ไขปริศนา…. “ภาษีมรดก” (จบ)

 ไขปริศนา…. “ภาษีมรดก” (จบ)
 

โดย คุณธัญญะ ซี่อวาจา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ
บริษัท แอ๊ดวานซ์ ไลฟ์ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
                thanya.s@localhost โทร. 02-648-3333

 

          สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน สำหรับคอลัมน์หน้าต่างประกันภัยในฉบับนี้ ก็มาถึงตอนจบของบทความเรื่อง ไขปริศนา… “ภาษีมรดก”แล้วนะครับ ซึ่งหากได้อ่านครบทุกตอน ผมเชื่อมั่นว่าจะทำให้ท่านผู้อ่านมีความรู้ และความเข้าใจในภาพรวมของภาษีมรดกของไทยทั้งหมดได้ดียิ่งขึ้น โดยเมื่อตอนที่แล้วผมได้เกริ่นเอาไว้ถึงหลักเกณฑ์ข้อที่ 1ที่เกี่ยวกับ “หลักการจัดเก็บภาษีมรดกของไทย” ตามร่าง พรบ. ภาษีมรดกในฉบับปัจจุบันไปแล้ว และในวันนี้ผมก็จะบอกเล่าถึงรายละเอียดที่สำคัญอื่นๆ ของร่างกฏหมายภาษีมรดกไทยกันต่อเลยนะครับ
 

2. ประเภทของทรัพย์สินที่ต้องนำมาเสียภาษี
          ตามร่างกฎหมายภาษีมรดกไทยในปัจจุบันได้กำหนดประเภทของทรัพย์มรดกที่ต้องนำมาเสียภาษี ได้แก่ 1.) กรณีบุคคลผู้มีสัญชาติไทย หรือมีภูมิลำเนาในประเทศไทยเป็นเวลาสามปีติดต่อกันถึงวันที่มีสิทธิได้รับมรดก โดยมรดกที่ต้องนำมาเสียภาษี คือ มรดกอันเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย และนอกประเทศไทย 2.) กรณีบุคคลที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย แต่ได้รับมรดกอันเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย โดยต้องนำทรัพย์สินดังกล่าวมาเสียภาษี ซึ่งตัวอย่างของทรัพย์สินที่ถูกนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษี ได้แก่ ที่ดิน บ้าน หุ้น รถยนต์  เงินฝาก เป็นต้น แต่ทั้งนี้กฎหมายได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ว่า หากเป็นกรณีที่คู่สมรสของเจ้ามรดกเป็นผู้ได้รับมรดก ไม่ต้องนำทรัพย์สินที่ได้เป็นมรดกดังกล่าวมาเสียภาษีแต่อย่างใดครับ

3. อัตราภาษีมรดกที่จะเรียกเก็บ
          ในส่วนนี้หมายถึง บุคคลที่ได้รับมรดกมีหน้าที่ที่จะต้องเสียภาษี โดยหากได้รับมรดกรวมกันแล้วมีมูลค่าเกินห้าสิบล้านบาทซึ่งจะต้องเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกินห้าสิบล้านบาทในอัตราร้อยละสิบของมูลค่ามรดกที่ได้รับ ซึ่งกฎหมายได้เปิดช่องให้รัฐบาลสามารถกำหนดอัตราภาษีลดลงได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาในภายหลังตามที่เห็นสมควรครับ

4. ภาษีการให้ (Gift Tax)
          ในประเทศต่างๆ มักจะมีการออกกฎหมายภาษีการให้ หรือ Gift Tax ควบคู่ไปกับภาษีมรดกเสมอ เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงการเสียภาษี ซึ่งในเรื่องนี้กฎหมายของไทยก็ได้มีการร่างแก้ไขเพิ่มเติมในประมวลรัษฎากรเพื่อให้สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีการรับมรดกดังกล่าวด้วยเช่นกัน เนื่องด้วยกฎหมายเดิมยังมีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในกรณีที่เป็น
             4.1 เงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทน ให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมาย
             4.2 เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส
             4.3 เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี

          โดยตามร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรได้มีการกำหนดให้มีการเรียกเก็บภาษีเงินได้ดังกล่าวในส่วนที่เกินกว่าสิบล้านบาท และกำหนดอัตราภาษีที่เรียกเก็บในอัตราร้อยละห้าของเงินได้ในส่วนที่เกิน ซึ่งการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้จะสามารถป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีมรดกได้ในระดับหนึ่งครับ

          อย่างไรก็ตามหากกฎหมายภาษีมรดก และกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรได้มีการประกาศบังคับใช้เมื่อใด ผมจะมาเล่าให้กับท่านผู้อ่านได้เห็นความชัดเจนของกฎหมายทั้งสองฉบับนี้อีกครั้งนะครับ สำหรับวันนี้ผมขอลาไปก่อน แล้วกลับมาพบกับสาระความรู้ดีๆ เกี่ยวกับการประกันภัย การวางแผนภาษี และการวางแผนทางการเงินได้ใหม่ในฉบับหน้า สวัสดีครับ..