กลัว…หรือไม่

กลัว…หรือไม่

ตลาดการเงินทั่วโลกต่างเผชิญกับแรงกดดันจากปัจจัยด้านการทำนโยบายเศรษฐกิจของ 2 ประเทศใหญ่อย่างสหรัฐฯและจีน โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ 2 ประการ คือ ประการแรกการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 25 bps ของธนาคารกลางสหรัฐฯ สู่ระดับ 2.00% พร้อมทั้งปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ สูงขึ้นจากระดับคาดการณ์เดิม โดยให้คำจำกัดความว่าเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่ง แทนระดับปานกลางเดิม และ ส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ และ 4 ครั้งในปีหน้า นั่นหมายความว่า ณ สิ้นปี 2561 มีโอกาสสูงมากที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 2.50% ในส่วนประการที่สองนั่นคือ การทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนระลอกสอง ในการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้า ซึ่งความรุนแรงของผลกระทบอาจส่งผลต่อเนื่องไปยังภาคการผลิตต่างๆ ทั่วโลก

จากเหตุการณ์ทั้งสองประการได้ส่งผลต่อความกังวลให้กับนักลงทุนกลุ่มต่างๆ ทั่วโลก โดยผลลัพธ์ได้ถูกสะท้อนออกมาผ่านการปรับตัวลดลงของตลาดการเงินทั่วโลก เฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่ถูกแรงเทขายอย่างหนักหน่วง สังเกตุได้จากดัชนี  MSCI Emerging Markets ที่ปรับตัวลดลงตั้งแต่ต้นปีถึง 5.70% โดยเป็นการปรับตัวลดลง 2.65% หลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในรอบล่าสุด

เช่นเดียวกัน เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาดัชนี SET INDEX ก็ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่าตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ทั่วโลกมากนัก โดยหลังจากขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่ 1,852.51 จุดในช่วงต้นปี ดัชนีย่อตัวอย่างต่อเนื่องถึง 11.81% โดยหลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในรอบล่าสุด SET INDEX ปรับลดลงมาถึง 5.88% หลุดทุกแนวรับทางจิตวิทยาที่แต่ละสถาบันต่างให้เป้าไว้ โดยมีกลุ่มฝรั่งหัวดำ หัวทองร่วมกันรุมเทขาย SET INDEX ตั้งแต่ต้นปีถึง 1.68 แสนล้านบาท เป็นการขายสุทธิหลังการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ถึง 2.6 หมื่นล้านบาท คิดเป็นจำนวนวันที่มีการเทขายถึง 75.44%

ตลอดช่วงสัปดาห์แห่งความหฤโหด กลุ่มคนที่ผมได้แนะนำให้มี Money Management แทบจะไม่รู้สึกกลัวอะไรกับการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้น ในทางตรงกันข้ามกลับรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้เข้าลงทุนในราคาถูก ตามระดับที่มีนัยยะสำคัญที่ได้ให้ไว้ เช่นเดียวกันเมื่อผมมองไปรอบๆ ตัวมีแต่ความกังวล “ความกลัว” ที่อบอวลไปทั่วตลาด บางคนกลัวถึงขนาดที่เรียกได้ว่าเข็ดขยาดการลงทุนไปเลย บางคนก็ปลอบใจกันว่าไม่ขายไม่ขาดทุน  ถือระยะยาวกินปันผล ไม่สนใจเรื่องราคา และอีกสารพัด สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ผิด หากวัตถุประสงค์ตั้งแต่เริ่มต้นของการลงทุนเป็นไปตามนั้น แต่ส่วนมากมักจะเปลี่ยนวัตถุประสงค์เมื่อราคาตลาดเริ่มปรับตัวลง

“ความกลัว” ไม่ใช่สิ่งที่ผิด ทุกคนล้วนต้องพบเจอ แต่บุคคลที่ประสบความสำเร็จมักเลือกที่จะเรียนรู้และอยู่กับความกลัว จนกระทั่งสามารถนำมันมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับตัวเองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเรื่องการสร้างความมั่งคั่ง การลงทุนของตนเอง ที่อารมณ์กลัวเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุน ทั้งของตนเองและของตลาด นักลงทุนจำนวนมากมักถูกอารมณ์ตลาดพาไป กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ขาดทุนเสียแล้ว จะตัดสินใจทำอะไรต่อก็ไม่กล้า กลัวที่จะยิ่งทำแล้วยิ่งผิดพลาด

นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ มักจะกล้าเผชิญหน้ากับความกลัว ซึ่งทำให้บุคคลเหล่านี้มีภูมิคุ้มกันของตนเอง รู้ว่าช่วงไหนควรเสี่ยง ช่วงไหนควรหลบหลีก ช่วงไหนควรทำอย่างไร ขณะที่นักลงทุนส่วนใหญ่ (ซึ่งมักผิดพลาด) พอช่วงตลาดปรับตัวขึ้นระดับสูงก็มักตื่นเต้นพร้อมเข้าไปแสวงหาโอกาสในตลาดอย่างเต็มที่ พอตลาดปรับตัวลดลงก็เครียด กังวล กลัวว่าตลาดจะปรับตัวลดลงอีกมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ยังพยายามหาข่าวมาสนับสนุนสิ่งที่ตนเองกำลังลงทุนอยู่ บ้างก็ขอคำปรึกษาจากบุคคลอื่น โดยลืมพิจารณาความสามารถของผู้ให้คำปรึกษา ซึ่งผู้ให้คำปรึกษาบางคนเก่งเฉพาะในตำรา ในเชิงทฤษฎี ยังไม่เคยลงทุนจริงด้วยตนเองเลยแม้แต่ครั้งเดียว คำปรึกษาที่นักลงทุนได้รับจึงมักเป็นคำปรึกษาที่ยังไม่สามารถนำไปใช้ได้จริง เช่นเดียวกันนั้นหากนำเอาคำปรึกษาดังกล่าวไปใช้ก็อาจเกิดความเสียหายต่อการลงทุน

ย้อนกลับไปที่เหตุการณ์การปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงจากปัจจัยตามที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น ในช่วงแรกที่ตลาดปรับตัวลดลง บางส่วนที่มีการลงทุนอยู่แล้ว และได้กำไรอาจคิดว่าตลาดแค่ปรับตัวลงชั่วคราว หรืออาจสองจิตสองใจ กลัวว่าถ้าขายออกไปแล้ว หากตลาดปรับตัวขึ้นต่อตนเองจะเสียโอกาส ความกลัวนี้คือความกลัวที่เลว นั่นคือ หากสิ่งที่กลัวเกิดขึ้น ก็สร้างประโยชน์ให้ไม่มากนัก แต่หากสิ่งที่กลัวไม่เกิดขึ้น และเป็นไปในทิศทางตรงข้าม ก็จะสร้างความเสียหายต่อการลงทุน ในทางกลับกันนั้น นักลงทุนบางส่วนที่ได้กำไรไปบ้างแล้ว อาจคิดเริ่มทยอยลดสัดส่วนการลงทุนออกไป ได้เท่าไหร่เท่านั้น พอใจในกำไรที่ตนได้รับ แม้จะเพียงเล็กน้อยก็ตาม ความกลัวนี้คือความกลัวที่ดี นั่นคือ หากสิ่งที่กลัวเกิดขึ้น การลงทุนทีมีอยู่ก็จะไม่เสียหาย แต่หากสิ่งที่กลัวไม่เกิดขึ้น ก็จะสูญเสียแค่โอกาสในการได้รับกำไรเพิ่มมากขึ้น ไม่ได้สูญเสียจำนวนเงินจริงๆ

จากตัวอย่างที่ยกมานำเสนอท่านผู้อ่านนั้น เป็นเพียงรูปแบบของสถานการณ์จริงเพียงสถานการณ์เดียวเท่านั้น ในความเป็นจริงยังมีรูปแบบสถานการณ์อื่นๆ ที่หลากหลายกว่านี้อีกมาก แต่โดยหลักแล้ว “ความกลัว” ยังคงเป็นหนึ่งในพื้นฐานสำคัญที่สะท้อนออกมาให้เห็นในตลาดปัจจุบัน ซึ่งผมเชื่อว่ายิ่งเรากล้าเผชิญหน้ากับความกลัว ความกลัวจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราขวนขวายหาความรู้จากแหล่งต่างๆ สามารถควบคุมความโลภจนกระทั่งประสบความสำเร็จในการสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเองได้ดีครับ