เดือนแห่งอีเว้นท์

เดือนแห่งอีเว้นท์

 

เพิ่งจะเข้าสู่เดือนที่ 2 ของปีหมู เมืองไทยก็เต็มไปด้วยอรรถรสแห่งชีวิตมากมาย โดยเริ่มต้นตั้งแต่งานเฉลิมฉลอง ตามมาด้วยดราม่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดราม่าการเมือง ข่าวลบต่อการท่องเที่ยว ต่อด้วยงานบุญงานกุศลในช่วงอาทิตย์รองสุดท้ายของเดือน คงต้องรอดูกันต่อว่าอาทิตย์สุดท้ายจะมีเรื่องอะไรให้ปวดหัวกันต่ออีก

งานตรุษจีนปีนี้ดูเหมือนจะซบเซากว่าปีก่อนๆหน้า ทั้งจากประสบการณ์ส่วนตัว สอบถามจากคนรอบข้าง ร้านค้า วัด ศาลเจ้า ต่างพากันพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่คึกคัก” เริ่มตั้งแต่วันจ่ายซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ ที่ตามปกติของทุกๆปี ตามแหล่งช้อปปิ้งทั้งห้างและตลาดจะคลาคล่ำไปด้วยผู้คน รถติดวินาศสันตะโร แต่ปีนี้กลับค่อนข้างหงอยเหงา รถก็ไม่ติดมากนัก พ่อค้าแม่ค้าต่างพูดเหมือนกันว่านี่ขนาดสินค้าราคาไม่ปรับขึ้น ยังเสี่ยงที่จะขายไม่หมด ต่างร้านต่างเน้นเทขายให้หมดดีกว่าของเหลือทิ้ง

สอดคล้องกับ ข้อมูลจากนายกสมาคมค้าทองคำที่ระบุว่า “กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงตั้งแต่ช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยเฉพาะผู้ซื้อในส่วนของบริษัทห้างร้านพบว่า มีการซื้อสินค้าทองคำ เพื่อนำไปเป็นของขวัญช่วงเทศกาลลดลง ขณะที่กำลังซื้อของประชาชนทั่วไปที่ซื้อสินค้าทองคำ เพื่อเป็นของขวัญให้กับครอบครัวลดลงร้อยละ 10” ส่วนผลสำรวจศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ให้เห็นว่าคนเลือกที่จะจำกัดงบประมาณการใช้จ่ายมากขึ้น เดินทางทำบุญ ท่องเที่ยวระยะใกล้ๆ กิจการแจกแต๊ะเอียน้อยลง

ส่วนหนึ่งคงต้องยอมรับว่าเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหนี้สินภาคครัวเรือนไตรมาส 3 ปี 2561 ที่อยู่ในระดับสูง ในระดับ 77.8% เมื่อเทียบกับ GDP จนสร้างความกังวลใจให้กับเสียง กนง. ส่วนใหญ่ ทำให้ผลโหวตออกมาว่าให้คงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.75% ในรอบการประชุมครั้งที่ 1/2562 ที่ผ่านมา

เหตุการณ์ทั้งหมดดูเหมือนส่วนหนึ่งจะเกิดจากผลของการกระทำในอดีต “กัมมุนา วัตตติ โลโก สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม” เมื่อกงล้อของวงจรอุบาทว์ได้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผู้คนต่างพากันคุ้นชินกับการปรนเปรอจากภาครัฐจนเคยตัว ภาครัฐก็ต่างทุบหม้อข้าวหม้อน้ำ ขนเอาสมบัติที่มีอยู่มาปรนเปรอผู้คนและพวกพ้อง จนลืมไปว่า “รุ่นลูกรุ่นหลาน จะอยู่กันอย่างไร”  ลืมแม้กระทั่งสิ่งที่พ่อเคยสอนตลอด 70 ปีว่า “เราไม่ควรให้ปลาแก่เขา แต่ควรจะให้เบ็ดตกปลาและสอนให้รู้จักวิธีตกปลาจะดีกว่า” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2541

ผมเคยได้อ่านนิทานเรื่อง “ข้าว 100 กระสอบ” ของญี่ปุ่นจึงอยากจะนำมาแชร์ ณ ที่นี้

ในช่วงยุคเมจิ ญี่ปุ่นคือหนึ่งในประเทศเอเชียที่ถูกคุกคามจากชาติตะวันตก ทำให้ต้องดำเนินการปฏิรูปการศึกษาขนานใหญ่

