วางแผนการเงินฉบับครอบครัว เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่วัยเกษียณ

บทความทางคอลัมน์ ”กระเบียดเกษียณ”  นสพ.ไทยโพสต์ ฉบับ วันที่ 11 กันยายน 2560

 

วางแผนการเงินฉบับครอบครัว เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่วัยเกษียณ

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกันอีกครั้งกับบทความดีๆ ทางคอลัมน์กระเบียดเกษียณ โดย บมจ. แอ๊ดวานซ์ ไลฟ์ ประกันชีวิต ที่จะเป็นส่วนหนึ่งให้ท่านได้วางแผนการเงินก่อนและหลังวัยเกษียณ เพื่อให้ท่านมีชีวิตในวัยเกษียณอย่างมีความสุขและไม่เป็นภาระของลูกหลานครับ

การวางแผนการเงินเป็นเรื่องที่ทุกคนล้วนแล้วต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเพราะเรื่องของอนาคตนั้นเราไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเรา เช่น การเจ็บป่วย การถูกปลดออกจากงาน เป็นต้น การวางแผนเรื่องของการเงินจึงเป็นส่วนที่จะช่วยให้เราสามารถผ่านพ้นช่วงเวลาความอยากลำบากไปได้ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นหัวหน้าครอบครัวจะต้องมีการวางแผนด้านการเงินที่รอบคอบมากเป็น 2 เท่า เพราะไม่ได้ใช้ชีวิตเพียงคนเดียวอีกต่อไปแต่ยังมีครอบครัว ลูก รวมถึงค่าใช่จ่ายต่างๆ ภายในบ้านอีกด้วย และหากไม่ระมัดระวังหรือไม่มีการวางแผนการเงินแล้วอาจจะเสี่ยงต่อสภาพคล่องทางการเงินในอนาคตได้ โดยจากที่ได้เกริ่นมาข้างต้นในวันนี้ผมจึงมี 5 เทคนิควางแผนการเงินฉบับครอบครัว เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่วัยเกษียณ มาฝากท่านผู้อ่านทุกท่านครับ

สำหรับเทคนิควางแผนการเงินเทคนิคแรกคือ “เป้าหมาย” ทุกสิ่งที่เราทำนั้นต้องมีเป้าหมาย เพื่อไม่ให้เราหลุดออกไปจากเป้าหมายที่เราตั้งเอาไว้เช่นเดียวกันกับการวางแผนทางการเงินเป้าหมายของเราควรจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการออมเงินก่อนวัยเกษียณ หรือการลงทุนในรูปแบบต่างๆ ที่เพิ่มมูลค่าให้กับเงินออมของเรา ผลที่จะได้รับจากเป้าหมายที่เราทำนั้นก็เพื่อครอบครัวและลูกได้มีความมั่นคงทางการเงินหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นกับเรา แต่ทั้งนี้เป้าหมายของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน แต่วิธีการไปถึงเป้าหมายทางการเงินได้นั้นต้องเริ่มจากการออมอย่างมีเป้าหมายเป็นสิ่งแรก

เทคนิคที่สอง “จัดระเบียบรายรับ – รายจ่าย” ทุกคนรู้ดีว่ารายรับ – รายจ่ายของตนเองนั้นเป็นอย่างไรในแต่ละเดือน แต่เคยหรือไม่ที่เราจะจัดระเบียบให้เป็นรูปธรรมด้วยวิธีการจดบันทึกรายรับและรายจ่ายของตนเองในแต่ละเดือน เหตุผลของการจดบันทึกก็เพื่อตรวจสอบว่าในแต่ละเดือนเราหมดเงินไปกับอะไรบ้าง และสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ฟุ่มเฟือยหรือไม่ก่อเกิดรายได้หรือไม่หากตรวจสอบพบรายจ่ายที่ไม่สมเหตุสมผลเราก็จะสามารถกำจัดรายจ่ายนั้นออกไปได้ เพื่อที่จะมีเงินเหลือเก็บที่มากขึ้นและสามารถนำไปลงทุนได้อีกด้วย

