ไขข้อสงสัยในการทำประกันชีวิต

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้นำเสนอข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับประกันชีวิตที่ควรรู้ให้กับท่านผู้อ่านทุกท่านได้ทราบข้อมูลในเบื้องต้นกันไปแล้ว ทั้งท่านผู้อ่านที่ลงทุนด้วยการซื้อประกันชีวิตเป็นประจำอยู่แล้ว และท่านผู้อ่านที่เพิ่งเริ่มสนใจลงทุนด้วยการทำประกันชีวิต และสำหรับท่านผู้อ่านที่เป็นมือใหม่ทางด้านประกันชีวิตและเพิ่งเริ่มต้นทำประกันชีวิตอาจมีข้อสงสัยว่า เมื่อทำประกันชีวิตแล้วควรจะระบุผู้รับประโยชน์ดีหรือไม่? หากไม่ระบุจะมีผลอย่างไร? จะระบุใครเป็นผู้รับประโยชน์ดี? และสามารถระบุได้กี่คน?  โดยในวันนี้ผมก็มีคำแนะนำดีๆ สำหรับเรื่องดังกล่าวมาบอกท่านผู้อ่าน ก่อนอื่นต้องขอบอกท่านผู้อ่านว่าการระบุผู้รับประโยชน์ในการทำประกันชีวิตก็ไม่ต่างกับการทำพินัยกรรม ซึ่งเป็นการแสดงความประสงค์ที่จะให้ทรัพย์สินของเราตกเป็นของบุคคลบางคนเมื่อเราตายไปแล้ว การมอบผลประโยชน์ตามกรมธรรม์แก่ผู้รับประโยชน์ก็เช่นกัน โดยเป็นการระบุเฉพาะเจาะจงว่าผู้ได้ผลประโยชน์ตามกรมธรรม์เป็นใคร ส่วนคนที่ไม่ได้ระบุไว้ก็จะไม่ได้รับผลประโยชน์ดังกล่าว ดังนั้นการระบุชื่อผู้รับประโยชน์จึงเป็นผลดี เพราะเท่ากับว่าเราได้มีการกำหนดบุคคลที่เราต้องการจะยกเงินจำนวนหนึ่งให้เมื่อหากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นในอนาคตนั่นเอง 

          คำถามที่ผมมักจะเจอบ่อยๆ ข้อต่อมาก็คือ ถ้าทำประกันชีวิตแล้วไม่ได้ระบุผู้รับประโยชน์จะมีผลอย่างไร? ต้องบอกท่านผู้อ่านอย่างนี้นะครับว่าการไม่ระบุผู้รับประโยชน์ในกรมธรรม์ หรือกรณีที่มีการระบุผู้รับประโยชน์ไว้แล้ว แต่ผู้รับประโยชน์ได้เสียชีวิตก่อนผู้เอาประกันภัยนั้นไม่ได้ทำให้กรมธรรม์เสียไปแต่อย่างไรครับ แต่ในกรณีหากผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต บริษัทจะจ่ายเงินผลประโยชน์ต่างๆ ตามกรมธรรม์ให้กับทายาทของผู้เอาประกันภัย ซึ่งอาจจะมีทั้งบุคคลที่เราอยากยกทรัพย์สินให้หรือไม่อยากรวมอยู่ด้วย ดังนั้นหากเราตั้งใจจะมอบผลประโยชน์ให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ ผมขอแนะนำให้ท่านระบุบุคคลดังกล่าวเป็นผู้รับประโยชน์ไว้ในกรมธรรม์เถอะครับ เพื่อจะได้ลดปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการแบ่งทรัพย์สินระหว่างทายาทของท่านในภายหลัง

          ปัญหาข้อต่อมาที่ท่านผู้อ่านหลายต่อหลายท่านสงสัยก็คือ การระบุผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์สามารถระบุใครเป็นผู้รับประโยชน์ได้บ้าง? และสามารถระบุได้กี่คน? ต้องขอบอกท่านผู้อ่านอย่างนี้ครับว่าตามกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าผู้รับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์จะต้องมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมาก หรือที่เรียกว่ามีส่วนได้เสียกับผู้เอาประกันภัย ดังนั้นผู้เอาประกันภัยจึงอาจระบุชื่อคุณพ่อ คุณแม่ พี่น้อง ลุง ป้า น้า อา สามี ภรรยา บุตร หรือแม้แต่บุคคลอื่นๆ ก็สามารถทำได้ โดยต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าผู้รับประโยชน์จะต้องเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลตามกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตามใช่ว่าผู้เอาประกันภัยจะระบุผู้รับประโยชน์ได้โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นใคร เพราะโดยปกติบริษัทประกันชีวิตจะมีเงื่อนไขเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์ด้วย เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ฆ่าเพื่อหวังเงินประกันชีวิตไว้ด้วย เช่น ต้องเป็นบุคคลที่มีส่วนได้เสียเท่านั้น ซึ่งตามกฎหมายกำหนดบุคคลที่มีส่วนได้เสีย คือ บุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการที่ต้องสูญเสียเราไป เช่น พ่อแม่มีหน้าที่ที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูลูก หากลูกเสียพ่อแม่ไปลูกก็ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียดังกล่าว เป็นต้น โดยท่านอาจจะมีการสอบถามไปยังบริษัทประกันชีวิตก่อนที่จะระบุผู้รับประโยชน์ก็ได้ครับ นอกจากนี้ในการระบุผู้รับประโยชน์ท่านผู้อ่านสามารถระบุผู้รับประโยชน์จำนวนกี่คนก็ได้ และท่านสามารถกำหนดสัดส่วนในการรับผลประโยชน์ไว้ได้ด้วยเช่นกันครับ เช่น กำหนดผู้รับประโยชน์ 3 คน โดยคนแรกให้ได้รับผลประโยชน์ 50% อีก 2 คนที่เหลือคนละ 25% เป็นต้น

          เป็นอย่างไรบ้างครับสำหรับความรู้ที่นำมาบอกเล่าให้ท่านผู้อ่านเข้าใจในวันนี้ โดยผมเชื่อว่าจะทำให้ท่านผู้อ่านสามารถวางแผนทำประกันชีวิตให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นนะครับ แล้วกลับมาพบกับสาระความรู้ดีๆ ได้ใหม่ในสัปดาห์หน้า สำหรับวันนี้สวัสดีครับ