ไขปริศนา… “ภาษีมรดก” ตอนที่ 1

 ไขปริศนา… “ภาษีมรดก” ตอนที่ 1
 

โดย คุณธัญญะ ซี่อวาจา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ
บริษัท แอ๊ดวานซ์ ไลฟ์ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
                thanya.s@localhostโทร. 02-648-3333

 

          สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกันอีกครั้งกับคอลัมน์หน้าต่างประกันภัย ที่จะมานำเสนอสาระความรู้ดีๆ เกี่ยวกับการประกันภัย การวางแผนภาษี และการวางแผนทางการเงินให้กับท่านผู้อ่านทุกท่าน หลังจากคราวที่แล้ว ผมได้ไขข้อข้องใจให้กับท่านผู้อ่านไปแล้วว่า เงินสินไหมทดแทนที่ได้รับจากการประกันชีวิตนั้นไม่ถือว่าเป็นมรดก ดังนั้นเมื่อไม่ใช่ทรัพย์มรดก หากในอนาคตข้างหน้ากฎหมายภาษีมรดกมีผลบังคับใช้ ก็จะไม่อยู่ในข่ายที่จะต้องนำไปคำนวณเพื่อเสียภาษีมรดกแต่อย่างใดครับ

          สำหรับบทความเรื่องของการไขปริศนาภาษีมรดกตอนแรกนี้ ผมอยากให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจหลักการของการจัดเก็บภาษีมรดกกันก่อนว่าเป็นอย่างไร ในประเทศต่างๆ มีการจัดเก็บภาษีมรดกหรือไม่ และเค้าใช้วิธีการเก็บภาษีมรดกอย่างไร ในอัตราเท่าใด เพื่อให้ผู้อ่านทุกท่านได้เห็นภาพกันมากขึ้นนะครับ

          ก่อนอื่นต้องขอบอกท่านผู้อ่านก่อนว่าภาษีมรดกไม่ใช่เรื่องที่แปลกใหม่สำหรับประเทศไทย อีกทั้งหลายๆประเทศในโลกก็ยังบังคับใช้อยู่ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีหลายๆประเทศที่ไม่มีภาษีประเภทนี้ หรือบางประเทศได้เคยมีการจัดเก็บภาษีมรดกแต่ปัจจุบันได้ยกเลิกไปแล้ว เช่น ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งได้มีการยกเลิกไปเพราะเหตุเพื่อเป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ หรือประเทศออสเตรเลีย ที่มีการยกเลิกเพราะเหตุจากการหลีกเลี่ยงการจัดเก็บภาษีมรดก ทำให้ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการเรียกเก็บภาษีมรดกไม่คุ้มค่ากับภาษีที่เรียกเก็บได้

          หากจะอธิบายกันแบบง่ายๆ “ภาษีมรดก” ก็คือการจัดเก็บภาษีประเภทหนึ่งของรัฐจากทรัพย์สินของผู้ตาย ส่วนการจะจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ตายก่อนแล้วค่อยมีการแบ่งทรัพย์สินนั้นให้ทายาท หรือจะจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินเฉพาะส่วนที่ทายาทได้รับ ก็ขึ้นอยู่กับวิธีการในการจัดเก็บภาษีมรดกของแต่ละประเทศ ซึ่งโดยทั่วไปสามารถแบ่งประเภทของภาษีมรดกได้เป็น 2 ประเภท คือ “ภาษีกองมรดก” และ “ภาษีการรับมรดก”

          ภาษีกองมรดก (Estate Tax) การจัดเก็บภาษีมรดกประเภทนี้จะเก็บจากกองทรัพย์สินของผู้ตายทั้งหมด โดยจะรวบรวมทรัพย์สินที่เป็นมรดกของผู้ตายทั้งหมดมาคำนวณและเสียภาษีก่อน หลังจากนั้นมีทรัพย์สินเหลือจากการชำระภาษีเท่าใดจึงค่อยทำการโอนให้กับทายาทของผู้ตาย ซึ่งการจัดเก็บภาษีแบบนี้ ข้อดีก็คือจะทำให้รัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้จำนวนมาก และเนื่องจากในการจัดเก็บภาษีจะมีการประเมินเพียงครั้งเดียวจึงทำให้สะดวกกับเจ้าหน้าที่และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเรียกเก็บภาษี แต่ในทางตรงกันข้ามวิธีการจัดเก็บแบบนี้มักจะถูกโต้แย้งถึงความไม่เป็นธรรมเพราะทำให้ทายาทของผู้ตายต้องเสียภาษีเป็นเงินจำนวนมาก อีกทั้งทายาททุกรายจะต้องรับภาระภาษีเท่ากันโดยไม่ได้คำนึงถึงสัดส่วนทรัพย์มรดกที่ทายาทแต่ละคนได้รับ โดยตัวอย่างของประเทศที่มีการจัดเก็บภาษีมรดกประเภทนี้ ก็จะมี เดนมาร์ก ฟินแลนด์ และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

