ทุกอย่างอยู่ที่ใจ

ทุกอย่างอยู่ที่ใจ

สวัสดีหลังสงกรานต์ครับ หมดสงกรานต์วันหยุดต่อไปก็คือช่วงวันแรงงาน ต่อเนื่องไปยังงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกวันที่ 4-6 พฤษภาคม บางคนก็คงเลือกที่จะมาหยุดเพิ่มเติมในวันที่ 2-3 พฤษภาคม ซึ่งจะทำให้เราหยุดกันทั้งสิ้น 6 วันเต็ม มีเวลามากพอจะกลับบ้านหรือไปเที่ยวแบบไม่ต้องแย่งกิน แย่งอยู่ แย่งเดินทางกับชาวบ้านในช่วงเทศกาลสงกรานต์

“นี่คือส่วนหนึ่งของการวางแผนชีวิต” การสร้างความมั่งคั่งที่แท้จริงต้องเกิดขึ้นกับชีวิตรอบด้าน ไม่ใช่แค่ด้านการเงินเท่านั้น บางคนอาจเถียงว่า ชีวิตวุ่นวาย ยุ่งยากที่จะต้องมาวางแผนอะไรแบบนี้

แน่นอนครับว่า การฝืนทำอะไรที่มันไม่เคยทำ ต่อให้ดีแค่ไหนเราก็คงไม่อยากทำ เช่น การกินของมันๆ ทอดๆ ปิ้งย่าง บุฟเฟ่ต์ทั้งหลายทั้งปวง ก็รู้ทั้งรู้ว่ามันไม่ดี แต่ก็ยังอยากที่จะกิน (ฤดูกาลนี้ก็คงเป็นทุเรียน บางคนซัดคนเดียวทั้งลูก) กว่าจะรู้ตัวอีกทีสิ่งเหล่านี้ก็ส่งผลร้ายต่อร่างกายไปเรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็น ไขมันพอกตับ มะเร็ง เบาหวาน หัวใจ ความดัน ฯลฯ ต่อให้เราจะออกกำลังกายก็ตามที แต่ก็อาจไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก หากร่างกายบางส่วนได้พังไปเรียบร้อยแล้ว เช่น ตับ นี่คือหนึ่งในอวัยวะที่มหัศจรรย์อย่างมากของร่างกาย จากบทความของโรงพยาบาลเปาโลที่อ้างถึงการศึกษาค้นคว้าของมหาวิทยาลัยไอโอวา ประเทศสหรัฐอเมริการะบุว่า “นอกจากตับเป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดของร่างกายแล้ว ยังเป็นอวัยวะเพียงชิ้นเดียวที่สามารถสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาเพื่อทดแทนเซลล์เก่าที่ถูกทำลาย หรือเสียหายไปได้”

คอทองแดงได้ยินก็คงยิ้มกรุ่มกริ่มพร้อมนึกในใจว่า “สบายละ! แบบนี้จัดหนักได้เต็มที่”

ใจเย็นครับท่าน! มันมีอะไรในกอไผ่มากกว่านั้น ถึงแม้ว่าตับจะสามารถรักษาตัวเองได้ แต่คนเราไม่ใช่มนุษย์กลายพันธุ์เหมือน Wolverine ในหนังเรื่อง X-Men ที่จะฆ่าไม่ตายและสามารถรักษาตัวเองได้ทุกครั้ง แม้ตับจะสามารถรักษาตัวเองพร้อมสร้างเซลล์ใหม่ๆ ขึ้นมาได้ แต่นั่นมันแค่ระยะเริ่มแรกเท่านั้นครับ (ยิ่งแก่ตัว ระยะเริ่มแรกก็เริ่มหมดไป) หากตับเกิดการอักเสบมานานจนเรียกได้ว่าเรื้อรัง สุดท้ายก็จะเกิดพังผืดในบริเวณต่างๆ ของตับขยายวงกว้างไปเรื่อยๆ จนกระทั่งสุดท้ายตับที่เคยเรียบลื่น ก็จะค่อยๆ หยาบกร้านจนสุดท้ายกลายเป็นโรคตับแข็งในที่สุด กว่าจะอยากกลับมารักษาสุขภาพ ก็สายไปเสียแล้ว อยากกินอะไรก็ไม่ได้กิน อยากไปไหนก็ไม่ได้ไป ต้องเข้าๆ ออกๆโรงพยาบาลจนกลายเป็นบ้านหลังที่ 2 และสุดท้ายก็ต้องย้ายไปสู่บ้านหลังสุดท้าย “ไม่เมรุก็สุสาน”

เห็นประโยชน์ของการฝืนทำอะไรดีๆ ที่เราไม่เคยทำบ้างหรือยังครับ ช่วงแรกอาจจะลำบากใจซักหน่อย แต่นานๆ ไปก็จะชินและติดกลายเป็นนิสัย (สันดาน) ไปเองครับ ตามทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงตัวเอง

