ซื้อประกันแบบ มีเงินคืนดี หรือไม่มีเงินคืนดี

ซื้อประกันแบบ มีเงินคืนดี หรือไม่มีเงินคืนดี

 

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกับคอลัมน์หน้าต่างประกันภัยกันเป็นประจำทุกสัปดาห์นะครับ วันนี้จะขอพูดถึงหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับประกันที่มีเงินคืน และแบบที่ไม่มีเงินคืนครับ บางท่านอาจจะเคยได้ยินโฆษณากันมาบ้างแล้วนะครับ สำหรับประกันประเภทที่หากไม่มีการเคลมเกิดขึ้นจะคืนเงินชดเชยให้  

โดยกรมธรรม์ประเภทนี้ ก็คือกรมธรรม์แบบปกติทั่วไปนี่แหละครับ เช่น ประกันสุขภาพ ประกันรถยนต์ แต่สิ่งที่เพิ่มเข้ามาก็คือ หากไม่มีการเคลมเกิดขึ้นแล้ว จะมีการคืนเงินให้บางส่วนครับ ซึ่งหลักการคิดเบี้ยนั้นก็คือ คิดเบี้ยประกันแบบปกติครับแต่เพิ่มเงินคืนไปด้วย

ยกตัวอย่างประกันสุขภาพชนิดหนึ่ง ซึ่งมีเบี้ยประกันรายปีปกติปีละ 10,000 บาท และมีเงินชดเชยให้ 5,000 บาท  หากไม่มีการเคลมเกิดขึ้นในปีนั้นๆ ซึ่งหลักการคำนวณเบี้ยเราก็จะคำนวณจากสถิติว่า มีความน่าจะเป็นมากน้อยเท่าใด ที่ลูกค้าจะไม่มีการเคลมภายใน 1 ปี เช่นคำนวณจากสถิติได้ 40% แสดงว่าโดยเฉลี่ยลูกค้าจะขอเงินชดเชยคืนได้เท่ากับ
5,000 x 40% = 2,000 บาท โดยเงินส่วนนี้จะถูกบวกกลับเข้าไปในเบี้ยประกันรายปีแบบปกติครับ และจะทำให้จากประกันสุขภาพรายปีแบบปกติซึ่งมีราคา 10,000 บาท แต่สำหรับแบบมีเงินคืนจะกลายเป็น 12,000 ครับ แปลว่าประกันชนิดนี้ราคาจะสูงกว่าปกติ  

ดังนั้นหากจะพิจารณาประกันชนิดนี้ เราต้องประเมินความเสี่ยงของตัวเราเองก่อนครับ ซึ่งหากคิดว่าเรามีความเสี่ยงที่เคลมน้อยมาก แต่ทำประกันเผื่อไว้สำหรับกรณีฉุกเฉิน ก็ควรจะทำประกันแบบมีเงินคืนครับ เพราะจากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นว่า ในกรณีปกติเราต้องเสียเบี้ยประกันอยู่ที่ราคา 10,000 บาท ส่วนแบบมีเงินคืนเราจะเสีย
12,000 – 5,000 = 7,000 บาท ครับซึ่งจะประหยัดไปประมาณ 3,000 ครับ

ส่วนผู้ที่คิดว่าตนเองมีความเสี่ยงสูง (มีความน่าจะเป็นสูงมากที่จะเคลมในปีนั้นๆ) ก็ควรจะทำแบบไม่มีเงินคืนครับ เพราะเราจะประหยัดเงินไปได้ 12,000-10,000 = 2,000 บาท

จากที่ผมได้ยกตัวอย่างไปคงพอจะเห็นภาพคร่าวๆ นะครับ ซึ่งแท้จริงแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำประกันก็คือการวิเคราะห์ความเสี่ยงของตัวเราเองนี่แหละครับ ซึ่งนอกจากจะทำให้เราเห็นภาพกว้างๆ ว่าเราจะต้องทำประกันในส่วนใดบ้างนั้น ยังสามารถลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงได้ด้วยครับ ฉบับนี้ขอลงไว้แค่นี้ก่อนนะครับ เดี๋ยวมาพบกันใหม่ในฉบับหน้าครับผม