         ภาษีการรับมรดก (Inheritance Tax) การจัดเก็บภาษีมรดกประเภทนี้ คือ การเก็บจากทายาท หรือบุคคลอื่นที่ได้รับทรัพย์มรดก เช่น ผู้รับพินัยกรรม โดยในกรณีนี้ผู้รับมรดกแต่ละคนมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องเสียภาษีจากมรดกที่ตนได้รับมา ซึ่งข้อดีของการจัดเก็บภาษีประเภทนี้คือผู้รับมรดกจะมีโอกาสในการเสียภาษีจำนวนที่น้อยกว่าประเภทแรก เนื่องจากจะเสียภาษีก็ต่อเมื่อมีการรับมรดกถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เช่น กฎหมายกำหนดว่าผู้รับมรดกตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไปจะต้องเสียภาษีมรดก หากในกรณีนี้ผู้ตายมีมรดก 15 ล้านบาท และได้แบ่งให้ทายาท 2 คน คนละ 7.5 ล้านบาท กรณีนี้ผู้รับมรดกทั้งสองรายก็ไม่ต้องเสียภาษีมรดกแต่อย่างใด แต่การจัดเก็บภาษีประเภทนี้จะมีข้อเสียสำหรับรัฐเพราะจะทำให้ได้รับภาษีที่น้อยลงเมื่อเทียบกับประเภทแรก อีกทั้งทำให้เกิดการล่าช้าและค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนของรัฐในการจัดเก็บภาษีมากขึ้นหากผู้ตายมีทายาทจำนวนมาก โดยตัวอย่างของประเทศที่มีการจัดเก็บภาษีมรดกประเภทนี้ ก็จะมีประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส เป็นต้น

          ในการจัดเก็บภาษีมรดกของแต่ละประเทศนั้นจะมีการกำหนดอัตราภาษีที่แตกต่างกัน เช่น ประเทศอังกฤษ จะใช้อัตราคงที่ร้อยละ 40 แต่ในกรณีที่มีการบริจาคตามที่กฎหมายกำหนดจะใช้อัตราคงที่ร้อยละ 36 ส่วนประเทศฝรั่งเศส จะแบ่งอัตราภาษีเป็น 2 ประเภท คือ อัตราก้าวหน้าและอัตราคงที่ โดยหากผู้รับมรดกเป็นคู่สมรส หรือ บิดามารดา หรือบุตรจะใช้อัตราก้าวหน้า ร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 40แต่หากผู้รับมรดกเป็นญาติที่ไม่ใช่บุคคลข้างต้นจะใช้อัตราคงที่ร้อยละ 30 นอกจากนี้ ยังพบว่าประเทศที่มีการเรียกเก็บภาษีมรดกในอัตราที่สูงสุดคือ สวิสเซอร์แลนด์ โดยมีอัตราภาษีสูงสุดที่เรียกเก็บสูงถึงร้อยละ 55รองลงมาคือ ญี่ปุ่น ร้อยละ 50

          ทั้งนี้โดยทั่วไปของการจัดเก็บภาษีมรดกของประเทศต่างๆทั่วโลกจะมีการออกกฎหมายภาษีการให้ (Gift Tax)ควบคู่ไปกับภาษีมรดกเสมอ เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีของผู้เสียภาษี เพราะภาษีมรดกจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการตายของเจ้าของทรัพย์สิน จึงหลีกเลี่ยงการเสียภาษีด้วยการโอนเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินก่อนที่เจ้าของทรัพย์สินตัวจริงจะตาย ดังนั้นในแต่ละประเทศก็จะออกกฎหมายภาษีการให้นี้มาเรียกเก็บภาษีเสียก่อน โดยหากมีการโอนทรัพย์สินจากผู้โอนไปยังผู้รับโอนในขณะที่ผู้โอนมีชีวิตอยู่และต่อมาผู้โอนตายภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยทั่วไปจะกำหนดไว้ 5 ปี หรือ 7ปี ผู้รับโอนก็จะต้องมีหน้าที่เสียภาษีในกรณีนี้ด้วยครับ

          สำหรับในตอนต่อไปผมจะมานำเสนอให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพของกฎหมายภาษีมรดกของประเทศไทยว่าปัจจุบันกฎหมายภาษีมรดกของไทยอยู่ในขั้นตอนใด เราใช้หลักการในการจัดเก็บภาษีมรดกอย่างไร รวมทั้งอัตราภาษีที่จะมีการเรียกเก็บอยู่ในอัตราเท่าไหร่ ซึ่งน่าจะทำให้ท่านผู้อ่านสามารถเข้าใจภาษีมรดกของไทยได้อย่างถ่องแท้ และเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภาษีมรดกที่กำลังจะมีผลใช้บังคับได้ สำหรับวันนี้สวัสดีครับ…