เลือกตั้ง เลือกใคร

เลือกตั้ง เลือกใคร

 

ช่วงเวลาแห่งการเลือกตั้งมาถึงทีไร…รู้สึกเป็นผู้มากบารมีทุกครั้ง ไม่รู้ว่าท่านอื่นๆ จะรู้สึกเหมือนกันบ้างไหมครับ ผู้สมัครกี่คนๆ ที่เดินผ่าน ล้วนแต่พนมมือไหว้ ยิ้มสวยๆ พูดจาไพเราะกันแทบจะทุกคน แต่เชื่อเหลือเกินว่า พอหมดการเลือกตั้งเราๆ ท่านๆ ก็คงกลับมาสู่การเป็นมนุษย์เดินดินตามปกติ ในทางกลับกันเวลามีเรื่องร้องเรียนอะไร เรากลับต้องไปไหว้ กราบกรานขอความช่วยเหลือจากบรรดาท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหลาย

นี่ก็เหลือเวลาอีกเพียงแค่สัปดาห์เดียวเท่านั้น ก็จะถึงการเลือกตั้งครั้งสำคัญของประเทศกันแล้ว หลังจากเราอยู่ภายใต้รัฐบาลทหารกันมากว่า 4 ปี ก็คงเห็นภาพอะไรกันค่อนข้างเยอะ บ้างก็แปลก บ้างก็ดี บ้างก็ไม่ดี บ้างก็เหมือนดินแดนสนธยา บางโครงการก็ดองแล้วดองอีกอย่างกับไม่มีนาฬิกา บางโครงการก็อนุมัติไวอย่างกับมีนาฬิกาที่ยืมจากเพื่อนที่ตายไปแล้วหลายเรือน

หัวหน้าพรรคน้อย พรรคใหญ่ต่างก็ออกมาส่งเสียงดังๆ ว่าจะให้อะไรกับประชาชนกันบ้าง จัดหนัก จัดเต็มกันทุกพรรค ในฐานะที่เราเป็นประชาชนตัวน้อยๆ แต่มากไปด้วยบารมีในยามนี้ ก็คงต้องมาหาความรู้กันสักเล็กน้อยว่า ผู้ท้าชิงรายสำคัญๆเสนอจะเข้ามาทำอะไรเพื่อประชาชนกันบ้าง

ก่อนอื่นขอเริ่มจาก พรรคพลังประชารัฐที่ส่ง “ลุงตู่” ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกฯ ออกนโยบาย 7 สวัสดิการ : 7 สังคม : 7 เศรษฐกิจ โดยมีนโยบายเด่นๆ คือ บ้านล้านหลัง, บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ให้ส่วนลด 100,000 บาท เมื่อนำรถเก่ามาแลกรถยนต์ไฟฟ้า, ให้ทุกปั๊มมีหัวจ่าย B20, ข่วยเหลือการมีบุตร 171,000 บาทจนถึงอายุ 6 ขวบ และพักหนี้กองทุนหมู่บ้าน 3 ปี ล่าสุดแถลงนโยบายประชารัฐ “ประเทศไทยต้อง…รวย” ด้วยพลังประชารัฐ เช่น เพิ่มราคาสินค้าเกษตร ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับ พนักงานเงินเดือน ยกเว้นภาษีค้าขายออนไลน์ ค่าแรงขั้นต่ำ 425 บาทต่อวัน เพิ่มเงินเดือนป.ตรีเป็น 20,000 บาท และ อาชีวะ 18,000 บาท

พรรคต่อมา พรรคเพื่อไทย แม้พรรคสาขาจะโดนสั่งยุบไปแล้ว แต่ตามโพลก็ยังถือว่าร้อนแรงอยู่ โดยส่งผู้ท้าชิงเข้าร่วมถึง 3 ท่าน ได้แก่ “คุณหญิงหน่อย” สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ “ผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” ชัชชาติ สิทธิพันธุ์  และ คุณชัยเกษม นิติสิริ พรรคเพื่อไทยมากับการชูนโยบายแก้ปากท้องให้กับชาวบ้าน ภายใต้คำพูดเก๋ๆ “อยู่กับเรากระเป๋าตุง อยู่กับลุงกระเป๋าแฟบ” เน้นด้านเศรษฐกิจทุกระดับชั้น, เพิ่มค่าแรงขั้นตํ่าให้มากกว่า 300 บาท, เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร, เพิ่มศักยภาพ SME, โครงการไทยทำ ไทยทันสมัย ไทยเท่าเทียม ไทยเชื่อมไทย ไทยยั่งยืน ไทยเชื่อมโลก และสร้างโอกาสทางการศึกษา 1 อำเภอ 1 โรงเรียนสองภาษา อาชีวะเรียนฟรี ฯลฯ