ภายใต้ช่วงเวลาแห่งสงคราม ความเสียหายย่อมเกิดขึ้นกับบ้านเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แคว้นนากะโอะกะก็เป็นหนึ่งในแคว้นนั้นเช่นเดียวกัน ผู้คนต่างแร้นแค้นอย่างหนัก แคว้นมิเนยะมะ จึงส่งข้าวสาร 100 กระสอบมาช่วยเหลือ เมื่อข้าวสารมาถึงแคว้นนากะโอะกะ เหล่าขุนนางต่างบอกให้แจกจ่ายออกไปโดยเร่งด่วน แต่ “โคบายาชิ โทระสะบุโร” รองเจ้าเมือง ได้แนะนำว่า “หากข้าวร้อยกระสอบนี้ถูกแจกกินก็จะหมดไปในไม่กี่วัน แต่ถ้านำข้าวไปขายและนำเงินมาสร้างโรงเรียน ก็จะเปลี่ยนเป็นข้าวแสนกระสอบ หรือล้านกระสอบในวันหน้า” ภายหลังจากที่ได้ขายข้าวทั้งหมดไปแล้ว โคบายาชิ นำเงินไปสร้างโรงเรียน ให้การศึกษาแก่ชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านมีความรู้และสามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้

หากนึกภาพว่าเราอยู่ในสถานการณ์นั้นๆ เราคงเห็นอะไรหลายๆอย่างได้จากนิทานเรื่องนี้ ทั้งความชาญฉลาดของผู้นำ ความอดทนของประชาชน ความสามัคคี ความเสียสละ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คือ “จิตวิญญาณของเลือดบูชิโด” ย้อนกลับมามองปัจจุบัน ก็คงจะดีไม่น้อยถ้าเราสามารถเลียนแบบญี่ปุ่นได้ในเรื่องเหล่านี้ ไม่ใช่เฉพาะแค่อยากได้รับความญี่ปุ่นเพราะภาพลักษณ์ภายนอกเท่านั้น

จากเรื่องตรุษจีนในประเทศไทย คุยไป คุยมา ก็ลากยาวไปถึงประเทศญี่ปุ่นจนได้ จึงขอกลับมาที่อีเว้นท์ถัดไปที่จะมาถึง ก็คือ “วันมาฆบูชา” ปีนี้ตรงกับวันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 หลายๆคนคงขอหยุดเพิ่มวันจันทร์ เพื่อหยุดติดต่อกัน 3 วัน เพราะเป็นช่วงวันหยุดฟันหลอ แต่ผมขอแนะนำแบบนิสัยไม่ค่อยดีเท่าไหร่ และผู้ประกอบรวมถึงเจ้านายไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ ว่าถ้าอยากจะหยุด ไปลาทีเดียวตอนสงกรานต์ดีกว่า หยุดเพิ่ม 3 วัน แต่ได้หยุดทั้งหมด 11 วัน นอกจากการจัดการทางด้านการเงินแล้ว เราก็ต้องจัดการเปรียบเทียบผลตอบแทนและความเสี่ยงให้ดีเช่นเดียวกันนะครับ หยุดได้แต่อย่าลืมนะครับว่า ปัจจุบันงาน โบนัส และการขึ้นเงินเดือนเริ่มหายากขึ้นทุกที มีทั้งคนที่พร้อมกว่าและหุ่นยนต์คอยมาทดแทนเราได้ตลอดเวลา ก็ลองชั่งใจดูครับ

สำหรับท่านพุทธศาสนิกชนคงหาเวลาว่างไปทำบุญตั้งแต่ ตักบาตรตอนเช้า เวียนเทียนตอนเย็น โดยความสำคัญใน “วันมาฆบูชา” นี่คือวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดง “โอวาทปาติโมกข์” ในการประชุมครั้งใหญ่ในศาสนาพุทธ โอวาทปาติโมกข์นี้เปรียบเสมือนหัวใจหลักของศาสนาพุทธ โดยมีหลักย่อๆว่า “การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญแต่ความดี และการทำจิตของตนให้ผ่องใสเป็นอิสระจากกิเลสทั้งปวง” โดยการละชั่ว ทำดีนี้เป็นการทำทั้งในระดับ กาย วาจา ใจ มิใช่แค่เพียงกายเท่านั้น ทั้งนี้เราแบ่งระดับอย่างย่อของการทำบุญได้เป็น ทาน ศีล ภาวนา ซึ่งการภาวนาหรือคือการทำจิตใจให้ผ่องใสเป็นอิสระจากกิเลสทั้งปวงเป็นบุญกุศลขั้นสูงและไม่ต้องใช้เงินในการสร้างบุญอีกด้วย

สุดท้ายนี้ผมก็หวังให้เดือนนี้ปิดท้ายด้วยวันสำคัญดีๆ มากกว่าปิดท้ายด้วยความวุ่นวายต่างๆ แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ก็คงต้องปล่อยให้มันเกิด เราก็แค่ปรับตัวให้อยู่ได้ในทุกสภาวการณ์ทั้งระยะสั้นและระยะยาวอย่างมี “สติ” ซึ่งตั้งแต่ในอดีตที่ผ่านมา “สติ” นี้คือส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้พอร์ตการลงทุนของผมอยู่รอดปลอดภัยมาเกือบจะทุกสถานการณ์ ในวาระอื่นๆที่เหมาะสมเราจะมาคุยกันต่อว่า “สติ” ที่ผมพูดถึง สามารถเอามาปรับใช้กับการลงทุนได้อย่างไรครับ