ในปี ค.ศ. 1960 Dr. Maxwell Maltz ศัลยแพทย์ด้านศัลยกรรมตกแต่งชาวอเมริกันได้สังเกตว่า คนไข้ส่วนใหญ่มักไม่ค่อยพึงพอใจภายหลังการศัลยกรรม เนื่องจากยังติดภาพลักษณ์เดิมๆ ของตนเองอยู่ Dr. Maxwell จึงพยายามช่วยเหลือคนไข้เหล่านี้ โดยพยายามสร้างมุมมองเชิงบวกต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ Dr. Maxwell พยายามศึกษาว่า คนเราต้องใช้เวลากี่วันในการพัฒนาตนเอง และได้ข้อสรุปในแง่ต่างๆ ก่อนเขียนหนังสือเกี่ยวกับการพัฒนาตนเองขึ้นมา ชื่อว่า “Psycho-Cybernetics”

จำนวนวันที่ Dr. Maxwell สรุปไว้คือ “21 วัน หรือ 21-Day Habit Theory” Dr. Maxwell ได้ระบุว่า เราจะต้องใช้เวลาทั้งสิ้น 21 วันในการเปลี่ยนแปลงสิ่งใดๆ ก็ตามที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตแบบเดิมๆ จนกระทั่งการกระทำนั้นกลายเป็น “นิสัย” และที่สำคัญคือเราต้องเชื่อว่าเราจะทำสิ่งนั้นได้ เป็นการสร้างภาพลักษณ์ของตัวตนที่ต้องการภายในจิตใจ

แต่ทั้งนี้ทฤษฎี 21 วันนี้ ยังคงมีจุดอ่อนทั้งจากการที่ไม่มีงานวิจัยรองรับที่ชัดเจน และกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ยังเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ อย่างผู้ป่วยของ Dr. Maxwell เอง ต่อมาในปี ค.ศ. 1960 Dr. Phillippa Lally และคณะผู้ร่วมวิจัย ได้ตีพิมพ์งานวิจัยชื่อว่า “How are habits formed: Modelling habit formation in the real world” ลงใน European Journal of Social Psychology ซึ่งได้ข้อสรุปว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต้องใช้เวลา 18 – 254 วัน โดยค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 66 วัน แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าช่วงเวลาก็คือ การควบคุมตนเองให้ทำสิ่งเหล่านั้นซ้ำไปซ้ำมาอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลา 18 – 254 วัน จนกระทั่งพฤติกรรมนั้นๆ เกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติ ไม่ต้องจำใจฝืนทนมานั่งควบคุมตนเองอีก

สรุปง่ายๆ ว่า อยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้นก็ต้องฝืนในช่วงแรกๆ ทำสิ่งนั้นบ่อยๆ ไม่เกิน 8 เดือนครึ่ง เราก็ไม่ต้องฝืนทำอีกต่อไป เพราะสิ่งนั้นจะกลายเป็นพฤติกรรมเราทันที

แต่ช้าก่อน สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าระยะเวลาและการกระทำซ้ำๆ กันก็คือ “การเชื่อมั่นในตนเอง” เชื่อว่าเราสามารถทำได้ ต้องทำได้ หาให้เจอว่าข้อดีของการทำแบบนั้นคืออะไร ถ้าทำแล้วสิ่งดีๆ อะไรบ้างจะเกิดขึ้นกับเรา “คิดที่จะเป็น แล้วจะเป็นอย่างที่คิด” “Think what you are, You are what you think”

สิ่งเหล่านี้เป็นไปตามหลักของ “Cognitive Behavioral Theory : CBT” หรือหนึ่งในทฤษฎีตั้งต้นที่ใช้ในการบำบัดทางจิตเวชในปัจจุบัน โดยมี Professor Aaron T. Beck แห่ง University of Pennsylvania เป็นบิดาของทฤษฎีดังกล่าว โดยทฤษฎีดังกล่าวจะให้ความสำคัญกับความคิดเป็นลำดับแรก ก่อนที่จะเชื่อมโยงไปยังพฤติกรรม และอารมณ์ตามลำดับ คล้ายกับแนวคิดทางพุทธศาสนา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา CBT ของ Professor Aaron T. Beck ภายหลังจากการได้ศึกษาพุทธศาสนาธิเบต และได้พูดคุยกับองค์ดาไลลามะ

หากเราต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเองจริงๆ เราต้องเชื่อมั่นก่อนว่า เราเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งนั้นได้ ต่อมาก็ลงมือทำ ทำแล้วทำเล่า ไปจนกระทั่งถึงจุดๆ หนึ่งที่การกระทำกลายมาเป็นพฤติกรรม และสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ให้กับชีวิตเราได้

สุดท้ายของบทความนี้ผมก็ขอให้กำลังใจทุกท่าน ที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงตัวเองดังๆว่า “สู้ๆครับ”