หลักเตือนใจ ก่อนวัยเกษียณ

คอลัมน์กระเบียดเกษียณ  นสพ. ไทยโพสต์  ฉบับวันที่ 19 ธ.ค. 2559

 สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกันอีกครั้งกับบทความดีๆ ในคอลัมน์กระเบียดเกษียณ โดย บมจ. แอ๊ดวานซ์ ไลฟ์ ประกันชีวิต  ที่จะเป็นส่วนหนึ่งให้ท่านได้วางแผนการเงินก่อนและหลังวัยเกษียณ เพื่อให้ท่านมีชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุขและไม่เป็นภาระของลูกหลานครับ การใช้ชีวิตภายหลังจากการเกษียณอย่างเปี่ยมไปด้วยความสุขทั้งกายและใจ จำเป็นต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบและรัดกุม ไม่ใช่เพียงเพื่อตัวเองอย่างเดียวแต่เพื่อคนรอบข้างด้วยเช่นกัน และเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่หลายคนยังเข้าใจผิดว่าการเตรียมความพร้อมเพื่อวัยเกษียณนั้นเป็นเรื่องของผู้สูงอายุ หากแต่การเตรียมการไว้แต่เนิ่นๆ นั้นจะช่วยทำให้เกิดความมั่นคงและคล่องตัวในชีวิต แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงหากจะเริ่มต้นในวัยที่ใกล้เกษียณ เพราะสถานะการดำรงชีวิตและปัจจัยที่มีผลของแต่ละบุคคลแตกต่างกัน แต่ก็จะเป็นการดีหากเราจะเริ่มวางแผนกันตั้งแต่วันนี้ โดยควรคำนึงถึง 2 สิ่งที่ผมได้นำมาฝากต่อไปนี้ครับ

สิ่งแรกคือ ตั้งสติ เตรียมใจ และมองโลกในแง่ดี คนที่มีอายุใกล้ถึงเกณฑ์เกษียณย่อมรู้สึกหวั่นวิตกอยู่ในหัวใจและตั้งคำถามให้กับตัวเองว่า หลังจากเกษียณเราจะทำอะไร จะอยู่อย่างไร จะอยู่บ้านเฉยๆ เลี้ยงสัตว์ ปลูกต้นไม้ ทำไร่ ทำสวน ทำงานอดิเรกที่ชอบ เดินทางท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อน พบปะสังสรรค์กับเพื่อนเก่า หรือ ดูแลหลานแทนลูกๆ ที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน​ หรือ ต้องหาอาชีพเสริมทำหรือไม่ เงินจะมีพอใช้ต่อไปในอนาคตได้อีกนานแค่ไหน ค่ารักษาพยาบาลที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกปีๆ สิ่งเหล่านี้เราต้องพิจารณาว่าจะมีเงินพอหรือไม่ แล้วยังค่าอยู่ค่ากิน ค่าเล่าเรียนลูกๆ อีก ปัญหาเหล่านี้จึงได้แต่วนเวียนอยู่ในหัวเพื่อหาคำตอบที่เหมาะสม แต่เมื่อมองในทางกลับกันชีวิตหลังเกษียณไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวแต่อย่างใด เพราะเราได้ตั้งใจทำงานมาอย่างเต็มความสามารถตลอดเวลาจนถึงช่วงเกษียณ ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่เราจะได้พัก และเป็นโอกาสทองที่เราจะได้มีเวลาทำในสิ่งต่างๆ ที่ต้องการทำเสมอมา

สิ่งที่สอง วางแผนชีวิต และแผนการเงิน การวางแผนชีวิตควรเริ่มต้นตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อเป็นการวางเป้าหมายในชีวิต ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับตนเอง ผู้อื่นและคนรอบข้าง ซึ่งควรจะวางแผนว่าในแต่ละช่วงเวลาของชีวิตจะมีเป้าหมายใด ต้องทำอย่างไรเพื่อบรรลุถึงเป้าหมายและต้องใช้เงินเท่าไหร่ การวางแผนชีวิตย่อมมีการวางแผนการเงินร่วมอยู่ด้วยกันเสมอ แต่หากเคร่งเครียดในการเงินก็จะทำให้ความสุขในการใช้ชีวิตหลังเกษียณเป็นไปอย่างไม่สุขหัวใจ แต่ถ้าหากเราวางแผนช้าก็ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะสิ้นสุด หากเราคิดว่าจะเริ่มย่อมไม่มีคำว่าสายครับ โดยการวางแผนชีวิตจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ

1. ช่วงที่ลูกกำลังอยู่ในวัยเรียน หรือ มีภาระค่อนข้างมาก แผนการชีวิตจะค่อนข้างเคร่งเครียด โดยต้องประหยัดค่าใช้จ่ายประจำเดือนและมีวินัยทางการเงินอย่างชัดเจน พร้อมทั้งพูดคุยกับคนในครอบครัวให้รับรู้ถึงสถานะทางการเงิน และแบ่งเงินบางส่วนออกจากเงินออมเพื่อใช้เป็นค่าเลี้ยงดูลูก พ่อแม่ จากนั้นต้องเพิ่มหนทางในการสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น

  1. ช่วงที่ลูกเข้าสู่วัยทำงาน มีครอบครัว หรือ ภาระต่างๆ เบาลง จะเป็นช่วงที่การวางแผนชีวิตและการเงินขึ้นอยู่กับตนเองเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากภาระต่างๆ ลดน้อยลง จึงทำให้มีเวลาทำกิจกรรม งานอดิเรกที่ชื่นชอบ ตลอดจนสามารถใช้เงินออมดูแลตนเอง จุนเจือลูกหลาน เลี้ยงดูพ่อแม่ พร้อมกับสามารถลงทุนเพิ่มรายได้แบบความเสี่ยงต่ำอย่างไม่เดือดร้อนอีกด้วย

ทั้ง 2 ช่วง การจัดการชีวิตจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งการวางแผนการเงินไว้เนิ่นๆ จะช่วยทำให้สามารถรับมือกับความไม่แน่นอนได้ดี ดังคำกล่าวของ John Allen Paulos ที่ว่า “Knowing how to live with insecurity is the only security”

ท่านผู้อ่านพร้อมแล้วหรือยังครับที่จะเริ่มวางแผนวัยเกษียณของท่าน อย่างที่ผมได้กล่าวไว้ข้างต้นว่าการวางแผนเกษียณไม่ใช่เรื่องของผู้สูงอายุแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องที่เราต้องเตรียมตัวไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ แล้วกลับมาพบกันใหม่กับคอลัมน์ดีๆ ที่จะช่วยให้เรื่องเกษียณไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวและไกลตัวของท่านอีกต่อไป สำหรับวันนี้สวัสดีครับ