การประกันชีวิต กับการวางแผนภาษีมรดก

การประกันชีวิต กับการวางแผนภาษีมรดก
 

โดย คุณธัญญะ ซี่อวาจา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ
บริษัท แอ๊ดวานซ์ ไลฟ์ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
                thanya.s@localhostโทร. 02-648-3333

 

          สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน เริ่มต้นปีพุทธศักราชใหม่ 2558 กับคอลัมน์หน้าต่างประกันภัยในปีนี้ ซึ่งผมธัญญะ ซื่อวาจา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอ๊ดวานซ์ ไลฟ์ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) จะมารับหน้าที่ในการนำเสนอสาระความรู้ดีๆ เกี่ยวกับการประกันภัย การวางแผนภาษี และการวางแผนทางการเงินให้กับท่านผู้อ่านทุกท่าน ได้ติดตามอ่านกันตลอดทั้งปีนะครับ โดยทั้งสามเรื่องนี้ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญกับอนาคตและการใช้ชีวิตในทุกๆ ช่วงวัยของเราทุกคนอย่างแน่นอนครับ

          สำหรับสาระความรู้ดีๆ เรื่องแรกที่จะนำมาเสนอให้ผู้อ่านได้ทราบกันในปี 2558 จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับข่าวคราวของการจัดเก็บภาษีที่นับได้ว่าเป็นกระแสมากที่สุดในช่วงปีที่ผ่านมา นั่นก็คือเรื่องของ “ภาษีมรดก” นั่นเองครับ แต่ในครั้งนี้เองผมจะมาเล่าให้ฟังว่า ภาษีมรดกที่ว่านี้ มันมีความเกี่ยวข้องอย่างไรบ้างกับการทำประกันชีวิตที่เรามีกันอยู่ หรือสำหรับท่านที่กำลังคิดวางแผนที่จะทำ จะได้มีการเตรียมตัวศึกษารายละเอียดในด้านสิทธิประโยชน์ที่ท่านควรจะได้รับได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเมื่ออ่านบทความนี้แล้ว ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านจะมีความรู้ความเข้าใจในรายละเอียดของภาษีมรดกที่มีความเกี่ยวข้องกับการทำประกันชีวิตได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมามักจะมีคนเข้ามาสอบถามผมเสมอว่า เมื่อกฎหมายภาษีมรดกเริ่มบังคับใช้แล้ว และเค้าได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนจากการทำประกันชีวิต เงินเหล่านั้นเค้าจะต้องนำไปยื่นเพื่อเสียภาษีมรดกหรือไม่??

           ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ ผมขออธิบายหลักการในการจัดเก็บภาษีมรดกตามร่างกฎหมายภาษีมรดกที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อนนะครับ โดยตามร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว หลักการในการจัดเก็บภาษีมรดกก็คือ หากใครได้รับทรัพย์สินซึ่งตามกฏหมายถือว่าเป็นทรัพย์มรดก บุคคลนั้นก็จะต้องนำทรัพย์สินที่ได้รับนั้นไปคำนวณเพื่อเสียภาษีมรดกหากเข้าเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นเรื่องสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาเพื่อตอบคำถามในเรื่องนี้ก็คือ “เงินสินไหมทดแทนที่ได้รับจากการประกันชีวิตถือเป็นทรัพย์มรดกหรือไม่”

          โดยในเรื่องนี้คนทั่วไปมักจะเข้าใจว่าเงินสินไหมทดแทนที่ได้รับจากการประกันชีวิตถือเป็นทรัพย์มรดกด้วย เพราะเหตุว่าเป็นเงินที่ได้รับจากการที่ผู้ทำประกันภัยไว้ได้เสียชีวิตลง เงินจำนวนนี้จึงน่าจะเป็นกองมรดกที่ตกทอดแก่ทายาท แต่ในความจริงแล้ว เงินสินไหมทดแทนที่ได้รับจากการประกันชีวิตนั้นไม่ใช่เงินมรดกนะครับ แต่เป็นเงินที่ผู้รับประโยชน์ได้รับตามสัญญาประกันภัย ซึ่งผู้เอาประกันชีวิตได้ทำสัญญาประกันภัยไว้กับบริษัทผู้รับประกันภัย เมื่อผู้เอาประกันชีวิตเสียชีวิตลง บริษัทผู้รับประกันภัยก็จะจ่ายเงินสินไหมทดแทนจำนวนนี้ให้แก่ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาอันเนื่องมาจากความตายของผู้เอาประกันชีวิต ซึ่งเงินสินไหมทดแทนจำนวนนี้ไม่ใช่เงินที่ผู้ตายมีอยู่ก่อนหรือขณะถึงแก่ความตาย ดังนั้นจึงไม่ใช่ทรัพย์มรดก (ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 821/2554) หมายความว่า เมื่อเงินสินไหมทดแทนที่ได้รับจากการประกันชีวิตไม่ใช่ทรัพย์มรดก ดังนั้น เราก็ไม่ต้องนำเงินจำนวนนี้ไปคำนวณเพื่อเสียภาษีมรดกแต่อย่างใดครับ

           แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหากปรากฏว่าผู้เอาประกันชีวิตได้กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยว่าให้ใช้เงินแก่ทายาท “โดยไม่ได้ระบุชื่อเจาะจงไว้ หรือไม่ได้มีการระบุชื่อผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัย หรือกรณีที่ได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ แต่ผู้รับประโยชน์เสียชีวิตก่อนผู้เอาประกันชีวิต และไม่ได้มีการแจ้งเปลี่ยนตัวผู้รับประโยชน์” กรณีเหล่านี้กฎหมายให้ถือว่าเงินสินไหมทดแทนที่ได้รับจากการประกันชีวิตดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันชีวิต (ตาม ปพพ. มาตรา 897 วรรค 1 และตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 821/2554) รวมทั้งในกรณีที่ผู้เอาประกันชีวิตได้มีการกำหนดชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ แม้ว่าเงินสินไหมทดแทนที่ได้รับจากการประกันชีวิตจะไม่ใช่ทรัพย์มรดก แต่กฎหมายให้ถือว่าจำนวนเงินเบี้ยประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันชีวิตได้ชำระตามสัญญาประกันภัยไปแล้วนั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันชีวิตด้วย (ตาม ปพพ. มาตรา 897 วรรค 2) ซึ่งทั้งสองกรณีนี้ กฎหมายกำหนดให้ถือว่าเป็นทรัพย์มรดก และเมื่อกฎหมายภาษีมรดกมีการบังคับใช้แล้ว ก็จะต้องนำเงินดังกล่าวมาคำนวณเพื่อเสียภาษีมรดกตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดด้วยครับ

          ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่ารายละเอียดที่แตกต่างกันเพียงเล็กน้อยแต่ผลที่ตามมานั้นมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นในกรณีหากท่านผู้อ่านได้มีการทำสัญญาประกันชีวิต ท่านควรจะระบุชื่อผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยให้ครบถ้วน หรือหากกรณีที่ท่านได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้แล้ว แต่ปรากฎว่าผู้รับประโยชน์คนดังกล่าวได้เสียชีวิตไปก่อน ท่านก็ควรที่จะแจ้งบริษัทผู้รับประกันภัยเพื่อเปลี่ยนตัวผู้รับประโยชน์ให้ถูกต้องเสียก่อน เพราะนอกจากเงินสินไหมทดแทนที่ได้รับจากการประกันชีวิตจะได้มีการส่งต่อไปยังบุคคลที่ท่านต้องการจะให้ได้รับโดยตรงแล้ว บุคคลที่ได้รับเงินดังกล่าวยังจะได้รับประโยชน์จากการที่ไม่ต้องนำเงินดังกล่าวมาคำนวณเพื่อเสียภาษีมรดกโดยถูกต้องตามกฎหมายอีกด้วย

          เป็นอย่างไรบ้างครับ สำหรับบทความแรกของผมในวันนี้ ผมหวังว่าจะทำให้ท่านผู้อ่านได้มีความเข้าใจในเรื่องการทำประกันชีวิตและหลักการของภาษีมรดกมากขึ้นนะครับ อย่างไรก็ตามหากท่านมีข้อสงสัยหรือมีคำถามเพิ่มเติมสามารถส่งอีเมล์มาสอบถามกับผมโดยตรงได้ที่ thanya.s@localhostโดยผมยินดีที่จะตอบคำถามเพื่อคลายความสงสัยให้กับทุกท่านนะครับ แล้วอาทิตย์หน้ากลับมาพบกับสาระความรู้ดีๆ ได้ใหม่ที่คอลัมน์หน้าต่างประกันภัยนี้อีกครั้ง สำหรับวันนี้สวัสดีครับ