วางแผนลดภาษีกับประกันแบบบำนาญ

 วางแผนลดภาษีกับ "ประกันชีวิตแบบบำนาญ"
 

โดย คุณธัญญะ ซี่อวาจา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ
บริษัท แอ๊ดวานซ์ ไลฟ์ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
                thanya.s@localhost โทร. 02-648-3333

          สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกับสาระความรู้ดีๆ เกี่ยวกับการประกันภัย การวางแผนภาษี และการวางแผนทางการเงิน ทางคอลัมน์หน้าต่างประกันภัยเป็นประจำทุกสัปดาห์นะครับ

          ในวันนี้ผมจะมานำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับทางเลือกในการวางแผนลดหย่อนภาษีให้กับท่านผู้อ่านได้ทราบกันอีกหนึ่งแนวทางนะครับ นั่นก็คือการทำประกันชีวิตแบบบำนาญโดย “ประกันชีวิตแบบบำนาญ” (Annuity Life Insurance) จะมีลักษณะเป็นการมุ่งเน้นในเรื่องของการออมเงินเป็นหลัก ซึ่งจะแตกต่างจากการทำประกันชีวิตแบบทั่วๆ ไป ที่ส่วนใหญ่มุ่งเน้นในเรื่องของการคุ้มครองชีวิต และร่างกายเป็นสำคัญและประกันชีวิตแบบบำนาญนี้ก็ยังเป็นอีกทางเลือกนึงที่นิยมกันมาก สำหรับผู้ที่ต้องการเก็บออมเงินไว้เป็นค่าใช้จ่ายในยามชราภาพ หรือการเกษียณอายุอีกด้วยครับ

         นอกจากจะสามารถตอบโจทย์ในเรื่องการออมเงินเพื่อการเกษียณแล้ว ประกันชีวิตแบบบำนาญยังได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐในการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติมจากการทำประกันชีวิตประเภทอื่นๆ เช่น หากท่านผู้อ่านได้มีการทำประกันชีวิตเอาไว้อยู่แล้ว จะสามารถนำค่าเบี้ยที่ชำระไปมาลดหย่อนภาษีได้ 100,000 บาท และต่อมาหากท่านได้มีการทำประกันชีวิตแบบบำนาญเอาไว้อีก ท่านก็จะสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญมาหักลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมได้อีก 200,000 บาท แต่จำนวนเงิน 200,000 บาทนี้จะต้องไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินในปีนั้นๆ และทั้งนี้เมื่อนำไปรวมกับค่าลดหย่อนอื่นๆ ของท่าน อาทิ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ครู และ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพแล้ว จะต้องไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี ในปีภาษีเดียวกันด้วยนะครับ  

          โดยในการจะนำเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญมาลดหย่อนภาษีได้ จะต้องเป็นไปตามเกณฑ์ ดังนี้นะครับ

          (1) จะต้องเป็นการทำประกันชีวิตที่กำหนดระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป โดยการนับระยะเวลาเอาประกันภัยเริ่มนับตั้งแต่อายุที่เริ่มทำประกันชีวิต จนถึงอายุสุดท้ายที่รับบำนาญ
          (2) ได้ทำประกันชีวิตกับบริษัทรับประกันภัยที่ประกอบกิจการในประเทศไทย
          (3) จะต้องมีการกำหนดช่วงอายุของการจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญเมื่อผู้มีเงินได้มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ถึงอายุ 85 ปี หรือมากกว่านั้น และผู้มีเงินได้ต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยครบถ้วนแล้วก่อนได้รับผลประโยชน์เงินบำนาญ
          (4) ไม่มีการจ่ายผลประโยชน์อื่นใดก่อนรับเงินบำนาญ ยกเว้นผลประโยชน์กรณีเสียชีวิต
          (5) การจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญในช่วงรับบำนาญ ต้องกำหนดจ่ายผลประโยชน์อย่างสม่ำเสมอ เช่น รายปี รายเดือน เป็นต้น
 
          เห็นมั้ยครับว่า ประกันชีวิตแบบบำนาญมีประโยชน์มากแค่ไหน นอกจากจะทำให้เราสามารถออมเงินไว้เป็นรายได้ในยามชราภาพหรือเกษียณอายุแล้ว ยังสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตแบบบำบาญมาลดหย่อนภาษีได้เพิ่มเติมจากการทำประกันชีวิตโดยทั่วไปได้สูงถึง 200,000 บาทเลยนะครับหากท่านผู้อ่านมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามเพิ่มเติมสามารถส่งอีเมล์มาสอบถามกับผมโดยตรงได้ที่ thanya.s@localhostโดยผมยินดีที่จะตอบคำถามให้กับทุกท่านนะครับ แล้วอาทิตย์หน้ากลับมาพบกับสาระความรู้ดีๆ ได้ใหม่ที่คอลัมน์หน้าต่างประกันภัยนี้อีกครั้ง สำหรับวันนี้สวัสดีครับ