ประกันภัย…ไม่ใช่เรื่องยาก (ตอนที่1)

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกันอีกครั้งกับสาระความรู้ดีๆ เกี่ยวกับการประกันภัย การวางแผนภาษี และการวางแผนทางการเงินในคอลัมน์หน้าต่างประกันภัยเป็นประจำทุกสัปดาห์ สำหรับวันนี้ผมได้นำสาระความรู้ดีๆเกี่ยวกับการทำประกันชีวิตมาบอกเล่าเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจ และเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ทราบว่าประกันชีวิตนั้นไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป โดยเฉพาะถ้าท่านผู้อ่านมีความเข้าใจและเลือกวางแผนทำประกันชีวิตได้ตรงความต้องการ ประกันภัยจะช่วยในการถ่ายโอนความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี และยังมีสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขต่างๆ อีกมากมาย ซึ่งหากท่านผู้อ่านมีความเข้าใจดีแล้วจะทำให้ท่านได้รับประโยชน์อย่างสูงสุดจากการทำประกันชีวิตอย่างแน่นอน

เรื่องแรกที่ท่านผู้อ่านควรต้องรู้สำหรับการทำประกันชีวิตก็คือเรื่อง “ความสมบูรณ์ของสัญญาประกันภัย” โดยสัญญาประกันชีวิตจะเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ได้นั้นก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยได้มีการแถลงข้อมูลสุขภาพในใบคำขอเอาประกันภัยและได้มีการชำระค่าเบี้ยประกันภัยงวดแรกแล้ว ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นข้อแตกต่างระหว่างการทำประกันวินาศภัย และการทำประกันชีวิต เพราะหากไม่ได้มีการชำระเบี้ยประกันภัยมายังบริษัทสัญญาประกันชีวิตจะไม่เกิดขึ้น ในขณะที่การทำประกันวินาศภัย เช่น ประกันภัยรถยนต์ กรณีนี้สัญญาประกันวินาศภัยสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่วันที่ตกลงทำประกันภัยแม้ว่าจะยังไม่ได้มีการชำระเบี้ยประกันเข้ามาก็ตาม นอกจากนี้การแถลงข้อมูลสุขภาพของผู้เอาประกันภัยนั้นจะต้องเป็นการแถลงความเป็นจริงอีกด้วย เพราะหากมีการปกปิดข้อเท็จจริงและมีการแถลงข้อมูลอันเป็นความเท็จอาจทำให้บริษัทประกันภัยสามารถใช้สิทธิในการบอกล้างสัญญาประกันภัยฉบับนั้นได้นะครับ

เรื่องที่สำคัญต่อมาก็จะเกี่ยวเนื่องกับเรื่องความสมบูรณ์ของสัญญาประกันภัยนั่นก็คือ “การโต้แย้งหรือคัดค้านความไม่สมบูรณ์ของสัญญาประกันภัย”  ซึ่งเงื่อนไขในข้อนี้จะเกี่ยวข้องกับการแถลงข้อมูลสุขภาพของผู้เอาประกันภัย โดยหากผู้เอาประกันภัยมีการแถลงข้อมูลสุขภาพที่ไม่ถูกต้องตรงความเป็นจริง อาจจะทำให้ถูกบริษัทประกันภัยบอกล้างความไม่สมบูรณ์ของสัญญาประกันชีวิตนั้นได้ภายในระยะเวลาสองปีนับจากทำสัญญาประกันภัยหรือวันที่ต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งจะทำให้ผู้เอาประกันภัยไม่ได้รับความคุ้มครองตามที่ได้ทำประกันภัยไว้ ดังนั้นเรื่องการแถลงข้อมูลสุขภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้เอาประกันภัยควรจะให้ข้อมูลตามความเป็นจริง เพราะจะทำให้ผู้เอาประกันภัยได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขและผลประโยชน์ของกรมธรรม์นั้นอย่างเต็มที่

เรื่องน่ารู้อีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่อง “การที่ผู้เอาประกันภัยฆ่าตัวตายหรือถูกฆาตกรรม” โดยถ้าหากปรากฎว่าผู้เอาประกันภัยได้มีการฆ่าตัวตายด้วยใจสมัครภายในหนึ่งปีนับจากวันทำสัญญาหรือวันที่ต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัย ในกรณีเช่นนี้บริษัทประกันภัยจะไม่ให้ความคุ้มครองกับผู้เอาประกันภัย ส่วนในกรณีที่หากปรากฎว่าผู้เอาประกันภัยถูกฆาตกรรมโดยผู้รับประโยชน์ กรณีเช่นนี้บริษัทก็จะไม่ให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกัน โดยบริษัทประกันภัยจะคืนเพียงค่าเวนคืนกรมธรรม์หรือค่าเบี้ยประกันภัยที่ได้ชำระมาแล้วให้กับทายาทของผู้เอาประกันภัยเท่านั้น แต่ในกรณีที่หากกรมธรรม์ประกันภัยนั้นมีผู้รับประโยชน์หลายรายและผู้เอาประกันภัยถูกผู้รับประโยชน์เพียงบางคนฆ่า กรณีเช่นนี้บริษัทประกันภัยจะยังให้ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยจะจ่ายเงินสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเงินเอาประกันภัยให้กับผู้รับประโยชน์คนที่ไม่มีส่วนร่วมในการฆ่าผู้เอาประกันภัยตามส่วน

จากเงื่อนไขต่างๆ ของกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ผมได้นำมาเสนอในวันนี้ จะเห็นได้ว่าการทำประกันภัยนั้นไม่ใช่เรื่องยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงื่อนไขต่างๆ ตามกรมธรรม์เหล่านี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งถ้าหากท่านผู้อ่านได้ทำความเข้าใจอย่างถูกต้องจะทำให้ท่านไม่มีปัญหาตามมาในการเรียกร้องเงินสินไหมทดแทนกรณีหากเมื่อมีเหตุเกิดขึ้นตามที่ตกลงไว้ในสัญญาประกันภัย นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขที่น่าสนใจของกรมธรรม์ประกันชีวิตอีกหลายๆ เรื่อง ซึ่งผมจะนำมาบอกเล่าให้ท่านผู้อ่านได้ทราบในสัปดาห์หน้า สำหรับวันนี้สวัสดีครับ