ระยะทาง…บาดแผล…ประสบการณ์

ระยะทาง…บาดแผล…ประสบการณ์

 

“ปล่อยมันให้ล้มบ้างก็ได้ ปล่อยมันให้แพ้บ้างก็ได้ ก็แค่หกล้มแล้วลุกขึ้นยืนใหม่ แพ้ก็แค่ต้องเข้าใจ ล้มบ้างก็ได้ และเธอจะแพ้บ้างก็ได้ ชนะนั้นคงไม่ยิ่งใหญ่ ถ้าคำว่าแพ้ นั้นยังไม่เข้าใจ”

ท่อนฮุคเพลง “ล้มบ้างก็ได้” ของบอย โกสิยพงษ์ ค่อยๆ ลอยมาขณะที่รถวิ่งผ่านป่าสองข้างทางของบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่อย่างช้าๆ ก่อนถึงจุดหมายปลายทางในเวลาไม่นานนัก

เมื่อเปิดประตูรถออกไป แม้ฟ้าจะเริ่มครึ้มฝน แต่อากาศก็ยังคงร้อนอบอ้าวจากช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างปลายฤดูร้อนไปสู่ต้นฤดูฝน หน้าร้อนผ่าวทันทีที่ถูกไอร้อนวิ่งเข้าปะทะหน้าอย่างจัง แตกต่างจากแอร์เย็นๆ ภายในรถอย่างเปรียบไม่ได้แต่ความร่มรื่นของป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์ก็ยังพอช่วยสร้างบรรยากาศที่สดชื่น และไม่นานร่างกายก็ค่อยๆ ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมบริเวณนั้น

พลันก็นึกได้ว่าเคยมีงานวิจัยระบุว่าการเที่ยวป่าช่วยลดความเครียด เพิ่มความสุขได้ เลยนั่งหาข้อมูลก็พบว่าในญี่ปุ่นมีการค้นคว้าศาสตร์นี้เรียกว่า “ชินริน-โยกุ” หรือ Forest Bathing หรือ Forest Therapy แปลเป็นไทยได้ว่า “การอาบป่า” เป็นการเข้าไปสัมผัสกลิ่นไอดิน กลิ่นต้นไม้ สัมผัสเสียงร้องของสัตว์ป่า ก้อนหิน แม่นํ้า ลำธาร สิ่งที่ธรรมชาติให้กับเราเรียกว่า “ไฟทอนไซด์” หรือ น้ำมันหอมระเหยที่ช่วยทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายได้เป็นอย่างดี

เดินไปพราง ทบทวนเรื่องต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตช่วงที่ผ่านมาไปพราง ชีวิตคนเราก็คงเหมือนการเดินทาง บางคราวก็ต้องผ่านสภาพถนนที่ย่ำแย่ ขรุขระ ผ่านสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว ต้องใช้พลังกาย พลังใจมากมายในการผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ จึงจะไปถึงจุดหมายได้

บางคนโชคดีหน่อย ต้นทุนชีวิตสูง มีทุกสิ่งทุกอย่างคอยอำนวยความสะดวก เปรียบเสมือนการเดินทางที่มีรองเท้าดีๆใส่ มีคนเกลี่ยเส้นทางให้เรียบไว้ กรุยขวากหนามจนโล่งเตียนให้ มีเสบียงมากมายไว้สนับสนุน แต่กับบางคนที่ต้นทุนชีวิตไม่ได้สูง ก็เปรียบเสมือนการเดินทางด้วยรองเท้าดาดๆ บนถนนที่ขรุขระและสูงชัน เต็มไปด้วยขวากหนามสารพัดที่พร้อมจะเชือดเนื้อ เฉือนหนัง แม้เป้าหมายสุดท้ายจะอยู่ ณ จุดเดียวกัน แต่ระดับการใช้ร่างกาย แรงใจในการไปถึงเป้าหมายช่างต่างกันลิบลับ

“ชีวิตมันก็แบบนี้แหละครับ”

ที่ผมอยากจะนำมาเล่าต่อคือ เรื่อง “เศษเหล็ก” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ที่ทรงมีรับสั่งให้กำลังใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ในคราวหนึ่งมีใจความดังนี้