ลำดับถัดไป พรรคคู่รัก คู่แค้นของพรรคก่อนหน้าที่ได้กล่าวไป พรรคประชาธิปัตย์ ส่งคนหล่ออย่าง “มาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นผู้ร่วมท้าชิงเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีนโยบายแก้ปัญหาความเหลื่อมลํ้า โดยอย่างแรกเลยคือ สร้างดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจใหม่ ไม่ดู GDP ต่อมา ประกันรายได้แรงงาน 120,000 บาทต่อปี, ประกันรายได้เกษตรกร, เบี้ยผู้สูงอายุ 1,000 บาทต่อเดือน, เบี้ยผู้ยากไร้ขั้นตํ่า 800 บาท/เดือน ส่วนของนโยบายด้านอื่นๆ ได้แก่ สร้าง Application Smart Taxi, Smart Bus รถเมล์ไฟฟ้าเชื่อมต่อรถไฟฟ้าและเรือ, ปราบยาเสพติด ปะ-ฉะ-ดะ, จัดตั้ง “กองทุนนํ้าชุมชน” , อุดหนุนการมีลูก เด็ก 0-8 ขวบ รับเงินสนับสนุน 1,000 บาท/เดือน, ปรับระบบภาษี, ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ฯลฯ สุดท้ายคงเป็นนโยบายที่นักลงทุนชื่นชอบกัน คือ จะพา SET ไปที่ 2,500 จุด

คลื่นลูกใหม่มาแรง พรรคอนาคตใหม่ ส่งผู้ท้าชิง “ฟ้ารักพ่อ” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เข้าเป็นแคนดิเดต ชูนโยบายเกี่ยวกับการสร้างอนาคตประเทศที่เรียกเสียงฮือฮา ทั้งชื่นชมและก่นด่าจากทุกสารทิศรอบข้าง นโยบายที่เด่นๆ ได้แก่ ปฏิรูปกองทัพ ทั้งการลดจำนวนนายทหารชั้นนายพล ลดอาวุธ และเลิกการเกณฑ์ทหาร ตามมาด้วยการเอาใจกลุ่มคนใช้แรงงานด้วยนโยบาย ทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์, เพิ่มค่าล่วงเวลาจากค่าแรงปกติเป็น 2 เท่า, เพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นตํ่าอัตโนมัติตามอัตราเงินเฟ้อ, ผลักดัน พ.ร.บ.ขึ้นค่าจ้างตามอายุงาน และเพิ่มวันลางานสำหรับการลาคลอด รวมไปถึงการเพิ่มเงินอุดหนุนสำหรับประชากรเกิดใหม่ ในด้านเศรษฐกิจและสังคมให้นโยบายการสร้างความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ลดการผูกขาดจากกลุ่มทุนใหญ่ ปฏิวัติการศึกษา ลดความเหลื่อมลํ้า โครงการไทยเท่าเทียมสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร ขนส่งสาธารณะเพื่อทุกคน และ สิ่งแวดล้อมยั่งยืน

หลังจากสรุปนโยบายผู้ท้าชิง 4 รายสำคัญกันแล้ว เชื่อว่าผู้อ่านก็คงพอมีคำตอบในใจกันบ้างแล้วว่าจะเลือกใครดี หรือ จะไม่เลือกใครดี… ส่วนตัวผมอยากให้ทุกท่านสังเกตเรื่องนึงครับ นั่นคือ ส่วนใหญ่มีแต่นโยบายแจก แจก แล้วก็แจก ส่วนนโยบายที่เกี่ยวกับการหารายได้เข้าประเทศ เข้าคลัง มีอยู่แค่นิดเดียวเท่านั้น ในอดีตเคยมีบทเรียนกันมาแล้วสำหรับการออกนโยบายทุนนิยมจ๋าของพรรคการเมืองในอดีต และผลกระทบก็ยังส่งผลมาถึงปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ … พอมองผ่านหน้าต่างประเทศออกไปยังต่างประเทศที่กำลังได้รับผลกระทบที่ร้ายแรงจากการทำนโยบายแบบสุดโต่ง จนทำให้ประชาชนอดอยากก็อดไม่ได้ที่จะกังวลต่อสถานการณ์บ้านเมืองในอนาคต

เวเนซุเอลา ประเทศผู้รํ่ารวยนํ้ามันและพลังงานธรรมชาติ เลี้ยงดูปูเสื่อประชาชนในประเทศเฉกเช่นราชา แทบไม่มีสิ่งใด ที่วิ่งไปตามกลไกตลาดในเวเนซุเอลา อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นจนเงินไร้ค่า ผู้คนต่างเอาเงินมาโปรยลงบนถนน ชีวิตถูกย้อนกลับไปสู่การพึ่งพาปัจจัยสี่โดยตรง เพราะเงินไม่สามารถหาซื้อมาได้ เกิดการจลาจลแย่งชิงอาหาร น้ำ ยารักษาโรค ฯลฯ

พอย้อนกลับมามองราคาข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ ที่ต้องออกไปซื้อกินก็ได้แต่ถอนหายใจ เงินเฟ้อเฉลี่ยของเราเพิ่มขึ้นนิดเดียว แต่ราคาข้าวของกลับถีบตัวขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากแค่หวังว่ารัฐบาลใหม่จะไม่ถลุงเงินจนเสียวินัยทางการเงิน การคลัง จนสุดท้ายมันย้อนกลับมาส่งผลร้ายต่อประชาชนชนชั้นกลางและล่าง สุดท้ายก็หวังอีกว่า ไม่ว่าใครเข้ามาก็ขอให้คอร์รัปชั่นดีขึ้นสักเล็กน้อยก็ยังดี ไม่ใช่ว่าอัดอั้นมา 4 ปี เข้ามาขอจัดหนักทุกโครงการจนไม่เหลืออะไรไว้ในคลังกันเลยทีเดียว