ชีวิตคลุกฝุ่น

ชีวิตคลุกฝุ่น

 

“เมืองหลวงควันและฝุ่นมากมาย พี่สูดดมเข้าไปร่างกายก็เป็นภูมิแพ้” เพลงของป้าง นครินทร์ กิ่งศักดิ์ เมื่อหลายปีก่อน กลับมาฮิตกันอีกรอบหลังจากคนเมืองกรุงและรอบๆ กรุง ต่างก็ต้องเผชิญเจ้าฝุ่น PM 2.5 ที่ระดับวิกฤต (ฟากรัฐบาลอาจบอกไม่วิกฤต!!! แต่ผมรวมถึงหลายๆ คน ถือว่าวิกฤตกันแล้วครับ หรือ คุณว่าไม่วิกฤติ!!!)

แม้ว่าหลายๆ ท่านจะรู้แล้วว่าเจ้าฝุ่นนี่มันคืออะไร แต่ผมก็ขออธิบายอีกซักรอบแล้วกันครับ เพราะเชื่อว่ายังมีอีกหลายท่านที่ไม่ทราบว่ามันคืออะไร

ตามข้อมูลของ Greenpeace Thailand ระบุว่า เจ้าฝุ่นนี่ มันก็คือฝุ่นแหละครับ แต่ด้วยความที่มันร้ายกว่าฝุ่นทั่วไป จึงสามารถเรียกได้เท่ๆ ว่า Particulate Matters หรือ PM ซึ่งขนาดของเจ้าฝุ่นนี่มันเล็กมาก เล็กขนาดไหน?…. ก็แค่ครึ่งหนึ่งของขนาดเม็ดเลือดเอง คุณพระ!!! หรือ หากวัดด้วยหน่วยวัดแล้ว เจ้าฝุ่นนี่จะมีขนาด  2.5 ไมครอน นี่แหละครับคือที่มา ทำไมเรียกว่า “PM 2.5”  และด้วยขนาดที่จิ๋วแบบนี้จึงส่งผลให้เจ้าฝุ่นตัวนี้ สามารถหลุดเข้าไปอยู่ในส่วนต่างๆ ของร่างกายเราผ่านเส้นเลือดฝอยได้อย่างง่ายดาย

ขนาดของความเล็กที่ว่าเด็ดแล้ว นักวิชาการของนิด้ายังแสดงหลักฐานที่เด็ดกว่า นั่นคือ ภายใน PM 2.5 ของประเทศไทยเรานี้ มีสารพิษเพียบ ทั้งสารหนู ซีลีเนียม และ แคดเมียม พอรู้ก็ได้แต่เอามือทาบอก พลางอุทาน อกอีแป้นจะแตก!!! นี่มันอย่างกับอยู่ท่ามกลางสงครามชีวภาพยังไง ยังงั้น เพราะสารเหล่านี้นำมาซึ่งโรคต่างๆ มากมาย เช่น โรคชื่อดังจากทางญี่ปุ่นว่า “โรคอิไตอิไต” ซึ่งเกิดจากการที่แคดเมียมเข้าไปสะสมในกระดูกเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดอย่างมาก

ก่อนหน้ามีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่าฝุ่นนี้มาจากแห่งหนตำบลใด บ้างก็โทษเพื่อนบ้าน บ้างก็โทษร้านหมูกระทะ ฯลฯ แล้วสรุปเจ้าฝุ่นนี้ มันมาจากไหนกันล่ะ?

