จัดการชีวิตเพื่อต้อนรับ “วัยเกษียณ”

จัดการชีวิตเพื่อต้อนรับ “วัยเกษียณ”

 

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกันอีกครั้งกับบทความดีๆ ทางคอลัมน์กระเบียดเกษียณ โดย บมจ. แอ๊ดวานซ์ ไลฟ์ ประกันชีวิต ที่จะเป็นส่วนหนึ่งให้ท่านได้วางแผนการเงินก่อนและหลังวัยเกษียณ เพื่อให้ท่านมีชีวิตในวัยเกษียณอย่างมีความสุขและไม่เป็นภาระของลูกหลานครับ ใครบอกว่าชีวิตวัยเกษียณนั้นเป็นเรื่องที่ไกลตัวและไม่สำคัญ จริงๆ แล้วชีวิตวัยเกษียณนั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นเป้าหมายสุดท้ายและท้ายสุดของชีวิตคนทุกคนเลยก็ว่าได้ ซึ่งการวางแผนเพื่อที่จะใช้ชีวิตในวัยเกษียณได้อย่างมีความสุขนั้นจึงเป็นเป้าหมายของชีวิตที่เราทุกคนจำเป็นต้องวางแผนจัดการและไปให้ถึง

เมื่อพูดถึงชีวิตวัยเกษียณผมจึงอยากให้ท่านผู้อ่านลองนึกภาพชีวิตวัยเกษียณของตัวเองดูครับว่าอยากออกแบบให้เป็นอย่างไร เช่น เลี้ยงสัตว์ ปลูกต้นไม้ ทำไร่ ทำสวน ทำขนม หรือออกเดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่าเราได้วางเป้าหมายการใช้ชีวิตในบั้นปลายสุดท้ายว่าเป็นอย่างไรจะสุขสบายและมีความสุขแค่ไหน โดยสำหรับวันนี้ผมก็มีข้อมูลในการจัดการชีวิตวัยเกษียณมาฝากท่านผู้อ่านทุกท่านกันด้วยครับ

ประการแรก กับคำถามยอดฮิตเลยที่ว่า “เราควรวางแผนชีวิตเกษียณไว้เมื่อใด?” คำถามนี้คงอยู่ในใจของท่านผู้อ่านทุกท่านเลยก็ว่าได้นะครับ แล้วท่านผู้อ่านตอบได้หรือไม่ว่าเมื่อไหร่ดีล่ะถึงจะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด และเราควรจะเตรียมตัวเกษียณตั้งแต่เมื่อไหร่ จริงๆ แล้วเราควรจะวางเป้าหมายชีวิตวัยเกษียณอย่างคร่าวๆ ไว้ตั้งแต่ตอนที่เริ่มทำงานใหม่ๆ หรือตั้งแต่ตอนอายุยังน้อยๆ เพื่อที่เราจะได้มีเวลาในการวางแผนชีวิตให้ก้าวไปเป็นตามเป้าหมายที่เราต้องการ โดยที่อาจจะมีปรับเปลี่ยนไปได้บ้างตามกาลเวลาและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

ซึ่งเป้าหมายการเกษียณของแต่ละคนก็อาจจะไม่เท่ากัน บางคนอาจจะตั้งเป้าเกษียณอายุไว้ที่ 45 ปี 50 ปี 55 ปี หรือ 60 ปี นี่ก็แล้วแต่ที่ท่านจะวางแผนเอาไว้ แต่สุดท้ายแล้วเราทุกคนก็ต้องเข้าสู่ช่วงชีวิตที่เป็นวัยชราหรือวัยเกษียณ ดังนั้นการวางแผนไว้ก่อนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญประการแรกๆ เพื่อจะได้เตรียมแผนชีวิตให้ดี และไม่มีปัญหาในบั้นปลายของชีวิตนั่นเองครับ

