เลือกตั้งใครว่าไม่สำคัญ

เลือกตั้งใครว่าไม่สำคัญ

ตอนแรกว่าจะไม่เขียนเรื่องเลือกตั้งซ้ำเป็นหนที่ 2 แต่สุดท้ายก็มีประเด็นให้พูดอีกจนได้กับ “การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่สำคัญ” ที่มีเรื่องราวในหลายแง่มุมให้พูดถึงมากมาย วันนี้เราจะมาคุยกันว่าจริงๆ แล้วการเลือกตั้งนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่เราคิดกันไว้มาก

ตี 4 ของวันที่ 24 มีนาคม 2562 ผมตื่นนอนขึ้นมาจัดการกับตัวเอง เพื่อต้องเตรียมเปิดร้านค้ากิจการทางบ้านตามปกติ แต่อาทิตย์นี้พิเศษกว่าทุกวันเพราะเป็นวันเลือกตั้ง ดังนั้นการจัดเตรียมร้านค้าจึงต้องมีความแตกต่างจากอาทิตย์ก่อนๆ (เป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่ง) ตี 5 เริ่มมีลูกค้าเข้ามาหาซื้อของเป็นปกติ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องชื่นชมคือ ตำรวจรุ่นใหม่ อายุไม่มากนัก มีความกระตือรือร้นอย่างมากในการปฏิบัติหน้าที่ มาหาซื้อของกินแต่เช้าเพื่อเตรียมตัวเข้าประจำที่ ณ หน่วยเลือกตั้งของตนตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง ตลอดวันนั้นมีผู้คนมากมายเข้ามาใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งมากกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ อย่างมาก หลังจากอึดอัดไม่ได้เลือกตั้งมานานหลายปี ซึ่งเป็นไปตามที่หลายสำนักข่าวเสนอ

5 โมงเย็น ปิดหีบเลือกตั้ง ได้เวลานับคะแนนผลปรากฏว่า เป็นการลงคะแนนที่หักปากกาเซียนทั้งหลาย รวมไปถึงโพลโดยสิ้นเชิง พรรคของคนรุ่นใหม่ได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นจนเกิดเหตุการณ์ “ล้มช้าง” คนรุ่นใหม่สามารถเอาชนะขาใหญ่ที่มักได้รับการโหวตเป็นประจำลงได้อย่างราบคาบ นี่คือปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าคนไทยเริ่มเบื่อกับพฤติกรรมเดิมๆ ของนักการเมืองรุ่นเก่า

ก่อนจะไปต่อก็ขอสอดแทรกความรู้ไว้ก่อน เราเห็นอะไรที่บิดเบี้ยวในเชิงวิชาการครั้งนี้หรือไม่ สิ่งเหล่านั้นคือ “ผลโพล” ผลโพลที่ผิดความคาดหมายนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกในโลก แต่เกิดมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งทั้งสร้างโอกาสลงทุนและสร้างความเจ็บปวดให้กับนักลงทุนมาไม่น้อย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ตอนเลือกตั้งสหรัฐฯปี 2016 การขับเคี่ยวกันอย่างถึงพริก ถึงขิงระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ กับ ฮิลลารี คลินตัน ผลโพลก่อนการเลือกตั้งระบุชัดว่า ฮิลลารี คลินตัน แทบจะลอยลำเข้าวิน แต่สุดท้าย โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ชนะการเลือกตั้ง สร้างแรงกดดันให้ตลาดหุ้นทั่วโลก อีกเหตุการณ์สำคัญคือ ผลการทำ Referendum การออกจาก EU ของ UK ที่สุดท้ายแล้วผลการโหวตออกมาสลับขั้วจากผลโพลอย่างสิ้นเชิง

ผลโพลที่ผิดพลาดขนาดนี้ ไม่ได้เกิดจากขนาดกลุ่มตัวอย่างที่ไม่เพียงพอ แต่เกิดจากการเก็บข้อมูลแบบ Biased ซึ่งสมัยที่ผู้เขียนยังเรียนหนังสืออยู่นั้น มักจะถูกอาจารย์ที่ปรึกษาย้ำถึงการเก็บข้อมูลที่มีการกระจายตัวอย่างเพียงพอ เรียกง่ายๆว่าต้องสุ่มกลุ่มตัวอย่างให้มีความหลากหลายมากที่สุด ซึ่งจะทำให้ผลลัพธ์ของการทำวิจัยออกมามีคุณภาพตามไปด้วย

ไม่ใช่เฉพาะผลโพลเท่านั้น อีกสิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้ว่าคุณภาพของการเก็บข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญนั่นคือ การที่คะแนนของกลุ่มอำนาจเดิมออกมามีจำนวนมาก (ไม่ว่าจะมาจากคะแนนจริง หรือ อำนาจมืดก็ตาม) ขณะที่ผู้คนในโลกออนไลน์ต่างตั้งคำถามว่า กลุ่มอำนาจเดิมมีคะแนนเยอะขนาดนี้ได้อย่างไรในเมื่อโดนเทกระจาดจากโลกออนไลน์ขนาดนั้น