ก่อนอื่นต้องบอกว่าจริงๆ แล้ว เจ้าฝุ่นตัวนี้มันอยู่คู่สังคมไทยมายาวนานแล้วนะครับ มาทักทายกันแทบจะทุกปี แต่เผอิ๊ญเผอิญปีนี้มันมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมไปถึงการที่คนไทยเริ่มหันมาสนใจต่อสุขภาพของตนกันมากขึ้น ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีท่ามกลางวิกฤตนี้นะครับ คราวนี้เรามาดูกันก่อนว่าปัจจัยอะไรบ้างที่มีผลกระทบ

อย่างแรกเลย ขออ้างอิงจากกรมควบคุมมลพิษ ที่ระบุว่า เจ้าฝุ่น PM 2.5 นี้ ส่วนใหญ่มากกว่า 50% มาจากเครื่องยนต์ดีเซลรุ่นเก่าๆ ที่ไม่สามารถเผาไหม้เชื้อเพลิงได้อย่างสมบูรณ์ รองลงมาก็คือ การเผาป่าในที่โล่ง ประมาณ 35% หลักฐานที่เห็นได้ค่อนข้างชัดสำหรับเหตุการณ์นี้คือ การเติบโตอย่างต่อเนื่องของจำนวนรถจดทะเบียนในกรุงเทพฯ

ลำดับต่อมาคงต้องยอมรับว่า เราอยู่ในช่วงการพัฒนาประเทศ มีการขยับขยายโครงสร้างพื้นฐานกันขนานใหญ่ มีการก่อสร้างรถไฟฟ้า ถนน ฯลฯ พร้อมๆ กันหลายจุด ในพื้นที่กรุงเทพฯทั้งชั้นในและชั้นนอก นอกจากนี้เรายังมีการก่อสร้างคอนโด ที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นอย่างมากอีกด้วย

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือปัจจัยที่เราควบคุมได้ครับ แต่จะอยากควบคุมหรือเปล่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ต่อมาคือปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ครับ ก็คือ สภาพอากาศ

ข้อมูลนี้ก่อนอื่นผมต้องขอบคุณเฟสบุ๊ค คุณ Sira Art Sirikachornkij ที่อธิบายไว้ค่อนข้างดีมาก

ซึ่งขอสรุปย่อๆ คือ ตอนนี้เราอยู่ท่ามกลางช่วงที่เรียกว่า ปลายหนาว ทำให้เกิดสถานการณ์อุณหภูมิผกผัน เรียกง่ายๆคือ อากาศร้อนด้านบนมาปะทะกับอากาศเย็นด้านล่างในชั้นบรรยากาศ ทำให้ไม่มีลมด้านล่าง สภาพอากาศจึงกลายเป็นระบบปิด เจ้าฝุ่นนี้ก็เลยลอยค้างเติ่งอยู่ในกรุงเทพฯ และพื้นที่โดยรอบ  อยากจะหนีไปจากโซนนี้ หนีให้ตายยังไง ก็ต้องรอพี่ลมมาพาพัดลอยล่องไป กว่าจะถึงตอนนั้นต้องรอจนกว่า ประเทศไทยจะได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์มากกว่านี้ จนกระทั่งบริเวณพื้นด้านล่างมีความร้อนมากกว่าข้างบน พี่ลมก็จะกลับมาพาน้องฝุ่นไปจากกรุงเทพฯ และพื้นที่โดยรอบ  (เริ่มรู้สึกรักหน้าร้อนปรอทแตกขึ้นมาแล้วหรือยังครับ)

แต่ช่วงเวลาที่พี่ลมจะมา ก็ต้องรอโน่นเลยครับ ช่วงเดือนมีนาคมเป็นต้นไป สังเกตง่ายๆ ว่าช่วงเวลาดังกล่าว เราจะเรียกอีกอย่างว่า “ฤดูเล่นว่าว” ซึ่งมีลมแรงที่เหมาะสมต่อการขึ้นว่าวอย่างมาก พอถึงเวลานั้น สถานการณ์ทุกอย่างก็จะดีขึ้น คราวนี้หลายคนคงมีข้อสงสัยอีกว่า อ้าว แล้วทำไมรุ่นพ่อรุ่นแม่อยู่กันมาได้ ไม่เห็นมีฝุ่นเลย? อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่า เจ้าฝุ่นนี่มันมีมาแต่ไหนแต่ไร แต่มันไม่เยอะพอจนกลายเป็นมลภาวะ แต่คราวนี้ ด้วยสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปมาก คราวนี้เราก็มาเทียบยุคโน้นกับยุคนี้กันว่า มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง….คงพอจะเห็นภาพใช่ไหมครับ จำนวนรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นมหาศาล อาคารสูงที่ผุดยังกับดอกเห็ด การก่อสร้างต่างๆเพื่อพัฒนาประเทศ ฯลฯ