ประการที่สอง ซึ่งสำคัญไม่แพ้ประการแรกกับเรื่องเงินที่เราจะใช้ชีวิตในวัยเกษียณ โดยเราจำเป็นต้องรู้ว่าเรานั้นจะต้องใช้เงินเท่าไหร่เพื่อวางแผนเกษียณ โดยเราสามารถที่จะคำนวณได้ง่ายๆ เพียงรู้ส่วนประกอบหลักแค่ 2 อย่างนั่นก็คือ ค่าใช้จ่ายต่อเดือนและจำนวนปีที่เราคิดว่าจะมีชีวิตอยู่หลังเกษียณ โดยค่าใช้จ่ายต่อเดือนนั้นเราต้องประมาณให้ได้ว่าในแต่ละเดือนนั้นเรามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง และค่าใช้จ่ายหลังจากเกษียณนั้นในยามที่เราไม่มีรายได้หลักแล้วมันจะมีมูลค่าประมาณสักเท่าไหร่ โดยคิดจากอัตราค่าใช้จ่ายหลังเกษียณที่เหมาะสมคือราวๆ 70% ของรายจ่ายต่อเดือนในปัจจุบัน จากนั้นเราก็มาคำนวณว่าจำนวนปีที่เราคิดว่าเรานั้นจะมีชีวิตอยู่ประมาณเท่าไหร่นับจากวันที่เกษียณ เช่นหากเราตั้งเป้าจะเกษียณตอนประมาณอายุ 50 ปี แล้วคาดว่าจะมีชีวิตอยู่ถึงประมาณอายุ 80 ปี ซึ่งนั่นก็กินเวลาเป็น 30 ปี หลังเกษียณนั่นเอง จากนั้นเราก็นำทั้งสองข้อมูลนั้นมาคำนวณก็จะกลายเป็นจำนวนเงินคร่าวๆ ที่เราต้องใช้ตอนเกษียณ หลังจากนั้นก็จัดการวางแผนการเงินโดยแบ่งส่วนหนึ่งเป็นเงินที่ใช้เก็บเพื่อวัยเกษียณ รวมถึงแบ่งเงินอีกจำนวนหนึ่งไว้ใช้ลงทุน หรือเข้ากองทุนเพื่อการออมต่างๆ

เมื่อเราได้เงินเก็บสักก้อนหนึ่งก็สามารถนำเงินนั้นไปลงทุนในด้านอื่นๆ เพื่อหวังผลกำไรเป็นรายได้อีกทาง หากว่าเป้าหมายหลังเกษียณของเรานั้นใช้เงินจำนวนมาก และรายได้ในปัจจุบันเมื่อนับปีไปแล้วคาดว่าจะไม่เพียงพอ สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงก็คือการหารายได้เสริม เพื่อมาช่วยเพิ่มเงินออมและเพิ่มสภาพคล่องในการใช้ชีวิตของเราด้วยครับ และแม้ว่าเราจะได้ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนเงินที่เราจะใช้ในช่วงวัยหลังเกษียณมาเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นที่จะเป็นผลกระทบต่อเงินเกษียณด้วย เช่น อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่ผันผวน ซึ่งนั่นก็จะทำให้มูลค่าของเงินนั้นเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ตามสภาพเศรษฐกิจ สภาพทางการเมือง และปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย สิ่งที่เราทำได้คือการคำนวนเผื่อมูลค่าของเงินล่วงหน้าเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมนั่นเองครับ

เห็นไหมครับว่าการวางแผนเกษียณนั้นไม่เป็นเรื่องไกลตัวอย่างที่หลายๆ ท่านคิดอีกต่อไป เพราะถ้าเราเริ่มวางแผนตั้งแต่อายุยังน้อย นั่นถือว่าเราได้เปรียบในเรื่องระยะเวลาการเตรียมตัวเข้าสู่วัยเกษียณที่ยาวนานกว่าคนอื่น ซึ่งจะทำให้เรามีเวลาในการตั้งเป้าหมายและทำเป้าหมายนั้นให้เป็นจริงได้อย่างสบายๆ ครับ แล้วกลับมาพบกันใหม่ในครั้งหน้า สำหรับวันนี้สวัสดีครับ.