ชีวิตของคำว่า “โสด” ในวัยเกษียณ

ชีวิตของคำว่า “โสด” ในวัยเกษียณ

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกันอีกครั้งกับบทความดีๆ ทางคอลัมน์กระเบียดเกษียณ โดย บมจ. แอ๊ดวานซ์ ไลฟ์ ประกันชีวิต ที่จะเป็นส่วนหนึ่งให้ท่านได้วางแผนการเงินก่อนและหลังวัยเกษียณ เพื่อให้ท่านมีชีวิตในวัยเกษียณอย่างมีความสุขและไม่เป็นภาระของลูกหลาน ก่อนที่จะมาพบสาระดีๆ ที่เรานำมาฝากผู้อ่านทุกๆ ท่าน เผลอแป๊บเดียวก็เข้าสู่กลางปี 2561 แล้วและเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ อย่างไรเดินทางไปไหนมาไหนก็ควรระมัดระวังบนท้องถนนแล้วรักษาสุขภาพกันด้วยนะครับ อย่างไรก็ตามวันนี้เราก็ยังมีสาระดีๆ ที่นำมาฝากให้ท่านผู้อ่านของผมทุกท่านเป็นประจำเช่นเคย เพื่อไม่ให้เสียเวลา งั้นเราพบกับสาระดีๆ กันดีกว่า

ในยุคปัจจุบันสังคมมีการเปลี่ยนความคิด และการดำรงชีวิตที่เปลี่ยนไปอย่างมากจากสมัยก่อน ในยุคปัจจุบัน สังคมนั้นแข่งขันกับเวลา และความสามารถในการทำงาน ยิ่งปัจจุบันชีวิตตัวคนเดียวของมนุษย์มีให้เห็นเป็นอย่างมาก เนื่องจากคนเราต้องการที่จะแข่งขันกับตัวเอง และเลือกที่จะอยู่คนเดียว เพราะไม่อยากมีภาระ มีลูกหรือเป็นภาระของใคร ซึ่งหมายความว่า คนสมัยนี้เลือกชีวิต “โสด”  มากกว่าที่จะเลือกแต่งงาน และการที่จะครองโสดนั้น เราก็ต้องหันมาดูแลตัวเองให้มากๆ และที่สำคัญก็ต้องมีความคิดและตั้งเป้าหมายในชีวิตว่า ชีวิตบั้นปลายของตัวเองควรเป็นแบบไหน และอยากให้เป็นแบบใด

หลายๆ คนที่คิดจะเลือกครองชีวิตโสดนั้น มีเป้าหมายในชีวิตที่แตกต่างกันออกไป ทำให้ต่างก็ตระเตรียมวางแผนไว้หลายรูปแบบตามเป้าหมายในชีวิตของตัวเอง เช่น ต้องมีเงินเก็บไว้เลี้ยงตัวเองในบั้นปลายชีวิต ต้องการมีบ้านเป็นตัวเอง มีเงินเก็บไปท่องเที่ยวให้รางวัลชีวิตตัวเอง และมีเงินเก็บไว้รักษาสุขภาพตัวเองในวัยเกษียณ วันนี้ผมมีเคล็ดลับในการออม 5 วิธี สำหรับคนที่จะเลือกครองโสดเพื่อที่จะมีเงินออมไว้ใช้ในบั้นปลายชีวิต

  1. กำหนดเป้าหมายในการเกษียณ เช่น จะเกษียณอายุเท่าไหร่ประเมินค่าใช้จ่ายหลังวัยเกษียณว่าจะต้องใช้ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ต่อเดือน  รวมทั้งประเมินว่าตนเองจะสามารถมีชีวิตยืนยาวไปได้เพียงใด เช่น 85 ปี เพื่อให้รู้ว่าเราต้องเตรียมเงินออมไว้เท่าไหร่เพื่อเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่าย
  2. คำนวณเงินที่ต้องใช้หลังวัยเกษียณ  โดยทำการประเมินจากเป้าหมายของตนเองจะต้องใช้ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ต่อเดือน  รวมทั้งไลฟ์สไตล์ของตนเองที่จะใช้ชีวิตหลังเกษียณ โดยจะต้องคิดอัตราเงินเฟ้อเข้าไปด้วย อาทิ ถ้าคุณมองว่าใช้ค่าใช้จ่ายเดือนละ 10,000 บาท โดยมีจำนวนปีหลังเกษียณ 20 ปี จำเป็นต้องเตรียมเงินประมาณ 3.6 ล้านบาท โดยประมาณ
  3. คำนวณเงินออมที่มีเพื่อวัยเกษียณจากแหล่งต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์การเงินหลากหลายประเภทที่ช่วยในการออมเงิน  ตั้งแต่เงินประกันสังคมที่จะได้เงินบำนาญชราภาพ เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  ซึ่งถ้าเป็นมนุษย์เงินเดือนในบริษัทเอกชนหลายๆ แห่งจะบังคับฝากจากเงินเดือน เข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งจะทำให้เป็นหนึ่งในเงินออมที่สำคัญ เงินประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์และแบบบำนาญ รวมทั้งเงินออมที่ลงทุนในรูปแบบอื่นอาทิ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ก็เป็นหนึ่งในกองทุนที่เหมาะสมสำหรับการออมเพื่อเกษียณอย่างแท้จริง  เพราะจะขายคืนหน่วยลงทุนได้ก็ต่อเมื่ออายุ 55 ปีไปแล้ว  ทำให้ได้เงินเป็นก้อนใหญ่และยังได้ผลตอบแทนอีกด้วย 
  4. คำนวณเงินที่ต้องออมเพิ่มเพื่อวัยเกษียณ โดยการนำเอาตัวเลขจำนวนค่าใช้จ่ายที่ใช้หลังวัยเกษียณมาหักลบกับเงินออมที่มีอยู่  นั่นจะได้ตัวเลขจำนวนเงินที่ต้องออมเพิ่มเพื่อให้ถึงเป้าหมายในการเกษียณ
  5. กำหนดแนวทางการออมและการลงทุน  ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะทำให้การออมประสบความสำเร็จ ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่การจดบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อให้มีการออมอย่างต่อเนื่อง และต้องเลือกการออมในรูปของการลงทุนที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของตนเองและความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ ซึ่งถ้าดีที่สุดคือ การเขียนแผนเป็นลายลักษณ์อักษร และปฏิบัติตามแผนอย่างมีระเบียบวินัยในการออมอย่างเคร่งครัด

จะเห็นได้ว่าการเลือกที่จะคิดในการเก็บออมนั้น เป็นเรื่องที่มี่ความสำคัญเป็นอย่างมาก ยิ่งเรามีเงินออมมากเท่าไหร่เรายิ่งใช้ชีวิตได้มีความสุขและสมบูรณ์แบบที่สุด เพื่อให้บั้นปลายชีวิตของการอยู่คนเดียวจะได้ไม่เป็นภาระคนอื่นๆ แล้วจะได้ใช้ชีวิตของความโสดในวัยเกษียณได้อย่างน่าอิจฉา และชีวิตสุขสันต์ตัวคนเดียว ได้เที่ยว ได้ใช้ชีวิตอิสระของความโสดได้สมบูรณ์แบบตามที่ตนเองต้องการ ขอฝากข้อคิดที่ดีให้ผู้อ่านทุกๆท่าน สำหรับวันนี้สวัสดีครับ.