเท่าที่ควร
           
         นี่ก็เป็นเพียงตัวอย่างของแนวคิดในการให้ความสำคัญกับเรื่องของการวางแผนเกษียณล่วงหน้านะคะ เพราะอย่าลืมว่าหลังเกษียณไปแล้ว “คุณจะหยุดทำงาน และหยุดรายได้โดยถาวร” แต่ยังคงต้องมีเงินไว้ใช้จ่ายเพื่อตนเองและครอบครัวอยู่ต่อไปอีกหลายสิบปี ถ้าไม่เริ่มเก็บออมกันตั้งแต่วันนี้ ก็อย่าคิดว่าในวันข้างหน้าจะมีเงินมาใช้กันได้อย่างสบายๆนะคะ  “วางแผนเกษียณ แค่คิดชีวิตก็เปลี่ยน”