นี่ก็เริ่มต้นเดือนกุมภาพันธ์แล้ว… อีกไม่นานแล้วซิ …. ก็ถูกครับ แต่สุขภาพเราจะรอไปถึงตอนนั้นไหวหรือครับ?

จะหวังลมๆ แล้งๆ พึ่งพารัฐบาล ก็ได้แต่เบะปากมองบน ถามว่าทำไมไม่เชื่อรัฐบาลหรือ? พอลองมองไปตามมาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐฯ พยายามบรรเทาความเดือดร้อน ก็จะเห็นได้เลยว่า เกือบทั้งหมด ไม่ได้ต่างจากผักชีโรยหน้า นี่ยังไม่รวมการพูดจาแบบไม่คิดของผู้นำบางคน ที่สะท้อนถึงความสิ้นหวังจากคนระดับผู้นำประเทศ จะมีก็แต่มาตรการให้หยุดโรงเรียนของนักเรียน ที่พอจะดูดีขึ้นมาหน่อย แต่ก็ไม่ใช่การแก้ไขที่ต้นเหตุจริงๆ  นั่นหมายความว่า ระหว่างที่รอให้ถึงฤดูคิมหันต์ เราต้องพึ่งพาตนเองก่อนครับ

ผมเชื่อว่าหลายๆ ท่านมีความสามารถในการจัดหาอุปกรณ์ และวิธีการต่างๆ ป้องกันตนเองจากวิกฤตฝุ่น PM 2.5 ได้เป็นอย่างดี แม้ว่าจะรำคาญที่ต้องปิดหน้ากากอนามัย รำคาญที่อดออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน ทั้ง วิ่ง ช้อปปิ้ง ฯลฯ แต่อดทนไว้เถอะครับ รักษาสุขภาพตนเองไว้ เพราะยังมีคนข้างหลังที่ไม่อยากเห็นคุณกลายเป็นโรคร้ายในอนาคตอยู่

พอเขียนมาถึงบรรทัดนี้ ก่อนจบคอลัมน์ ผมก็นึกเรื่องตลกร้ายขึ้นมาอย่างหนึ่ง นั่นคือ เรากำลังสร้างภาระให้คนรุ่นหลังอย่างรุนแรง โดยไม่รู้ตัว (หรือรู้ตัวแต่ไม่สนใจ) งบประมาณด้านรักษาพยาบาลในอนาคตจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างมหาศาล คนจะป่วยเป็นโรคที่ร้ายแรงกันมากขึ้น เด็กๆ ที่เป็นกำลังของชาติ กำลังเผชิญกับภาวะชะงักงันทางร่างกาย และสติปัญญา ปัญหาเหล่านี้ ยิ่งมีแนวโน้มทวีความรุนแรงและรวดเร็วยิ่งขึ้น สำหรับกลุ่มคนชนชั้นแรงงาน ที่หน้ากากอนามัยอันหนึ่งอาจมีสัดส่วนราคามากกว่า 10% ของรายได้ประจำวัน ก็คงต้องจำใจ ยอมรับสภาพไปอย่างช่วยไม่ได้

ก็ได้แต่นั่งมองภาพทิวทัศน์ที่มัวๆ ของกรุงเทพฯ พลางอมยิ้มกับตัวเอง…อนาคตของชาติช่างเหมือนทิวทัศน์นี้จริงๆ