เทคนิคที่สาม “สร้างหนี้แต่พอดี” แน่นอนว่าการสร้างครอบครัวในช่วงเริ่มต้นอาจจะต้องมีติดลบทางการเงินบ้าง เช่น ผ่อนบ้าน ผ่อนคอนโด ผ่อนรถ เหล่านี้ล้วนเป็นหนี้สินที่อยู่บนพื้นฐานความจำเป็น แต่ก็ต้องตรวจสอบตัวเองด้วยว่าพร้อมที่จะเป็นหนี้กับสิ่งที่กล่าวมาหรือไม่เพราะหากรายได้ไม่ได้สอดคล้องกับภาระหนี้ที่ต้องจ่ายหนี้ที่สร้างอาจจะนำมาซึ่งปัญหาในอนาคตได้ การจะก่อหนี้ควรก่อเมื่อสภาพการเงินพร้อม

เทคนิคข้อที่สี่ “ลงทุนแบบมีสติ” เมื่อการสร้างครอบครัวเริ่มต้นเป็นรูปเป็นร่างแล้ว เงินออมที่เก็บไว้เฉยๆ ย่อมไม่เกิดประโยชน์อันใดสิ่งที่จะสร้างความมั่นคงทางการเงินให้มากขึ้นจึงหนีไม่พ้นการลงทุนด้วยเงินออม ไม่ว่าจะเป็นการซื้อกองทุนรวม หุ้น ธนบัตร หรือตราสารหนี้ เป็นต้น แต่การที่เราจะเลือกลงทุนในสิ่งใดเราจะต้องมีความรู้ความเข้าใจอย่าตามกระแส ต้องหมั่นหาข้อมูลในสิ่งที่เราจะลงทุน หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องก่อนลงทุนทุกครั้ง และสิ่งที่สำคัญของผู้ลงทุนก็คือเงินที่นำไปลงทุนจะต้องเป็นเงินเย็น เงินที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการเงินของคุณ หากมีเหตุจำเป็นที่จะต้องใช้เงินด่วน

เทคนิคสุดท้าย ซึ่งหลายๆ ท่านอาจมองข้ามไปนั่นก็คือ “ซื้อประกันชีวิต” นอกจากความมั่นคงทางการเงินดีแล้วสุขภาพและความมั่นคงทางชีวิตก็ต้องควบคู่กันด้วย เราควรเลือกซื้อประกันไว้เพื่อความอุ่นใจหากเกิดอุบัติเหตุหรือความเจ็บป่วย กรมธรรม์ที่เราซื้อก็จะสามารถคุ้มครองช่วยเหลือในเรื่องของค่าใช้จ่ายได้ ทั้งนี้การเลือกซื้อประกันชีวิตก็ควรเลือกที่เหมาะสมกับเราและสภาพการเงินของเรา

เนื่องจากเบี้ยประกันของแต่ละกรมธรรม์จะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ การเลือกจึงควรเลือกที่ตรงกับความต้องการของตนเองและสามารถแบกภาระค่าเบี้ยประกันได้จนครบอายุของกรมธรรม์

จากเทคนิคที่ได้กล่าวมาทั้งหมดน่าจะเป็นแนวทางให้กับท่านผู้อ่านที่คิดจะวางแผนการเงินเพื่อครอบครัว เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่วัยเกษียณอย่างมีความสุข การจะสร้างครอบครัวที่มีความสุขได้อาจไม่จำเป็นที่จะต้องมีเงินเป็น 10 ล้าน
100 ล้าน แต่ครอบครัวจะมีความสุขได้ต้องเกิดขึ้นจากความรักความเข้าใจซึ่งกันและกันและพร้อมที่จะรับมือกับปัญหาไปด้วยกัน สำหรับวันนี้ผมหวังว่าท่านผู้อ่านจะได้รับความรู้เพื่อที่จะนำไปใช้สำหรับวางแผนการใช้ชีวิตและครอบครัวมากพอสมควรเพื่ออิสระภาพทางการเงินและความสมดุลของชีวิตครับ แล้วกลับมาพบกับสาระความรู้ดีๆ ได้ใหม่ในครั้งหน้า สำหรับวันนี้สวัสดีครับ