ก่อนอื่นขอให้ลืมเหตุการณ์ที่ไม่ชอบมาพากลหลายๆ อย่างออกไปก่อนครับ เราจะตั้งสมมติฐานว่าคะแนนทั้งหมดมาจากผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งและมาลงคะแนนเสียงจริงๆ อย่างที่บอกไปครับว่าข้อมูลที่ดีต้องมีการกระจายตัวให้มากที่สุด นั่นหมายความว่า เรากำลังลืมคะแนนเสียงในโลกออนไลน์ที่ไม่แสดงตัว เรากำลังลืมกลุ่มที่ไม่ได้โพสต์ลงบนโลกออนไลน์ ฯลฯ โดยรวมนั่นคือ เรากำลังเหมาว่าทุกๆ ความเห็นในโลกออนไลน์คือตัวแทนของประชากรทั้งประเทศ นี่คือบทเรียนแรกที่เราสามารถเอาไปประยุกต์ใช้ได้กับข้อมูลทุกรูปแบบที่มีการนำเสนอ ภายใต้คำถามง่ายๆ ว่า “ข้อมูลที่ถูกนำเสนอมีคุณภาพดีพอหรือยัง”

หลัง 2 ทุ่ม ผลการนับคะแนนเริ่มออก บ้างผิดหวัง บ้างสมหวัง จนกระทั่งเห็นข้อความหนึ่งที่ระบุว่า “ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลเราก็ต้องก้มหน้าทำมาหากินกันต่อไป” เปรียบเสมือนว่าไม่ว่าใครเข้ามาเป็นรัฐบาลก็ไม่ส่งผลกระทบต่อความกินดีอยู่ดีของเรา ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจผิดอยู่อย่างมาก…

ประเด็นแรกเลยคือ การลงทุน แน่นอนว่านักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนที่มีเหตุผลเพียงพอ จะมีการประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแตกต่างไปจากนักลงทุนทั่วไป ดังนั้นรายชื่อของผู้ที่จะเป็นรัฐบาล ย่อมมีผลต่อ Sentiment ของนักลงทุนรายใหญ่ แตกต่างกันไปตามแต่นโยบายและแนวโน้มความสามารถของรัฐบาลนั้นๆ

ประเด็นต่อมาคือ ความอยู่ดีกินดี แบ่งออกเป็น 2 ส่วนย่อยคือรายได้และค่าใช้จ่าย ในส่วนแรกรายได้ ภายใต้การเป็นประเทศเกษตรกรรมคงต้องยอมรับว่า ราคาสินค้าเกษตรที่มีความผันผวนย่อมทำให้ระดับรายได้ของเกษตรกร ซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศมีความไม่แน่นอนสูง แต่ในกรณีที่เรามีรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพในการบริหารราคาสินค้าเกษตรและปริมาณพืชผล ย่อมทำให้รายได้ของประชาชนภาคเกษตรไม่ผันผวนตามไปมากนัก เช่นเดียวกันกับภาคอุตสาหกรรม ที่มีทิศทางเดียวกับการลงทุน หากนักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากพอ ย่อมทำให้มีการลงทุนทั้งทางตรงและทางอ้อมตามมา และการลงทุนนี่เองที่จะก่อให้เกิดการจ้างงานและระดับรายได้ของเราในภาพรวมให้เพิ่มขึ้น

ส่วนที่สองคือ ค่าใช้จ่าย เรียกง่ายๆ ก็คือ ค่าครองชีพ ทั้งราคาอาหาร ค่าโดยสาร ราคาน้ำมัน ฯลฯ ตามปกติแล้วค่าครองชีพจะปรับตัวขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ แต่ในทางกลับกันหากเรามีรัฐบาลที่ไร้ประสิทธิภาพในการใช้เครื่องมือทางการเงิน การคลัง การปรับตัวขึ้นของค่าครองชีพก็อาจไม่เป็นไปตามกลไกที่ควรจะเป็น สังเกตง่ายๆ ว่า ช่วงหลายปีนี้ค่าครองชีพหลายๆอย่างปรับตัวขึ้นแบบก้าวกระโดด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ

เมื่อนำทั้งสองส่วนที่กล่าวมาหักล้างกันไปแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่ก็คือ เงินเก็บ หรือ ความมั่งคั่งของเรานี่แหละครับ ดังนั้นการที่ใครบอกว่าเลือกตั้งไม่สำคัญ ก็คงไม่จริงหากเรามองในรายละเอียด รัฐบาลที่ไร้ประสิทธิภาพและศักยภาพก็จะทำให้ความมั่งคั่งของเราลดลงและหายไปในที่สุด แต่ถ้าได้รัฐบาลที่มีประสิทธิภาพและศักยภาพ สร้างเม็ดเงินให้หมุนเวียนในเศรษฐกิจถึงทุกระดับ แน่นอนว่าความมั่งคั่งก็อยู่ใกล้แค่เอื้อม ขึ้นกับว่าใครจะคว้าหรือไม่คว้าเอง