ประกันตัวนี้ลดภาษีได้  (2)

ประกันตัวนี้ลดภาษีได้ (2)

 

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน วันนี้เรากลับมาเจอกันในคอลัมน์หน้าต่างประกันภัยเหมือนเดิมนะครับ ซึ่งในฉบับที่แล้วเราก็ได้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการลดหย่อนภาษีของกรมธรรม์ประกันชีวิตเรียบร้อยแล้วนะครับ    วันนี้เราจะมาดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลดหย่อนภาษีในกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญกันครับ

โดยหลักการเบื้องต้นในการลดหย่อนภาษีของกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญ นั้นคือ

  1.  กรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญต้องมีลักษณะ  ดังนี้

        1.1  กรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่มีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป

        1.2  เป็นการประกันชีวิตที่ได้เอาประกันไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในราชอาณาจักร

        1.3  มีการกำหนดการจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญเป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจำนวนผลประโยชน์เงินบำนาญดังกล่าว จะจ่ายเท่ากันทุกงวด หรือจ่ายในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาการเอาประกันก็ได้  โดยการจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญจะจ่ายตามการทรงชีพที่อาจมีการรับรองจำนวนงวดในการจ่ายที่แน่นอน

        1.4  มีการกำหนดช่วงอายุของการจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญเมื่อผู้มีเงินได้ มีอายุตั้งแต่ 55 ปี ขึ้นไป ถึงอายุ 85 ปี หรือมากกว่านั้น  และผู้มีเงินได้ต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยครบถ้วนแล้ว ก่อนได้รับผลประโยชน์เงินบำนาญ

  1.  กรณีเป็นการจ่ายเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญเพียงอย่างเดียว  หรือแบบบำนาญและแบบอื่นด้วย แล้วแต่กรณี ให้ยกเว้นตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ตามข้อ 2(61) วรรคหนึ่ง แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)  และให้ยกเว้นเพิ่มขึ้นอีก สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ ตามหลักเกณฑ์  ดังนี้

        2.1  ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท  ทั้งนี้  เมื่อได้รวมกับที่ได้จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ  หรือจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แล้วแต่กรณี หรือจ่ายเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนการออมแห่งชาติ  ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในปีภาษีเดียวกัน

        2.2  กรณีสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียว ให้ยกเว้นสำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญเพิ่มขึ้น ตามข้อ 2(1) ของสามีหรือภริยาซึ่งเป็นฝ่ายผู้มีเงินได้

ซึ่งหากกล่าวโดยสรุปง่ายๆ ในส่วนของกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญนั้นก็คือ จะต้องมีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ต้องซื้อประกันจากบริษัทประกันที่ประกอบกิจการในไทย และ จะต้องเริ่มทยอยจ่ายเงินบำนาญตั้งแต่อายุ 55 ปีขึ้นไปถึงอายุ 85 ปีหรือมากกว่านั้น โดยมูลค่าที่หักค่าใช้จ่ายได้นั้นต้องไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินและไม่เกิน 200,000 บาท และหากนำไปรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือจ่ายเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพแล้วจะต้องไม่เกิน 500,000 บาท

เป็นอย่างไรกันบ้างครับสำหรับรายละเอียดในการหักภาษีของกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญ ซึ่งกรมธรรม์นี้ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการจัดการภาษีนะครับ และในฉบับหน้าผมจะมาพูดถึงรายละเอียดการลดหย่อนภาษีตัวสุดท้ายนั่นก็คือการลดหย่อนภาษีจากแบบประกันสุขภาพนั่นเองครับ แล้วพบกันในฉบับหน้านะครับ