เทคนิคการคำนวณทุนประกันให้เหมาะสม

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกับคอลัมน์หน้าต่างประกันภัยที่จะมานำเสนอสาระความรู้ดีๆ เกี่ยวกับการประกันภัย ภาษี และการวางแผนทางการเงินให้กับท่านผู้อ่านทุกท่านเป็นประจำทุกสัปดาห์ครับ เป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างมากที่ในทุกวันนี้คนไทยจำนวนไม่น้อยหันมาให้ความสำคัญและสนใจวางแผนเก็บออมเงินในรูปแบบการทำประกันชีวิตกันเพิ่มมากขึ้น เพราะนอกจากประกันชีวิตจะเป็นทางเลือกในการลงทุนและเก็บออมเงินเพื่อใช้ในอนาคตแล้ว การทำประกันชีวิตยังช่วยถ่ายโอนความเสี่ยง และบรรเทาความเดือดร้อนในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันกับผู้เอาประกันภัยอีกด้วย โดยเทคนิคง่ายๆ ในการทำประกันก็คือการทำประกันชีวิตที่เป็นไปตามความต้องการของเรามากที่สุดนั่นเอง ซึ่งในทุกวันนี้บริษัทประกันชีวิตแต่ละแห่งจะออกผลิตภัณฑ์มาหลากหลาย ซึ่งแต่ละแบบของกรมธรรม์ก็จะมีความเหมาะสมและตอบสนองความต้องการของแต่ละคนที่แตกต่างกันออกไป

และหากท่านผู้อ่านกำลังตัดสินใจเลือกซื้อประกันชีวิตอยู่ แต่อาจจะไม่ทราบว่าควรจะมีประกันชีวิตจำนวนกี่กรมธรรม์ หรือกำหนดทุนประกันภัยมากน้อยเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอ ในวันนี้ผมก็มีวิธีการคำนวณทุนประกันที่เหมาะสมมานำเสนอเพื่อให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้นำไปปรับใช้ตามความต้องการของท่านผู้อ่านแต่ละท่าน ซึ่งแนวคิดในการคำนวณทุนประกันที่เหมาะสมอย่างง่ายๆ มี 2 วิธีด้วยกัน          

การคำนวณตามศักยภาพ (Potential Base) ในกรณีนี้จะมองว่าการประกันชีวิตก็คือ การประกันคุณค่าทางเศรษฐกิจของบุคคล โดยมูลค่าที่แท้จริงของบุคคลก็คือจำนวนรายได้ทั้งหมดที่คาดว่าบุคคลนั้นจะสามารถทำได้ในช่วงชีวิตที่เหลือหรือจนกว่าจะเกษียณอายุ อย่างไรก็ตามหากเราใช้การคำนวณในลักษณะดังกล่าวแล้วจำนวนเงินที่คำนวณได้มักจะสูงเกินกว่าที่เราจะสามารถจ่ายเงินเพื่อทำประกันชีวิตได้ ดังนั้นจึงมีการกำหนดไว้เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงว่าบุคคลควรมีวงเงินประกันประมาณเท่ากับ 5 เท่าของรายได้ต่อปี เช่น ใจเริงมีรายได้ต่อปีรวมทั้งสิ้น 1,000,000 บาท ทุนประกันที่เหมาะสมที่ใจเริงควรจะทำไว้ก็จะเท่ากับ 1,000,000 x 5 หรือ เท่ากับจำนวน 5,000,000 บาทนั่นเอง ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่าวงเงินประกัน 5 เท่าของรายได้ต่อปีนั้นเป็นช่วงเวลาและจำนวนพอสมควรที่คนในครอบครัวจะสามารถปรับตัวและหารายได้อื่นมาทดแทนรายได้ในส่วนดังกล่าว

การคำนวณตามภาระค่าใช้จ่าย (Need Base) วิธีนี้จะใช้การคำนวณจากภาระค่าใช้จ่ายที่ครอบครัวต้องแบกรับถ้าหากมีการสูญเสียเกิดขึ้น เช่น ค่าใช้จ่ายรายเดือนของครอบครัว ค่าเล่าเรียนบุตร ค่าเลี้ยงดูคุณพ่อคุณแม่ หนี้สินคงค้าง หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งนี้ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะมีการเตรียมการไว้ล่วงหน้าบ้างแล้ว หรืออาจจะซื้อทรัพย์สินเก็บไว้ซึ่งสามารถนำทรัพย์สินเหล่านั้นไปเปลี่ยนเป็นเงินในอนาคตเพื่อรับภาระเหล่านี้แทนได้ ซึ่งการทำประกันชีวิตนั้นก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ท่านผู้อ่านจะสามารถนำเงินผลประโยชน์ต่างๆ ที่ได้รับจากการประกันชีวิตมาชดเชยกับภาระค่าใช้จ่ายที่มีอยู่ได้ โดยวงเงินประกันที่ต้องการนั้นจะเท่ากับจำนวนเงินที่ยังขาดอยู่หลังจากการนำทรัพย์สิน เช่น ที่ดิน บ้าน รถยนต์ ทุนประกันที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน กองทุนต่างๆ หรือเงินทดแทนที่ได้รับเมื่อเสียชีวิตมาหักกับภาระค่าใช้จ่ายที่มีอยู่ โดยมีวิธีการคำนวณเป็นสมการง่ายๆ ก็คือ วงเงินประกัน = ภาระค่าใช้จ่าย – สินทรัพย์ที่มีอยู่ 

วิธีการคำนวณทุนประกันทั้ง 2 วิธีข้างต้นน่าจะพอเป็นแนวทางในการวางแผนทำประกันชีวิต ซึ่งท่านผู้อ่านอาจเลือกวิธีการที่เหมาะสมกับความต้องการของท่าน เพื่อให้คลอบคลุมกับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตกับคนในครอบครัว และยังสามารถส่งต่อเงินจำนวนหนึ่งไว้ให้กับครอบครัวเพื่อเป็นทุนในการดำเนินชีวิตต่อไปอีกด้วยครับ แล้วกลับมาพบกับสาระความรู้ดีๆ ได้ใหม่ในสัปดาห์หน้า สำหรับวันนี้สวัสดีครับ