มั่นใจในประกันชีวิต

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกับคอลัมน์หน้าต่างประกันภัยกันเป็นประจำทุกสัปดาห์นะครับ ถ้าหากจะกล่าวถึงการทำประกันชีวิต คงมีท่านผู้อ่านหลายท่านที่ยังอาจมีความกังวลใจอยู่ไม่น้อยและยังไม่กล้าตัดสินใจเลือกทำประกันชีวิต เป็นเพราะไม่มีความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต หรือไม่กล้าทำเพราะไม่มั่นใจในบริษัทประกันชีวิตก็ตาม โดยในวันนี้ผมจะมานำเสนอข้อมูลดีๆ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ตัดสินใจทำประกันชีวิตได้ง่ายยิ่งขึ้น และเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับท่านผู้อ่านทุกท่านกันครับ

เริ่มแรกคงจะต้องกล่าวถึงการจัดตั้งบริษัทประกันชีวิต ซึ่งบริษัทประกันชีวิตบริษัทใดจะจัดตั้งขึ้นได้นั้น บริษัทประกันชีวิตนั้นจะต้องได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตซึ่งได้รับการอนุมัติโดยคณะรัฐมนตรี และเนื่องด้วยธุรกิจประกันชีวิตมีรูปแบบการระดมเงินในลักษณะของเบี้ยประกัน ดังนั้นธุรกิจดังกล่าวนี้จึงได้มีหน่วยงานของรัฐที่เข้ามาควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจนั่นก็คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือที่เรียกย่อๆ ว่า “สำนักงาน คปภ.”  ซึ่งสำนักงาน คปภ. มีบทบาทและหน้าที่ในการกำกับดูแลและส่งเสริมพัฒนาธุรกิจประกันภัยให้มีประสิทธิภาพ และคุ้มครองประชาชนให้ได้รับสิทธิประโยชน์จากการประกันภัย

สำหรับบริษัทใดที่มีความประสงค์จะประกอบธุรกิจประกันชีวิต บริษัทนั้นจะต้องปฎิบัติตามหลักเกณฑ์และมีคุณสมบัติตามที่พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2535 กำหนดไว้ เช่น ต้องจดทะเบียนจัดตั้งในรูปแบบบริษัทมหาชนจำกัด ต้องวางหลักทรัพย์เป็นประกัน และดำรงเงินกองทุนตามที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งกฎหมายดังกล่าวยังกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทและคุณสมบัติของกรรมการผู้ซึ่งทำหน้าที่บริหารกิจการของบริษัทประกันชีวิต เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เอาประกันภัยได้ว่าบริษัทประกันชีวิตมีนักบริหารที่เก่งและมีความสามารถในการบริหารกิจการของบริษัทให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพได้

เมื่อได้มีการจัดตั้งบริษัทประกันชีวิตขึ้นแล้ว บริษัทประกันชีวิตมีหน้าที่ต้องปฎิบัติตามที่กฎหมายกำหนด เช่น กรณีที่บริษัทประกันชีวิตจะขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน คปภ. ก่อนจึงจะมีการเสนอขายให้กับผู้เอาประกันภัยได้ หรือกำหนดคุณสมบัติของคนกลางประกันภัยที่ทำหน้าที่ในการชักชวน หรือชี้ช่องให้บุคคลใดทำประกัน ซึ่งบุคคลดังกล่าวนี้ถือว่ามีความสำคัญต่อธุรกิจประกันชีวิตเป็นอย่างมาก โดยคนกลางประกันภัยจะต้องได้รับใบอนุญาตในการขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตก่อนที่จะทำการเสนอขายให้กับประชาชน หรือในการจ่ายจำนวนเงินใดๆ ตามกรมธรรม์ประกันชีวิตให้กับผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ โดยกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมไม่ล่าช้าจนเกิดความเดือนร้อนแก่ประชาชน ตลอดถึงการกำหนดให้บริษัทมีหน้าที่ต้องรายงานผลการดำเนินงานของบริษัทให้ทางสำนักงาน คปภ. ทราบด้วย

นอกจากนี้พระราชบัญญัติดังกล่าวยังได้กำหนดให้มีกองทุนประกันชีวิตขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเจ้าหน้าหนี้ (ผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับประโยชน์) ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณีที่บริษัทประกันชีวิตล้มละลาย หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต โดยเจ้าหนี้แต่ละรายจะได้รับชำระหนี้จากกองทุนประกันชีวิตไม่เกิน 1,000,000 บาท การคุ้มครองดังกล่าวนี้มีลักษณะเดียวกันกับการคุ้มครองเงินฝากของกองทุนคุ้มครองเงินฝากของธนาคารนั่นเอง และในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ไม่มารับเงินกับบริษัทประกันชีวิตภายในกำหนดอายุความนั้น ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวยังกำหนดให้บริษัทประกันชีวิตมีหน้าที่นำส่งเงินที่ยังไม่มารับเข้ากองทุนประกันชีวิตภายใน 1 เดือน นับแต่วันครบกำหนดอายุความ ซึ่งผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ยังสามารถรับเงินดังกล่าวได้ โดยติดต่อขอรับเงินจากกองทุนประกันชีวิตได้โดยตรง

จากข้อมูลที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น ก็พอจะเห็นได้ว่าธุรกิจประกันชีวิตไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะบริษัทประกันชีวิตมีหน้าที่ต้องปฎิบัติตามที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งยังมีหน่วยงานของรัฐคอยควบคุมและกำกับดูแล เพื่อให้ธุรกิจประกันชีวิตมีความมั่นคงและรักษาประโยชน์ของผู้ทำประกันภัย เมื่อทราบอย่างนี้แล้วผมก็หวังว่าท่านผู้อ่านจะเกิดความมั่นใจในบริษัทประกันชีวิตมากยิ่งขึ้นนะครับ แล้วกลับมาพบกับสาระความรู้ดีๆ ได้ใหม่ในครั้งหน้า สำหรับวันนี้สวัสดีครับ