ตอนนั้นผมกำลังทำงานอยู่ในสภาพจิตใจที่แย่มาก มันไม่มีกำลังใจจะทำอะไร..ท้อแท้กับงานมาก ไม่มีใครเข้าใจ เหมือนทำดี แต่ไม่ได้ดี  ในหลวง (รัชกาลที่ ๙) พระองค์ท่านเสด็จฯ มาพอดีครับ และท่านได้ทอดพระเนตรเห็นสีหน้าผมไม่สู้จะดี  ท่านได้ทรงสอบถามจนได้ความว่า ผมกำลังท้อแท้กับงาน

พระองค์ท่านจึงตั้งคำถามและรับสั่ง ว่า

ท่านสุเมธ เคยขายเศษเหล็กไหม เศษเหล็กเหล่านั้นเวลาขาย ราคามันต่ำ คงได้เงินมาไม่กี่บาท แต่ถ้าเราเอาเศษเหล็กเหล่านั้น มาหลอมรวมกันเป็นแท่ง เวลาหลอมนี่ เหล็กมันคงรู้สึกร้อนมาก พอหลอมเสร็จ เราจะนำมาทำเป็นดาบ คงต้องตีให้แบนอีก เวลาตี ก็ต้องคอยเอาไฟเผาให้ร้อน ตีไป เผาไปอยู่หลายรอบ กว่าจะเป็นรูป เป็นร่างดาบ ตามที่ต้องการ  ต้องผ่านความเจ็บปวด ความร้อนอยู่นาน แถมเมื่อเสร็จแล้ว จะให้สวยงามดังใจ ก็ต้องนำไป แกะสลักลวดลาย เวลาแกะลวดลาย ก็ต้องใช้ของแข็งมีคม มาตีให้เป็นลวดลายอีก แต่เมื่อเสร็จเป็นดาบที่งดงาม ก็จะมีคุณค่าที่สูงมาก เทียบกับ “เศษเหล็ก” คงต่างกันลิบลับ จะเห็นว่า กว่าที่ “เศษเหล็ก” ที่ไม่มีคุณค่ามากนัก จะกลายมาเป็น “ดาบที่งดงาม” นั้น ต้องผ่าน “อุปสรรค” มามากมาย ทั้งความ “เจ็บปวด” ต่างๆ กว่าจะประสบความสำเร็จ  ดังนั้น ขอให้จำไว้อย่างหนึ่งว่า

“ใครที่ไม่เคยถูกตี ถูกทุบ เจอเรื่องเลวร้ายในชีวิตมาเลยนั้น จงอย่าได้หาญคิดทำการใหญ่”

บาดแผลที่ลึก ล้วนแต่สร้างรอยจารึกเป็นประสบการณ์ให้กับเราทุกครั้งที่ผ่านมันมาได้ หรือที่เราเรียกกันอีกอย่างว่า “วัยวุฒิ” ซึ่งบางครั้งไม่ได้ขึ้นกับตัวเลขอายุ แต่ขึ้นกับประสบการณ์ชีวิตที่ถูกหล่อหลอมคนๆ หนึ่งขึ้นมา เมื่อเร็วๆ นี้ผมได้เจอคำคมดีๆ ผ่านทาง Facebook:PerspectiveTV ที่นำประโยคท่อนนึงมาจาก หนังสือเรื่อง Kafka on the Shore ซึ่งถูกเขียนโดย HARUKI MURAKAMI นักเขียนชื่อดังชาวญี่ปุ่น มีใจความว่า

“And once the storm is over, you won’t remember how you made it through, how you managed to survive. You won’t even be sure, whether the storm is really over. But one thing is certain. When you come out of the storm, you won’t be the same person who walked in. That’s what this storm’s all about.”

“และเมื่อพายุสิ้นสุดลง คุณอาจะจำไม่ได้ว่า คุณผ่านมันมาได้อย่างไร เอาชีวิตรอดมาด้วยวิธีไหน คุณแทบไม่แน่ใจด้วยซํ้าว่าพายุจบลงแล้วจริงหรือเปล่า แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอนที่สุดก็คือ เมื่อคุณก้าวออกมาจากพายุ คุณจะไม่ใช่คนเดิมคนเดียวกับคนที่เดินเข้าไปอีกแล้ว”

กลิ่นอายของฝนที่เพิ่งตก ผสานกับกลิ่นดิน กลิ่นต้นไม้ ยิ่งทำให้รู้สึกสดชื่นเมื่อถึงจุดหมายปลายทาง พลางมองย้อนกลับไปทางที่เดินผ่านมา ทำให้รู้สึกคุ้มค่ากับการเดินมาจุดหมายจริงๆ.