อย่ามัววางแผนแค่การ “คิด” แต่ต้องลองลงมือ “ทำ”

 อย่ามัววางแผนแค่การ "คิด" แต่ต้องลองลงมือ "ทำ"

โดยที่ปรึกษาด้านวางแผนการเงิน A – life Plan
บริษัท แอ๊ดวานซ์ ไลฟ์ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
alife.planner@localhost โทร. 02-648-3333

            สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านที่น่ารักทุกท่าน ขอต้อนรับเข้าสู่คอลัมน์ใหม่ ที่เต็มไปด้วยสาระความรู้ดีๆ เกี่ยวกับเคล็ดลับการวางแผนการเงิน ในคอลัมน์ที่ชื่อว่า "กระเบียด เกษียณ"  ซึ่งในวันนี้ ก็ถือได้ว่าเป็นฉบับปฐมฤกษ์ของผู้เขียนเลยนะคะ ยังงัยก็ขอฝากติดตามผลงานกันด้วย และต้องขอขอบคุณทางกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ "ไทยโพสต์" ที่ได้ให้ความไว้วางใจ มาถ่ายทอดเรื่องราวและเทคนิคการเงินต่างๆ สำหรับผู้ที่อยากวางแผนเกษียณอายุ หรือผู้ที่กำลังวางแผนอยู่แล้ว แต่อาจประสบปัญหาอุปสรรคระหว่างทาง ฯลฯ ซึ่งคอลัมน์นี้ก็จะมาช่วยเติมเต็มสิ่งที่ขาด เปรียบเหมือนเป็นน้ำมันรถยนต์ที่ช่วยให้ทุกท่านสามารถขับเคลื่อนเดินทางไปสู่จุดมุ่งหมายที่วางไว้ได้สำเร็จกันโดยง่ายค่ะ

            หากพูดถึงการ "ลงมือทำ" ตามเป้าหมายให้สำเร็จนั้น ใครๆ ก็บอกว่าเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่าการ "คิดจะทำ" ตามเป้าหมาย เพราะการ "คิด" กับการ "ทำ" ต่างกันตรงที่ว่า "การคิด" เราจะสามารถจินตนาการให้เรามีทุกอย่างแบบเตลิดเปิดเปิงแค่ไหนก็ได้ แต่ "การทำ" คือการนำเอาความคิดนั้นมาลงมือปฎิบัติให้เกิดขึ้นจริง  ซึ่งหลายๆครั้งปัญหาที่พบบ่อยคือ "การคิดกันแบบเกินพอดี หรือเกินตัวไป" พอถึงคราวต้องลงมือทำจริงๆ ก็เลยไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ และถึงแม้จะลงมือปฎิติแล้ว แต่หากไม่มีวินัยในการทำสิ่งนั้นอย่างสม่ำเสมอก็ยากที่จะประสบสำเร็จตามเป้าหมายเช่นกันนะคะ     

            คราวนี้เรามาดูเรื่องของความคิด ในการวางแผนเกษียณกันค่ะ โดยการคิดเป้าหมายการเกษียณที่ดี เราควรมีคาดการณ์ถึงสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นจริง อย่าคิดว่าทุกสิ่งจะได้มาง่ายๆ หรือสวยงามและดีเสมอไป ให้ลองคิดว่าในอนาคตข้างหน้าอะไรก็เกิดขึ้นได้ เช่น อาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ต้องใช้เงินก้อนแบบฉุกละหุก หรืออาจมีความคลาดเคลื่อนในเรื่องรายรับ รายจ่ายได้เสมอๆ และมีแนวคิดอยู่หลายอย่างมากที่ทำให้ผู้วางแผนเกษียณเกิดความเข้าใจผิด หรือ สับสน สิ่งเหล่านี้จะทำให้เป้าหมายเราเกิดความคลาดเคลื่อนได้ง่ายๆ เราจึงควรต้องศึกษาข้อมูลให้มากเพื่อทำความเข้าใจ และเตรียมวางแผนรับมือให้พร้อมค่ะ

            โดยเรื่องที่เราคิดกันแบบคลาดเคลื่อนหรือเข้าใจผิดส่วนใหญ่ ก็จะมีตัวอย่างเช่น เรื่องที่ว่าคนเราต้องมีเงินก้อนใหญ่มากๆ เป็นสิบๆล้าน ถึงจะอยู่ได้อย่างสบายหลังเกษียณ  หรือคิดว่าไม่จำเป็นต้องมีเงินเก็บไว้มากๆหรอก เพราะค่าครองชีพหลังเกษียณคงจะน้อยลง ไหนจะแก่แล้วก็คงไม่ค่อยได้ไปไหน คงไม่ต้องใช้จ่ายอะไรมาก หรือคิดว่าไม่ต้องวางแผนเพื่อการเกษียณมากนักก็ได้ เพราะเรายังแข็งแรงดี จึงน่าจะทำงานงานไหวอยู่ หรือคิดว่าลูกหลานครอบครัว จะเลี้ยงดูได้ตลอดไปเป็นต้น

            ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เป็นเพียงตัวอย่างแนวคิดของการเกษียณเชิงบวก ที่หลายๆ ท่านอยากให้เป็น แต่ในความเป็นจริงแล้ว การใช้ชีวิตหลังเกษียณอาจไม่ง่ายขนาดนี้ก็ได้นะคะ จึงเป็นเหตุผลที่เราต้องมีการวางแผนรับมือเตรียมความพร้อมเรื่องเงินๆทองๆ ไม่ตั้งตนอยู่ในความประมาท และลงมือทำให้พร้อมรับสถานการณ์ต่างๆ อยู่เสมอ  ซึ่งในครั้งหน้า ผู้เขียนจะมาเล่าต่อถึงความคิดเชิงบวกมากๆ ที่ทำให้แผนเกษียณเราคลาดเคลื่อนไปจากเป้าหมายว่ามีอะไรบ้างกันแบบเต็มๆ  แต่สำหรับวันนี้ขอลาไปก่อนนะคะ แล้วพบกันใหม่ในฉบับหน้า สวัสดีค่ะ