มารู้จักประกัน “MRTA” กันครับ

มารู้จักประกัน “MRTA” กันครับ

 

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่านวันนี้กลับมาพบกับคอลัมน์หน้าต่างประกันภัยเหมือนเดิมนะครับ ซึ่งวันนี้ผมจะให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับประกัน “MRTA” กันครับ ประกัน “MRTA” นั้นย่อมาจาก “Mortgage Reducing Term Assurance” ซึ่งก็คือประกันสินเชื่อแบบที่เรารู้จักกันนี่แหละครับ (โดยทั่วไป ท่านผู้อ่านส่วนมากคงรู้จักในตอนที่ยื่นขอสินเชื่อบ้านที่ธนาคาร และมีพนักงานพูดชื่อประกันนี้ เพื่อขอให้เราทำขึ้นมาครับ) โดยความหลักของประกันตัวนี้ก็คือ จะจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้ให้กู้ และผู้รับผลประโยชน์ของผู้กู้ เมื่อผู้กู้ (ผู้ทำประกัน) เสียชีวิตหรือทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวร

โดยประกันตัวนี้ จะเป็นประกันชีวิตประเภทที่ทุนประกันลดลงตลอดเวลา!! แปลกใช่มั้ยครับเพราะโดยปกติแล้วกรมธรรม์ประกันชีวิตโดยทั่วไป จะมีอัตราทุนประกันคงที่หรือเพิ่มขึ้นเท่านั้น ทำให้หลายๆ ท่านรู้สึกสับสน และรู้สึกสงสัยว่าประกันชีวิตแบบนี้นั้น เอาเปรียบผู้ทำประกันหรือไม่ แต่ถูกแล้วครับ เพราะกรมธรรม์นี้นั้น เน้นคุ้มครองสินเชื่อที่ผู้ทำประกันได้ทำเรื่องยื่นขอสินเชื่อไว้ โดยสมมติฐานเบื้องต้นคือ หนี้ที่เรามีอยู่นั้นจะลดลงเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่เราผ่อนชำระ ดังนั้นความคุ้มครองที่เราควรได้รับก็จะลดลงตามลำดับด้วย

หลายๆ ท่านอาจจะส่งสัยว่า ประกัน MRTA ต้องทำทุกครั้ง เมื่อเรายื่นเรื่องขอสินเชื่อหรือไม่?  ซึ่งจริงๆ แล้วประกันนี้ ธนาคารไม่มีสิทธิที่จะบังคับให้ผู้กู้ต้องทำครับ แต่การที่เราทำนั้น ก็จะทำให้ความเสี่ยงในการปล่อยวงเงินสินเชื่อต่ำลง ส่งผลให้ทางธนาคารตัดสินใจในการปล่อยสินเชื่อได้ง่ายขึ้น และยังส่งผลให้ธนาคารเสนออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถูกลงอีกด้วยครับ

ส่วนในกรณีที่ธนาคารให้เราตัดสินใจเลือกระยะเวลาความคุ้มครองนั้น เราควรดูความต้องการในการผ่อนชำระของเราเป็นหลัก ซึ่งควรตัดสินใจซื้อประกันในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน เช่น หากเราตั้งใจจะผ่อนชำระ 30 ปี ก็ควรจะซื้อความคุ้มครองที่ระยะเวลา 30 ปีด้วย ถึงแม้ว่า ราคาจะแพงกว่าระยะสั้น แต่เราจะได้ความคุ้มครองที่ใกล้เคียงที่สุดกับภาระที่เหลือของเรา ซึ่งหากเราซื้อความคุ้มครองที่ระยะเวลาสั้นจนเกินไปแล้ว เกิดเหตุไม่คาดฝันกับเราขึ้นมา ภาระหนี้สินที่เราเหลืออยู่ก็จะตกเป็นของลูกหลาน แต่ในทางกลับกัน หากเราซื้อในระยะเวลาที่นานขึ้น เมื่อเราไม่อยู่แล้ว นอกจากลูกหลานจะไม่ต้องมารับภาระหนี้สินของเรา ยังอาจจะได้เงินเพิ่มเติมอีกด้วย หากความคุ้มครองที่เหลืออยู่มีมากกว่ามูลค่าหนี้สินคงเหลือ ลูกหลานของเราก็จะได้รับเงินส่วนต่างจำนวนนี้ครับ

เป็นอย่างไรบ้างครับ ผู้อ่านทุกท่านคงมีความเข้าใจ และเห็นถึงข้อดี ข้อเสีย ของประกัน MRTA กันเพิ่มมากขึ้นแล้วนะครับ และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้อ่านทุกท่านจะได้ประโยชน์ และนำข้อมูลไปปรับใช้กับรูปแบบการขอสินเชื่อของตัวเองกันนะครับ แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีครับ