มีประกันสังคมอยู่แล้ว ยังจำเป็นต้องซื้อประกันสุขภาพอีกหรือไม่

      สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกับคอลัมน์หน้าต่างประกันภัยที่จะมานำเสนอสาระความรู้ดีๆ เกี่ยวกับการประกันภัย ภาษี และการวางแผนทางการเงินให้กับท่านผู้อ่านทุกท่านเป็นประจำทุกสัปดาห์ครับ ท่านผู้อ่านที่อยู่ในวัยทำงานทุกท่านคงจะมีสิทธิการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานอย่าง “ประกันสังคม” กันอยู่แล้วใช่ไหมครับ แล้วท่านผู้อ่านเคยสงสัยกันหรือไม่ว่าในเมื่อเรามีประกันสังคมอยู่แล้ว เรายังจำเป็นต้องซื้อประกันสุขภาพจากบริษัทประกันอีกหรือไม่ และสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับนั้นเหมือนหรือแตกต่างกันแค่ไหน คอลัมน์หน้าต่างประกันภัยในวันนี้เราจะมาหาคำตอบกันครับ

หากพูดถึง “ประกันสังคม” ท่านผู้อ่านคงทราบกันดีอยู่แล้วว่าประกันสังคมนั้นเป็นการสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตให้แก่ผู้ประกันตนที่มีรายได้และมีอายุตั้งแต่ 15 – 60 ปี โดยบังคับให้ผู้ประกันตนและนายจ้างต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมเป็นประจำทุกเดือน เพื่อเป็นหลักประกันให้แก่ผู้ประกันตนให้ได้รับประโยชน์ทดแทนเมื่อต้องประสบกับเหตุการณ์ต่างๆ เช่น การเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต รวมทั้งกรณีอื่นๆ ด้วย โดยขั้นต่ำที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบนั้นจะอยู่ที่ 1,650 บาท ด้วยลักษณะของกองทุนประกันสังคมดังกล่าวจึงเป็นการบังคับให้ผู้เป็นลูกจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่สำหรับ “ประกันสุขภาพ” นั้นจะแตกต่างกันครับ เพราะการทำประกันสุขภาพจะเป็นไปโดยความสมัครใจของผู้เอาประกันเองว่าจะเลือกทำหรือไม่ และสามารถเลือกความคุ้มครองตามความต้องการและจำนวนเงินค่าเบี้ยประกันภัยที่จะสามารถจ่ายได้ด้วย ซึ่งการทำประกันสุขภาพก็ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรองรับความเสี่ยงและบรรเทาความเสียหายจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้เช่นเดียวกับประกันสังคมนั่นเองครับ

ในมุมของ ”สิทธิประโยชน์” นั้นคงต้องขึ้นอยู่กับว่าท่านผู้อ่านใช้บริการทางการแพทย์ด้านใดบ้าง เช่น เข้ารับการรักษาในฐานะเป็นผู้ป่วยนอกเท่านั้น ประกันสังคมก็คงจะครอบคลุมได้พอสมควรแล้วครับ เพราะผู้ประกันตนสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นอยู่แล้ว แต่หากเป็นการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนจะสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 1,000 บาท หากมีส่วนต่างหรือมีการจ่ายยานอกบัญชีผู้ป่วยก็คงต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เอง หรือหากท่านผู้อ่านเข้ารับการรักษาในฐานะเป็นผู้ป่วยใน ค่าใช้จ่ายที่ต้องมีแน่ๆ คือ ค่าห้องและค่าอาหาร ซึ่งประกันสังคมนั้นสามารถเบิกได้ไม่เกินวันละ 700 บาทเท่านั้น ซึ่งจะเห็นว่าในอัตรา 700 บาท ส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบของห้องธรรมดาครับ หากต้องการห้องพิเศษผู้ป่วยก็คงต้องจ่ายเงินเพิ่มเอง ซึ่งหากท่านผู้อ่านมีการทำประกันสุขภาพไว้ด้วย ส่วนต่างของค่ารักษาพยาบาลเช่นนี้ท่านผู้อ่านก็สามารถใช้สิทธิของประกันสุขภาพได้ครับ

ข้อจำกัดอีกสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดของประกันสังคมก็คือ “สถานพยาบาล” โดยจะเห็นว่าประกันสังคมนั้นผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิได้เฉพาะโรงพยาบาลที่ได้เลือกไว้เท่านั้น เว้นแต่เป็นการเจ็บป่วยขั้นฉุกเฉินจริงๆ จึงจะสามารถใช้สิทธิในโรงพยาบาลอื่นได้ ดังนั้นหากท่านผู้อ่านเกิดเจ็บป่วยในระหว่างการเดินทาง เจ็บป่วยขณะอยู่ต่างจังหวัด ไม่สามารถเดินทางมารักษาในโรงพยาบาลที่เลือกไว้ได้ ท่านผู้อ่านก็คงต้องควักเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาลทุกอย่างเอง แต่ถ้าหากมีประกันสุขภาพแล้วหล่ะก็ท่านผู้อ่านก็ไม่ต้องกังวลเรื่องของสถานพยาบาลเลยครับ เพราะบริษัทประกันส่วนใหญ่มีโรงพยาบาลที่อยู่ในเครือข่ายครอบคลุมอยู่ทั่วประเทศอยู่แล้ว ท่านผู้อ่านก็สามารถใช้สิทธิได้เลยโดยไม่ต้องสำรองจ่ายไปก่อนครับ

จะเห็นได้ว่าสิทธิประกันสังคมแม้จะมีสิทธิประโยชน์ในการรักษาให้กับท่านผู้อ่านก็ตาม แต่ก็อาจจะไม่คลอบคลุมหรือตอบสนองความต้องการได้เพียงพอ ดังนั้นการตัดสินใจว่าจะซื้อประกันสุขภาพเพิ่มอีกหรือไม่ก็คงต้องพิจารณาจากตัวของท่านผู้อ่านก่อนแล้วครับ ว่ามีความจำเป็นที่จะต้องใช้บริการทางการแพทย์มากแค่ไหนและบ่อยครั้งแค่ไหน เพื่อจะได้วางแผนได้อย่างถูกต้องและคุ้มค่าที่สุดครับ แล้วกลับมาพบกับสาระความรู้ดีๆ ได้ใหม่ในครั้งหน้า สำหรับวันนี้สวัสดีครับ