ไขปริศนา… “ภาษีมรดก” (2)

 ไขปริศนา… “ภาษีมรดก” (2)


โดย คุณธัญญะ ซี่อวาจา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ
บริษัท แอ๊ดวานซ์ ไลฟ์ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
                thanya.s@localhostโทร. 02-648-3333

 

          สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกันอีกครั้งกับคอลัมน์หน้าต่างประกันภัยซึ่งจะนำเสนอสาระความรู้ดีๆ เกี่ยวกับการประกันภัย การวางแผนภาษี และการวางแผนทางการเงินมาแชร์ให้กับท่านผู้อ่านทุกท่านได้ทราบกันเป็นประจำ หลังจากคราวที่แล้วผมได้อธิบายหลักการของการจัดเก็บภาษีมรดกของประเทศต่างๆว่าโดยทั่วไปสามารถแบ่งประเภทของภาษีมรดกได้เป็น 2 ประเภท คือ ภาษีกองมรดก และภาษีการรับมรดก ดังนั้น การไขปริศนาภาษีมรดกตอนที่ 2 นี้ ผมจะมาบอกเล่าถึงร่างกฎหมายภาษีมรดกของไทยว่ามีหลักเกณฑ์ในการพิจารณากันอย่างไรบ้าง

          ก่อนอื่นต้องขอบอกผู้อ่านทุกท่านให้มีความเข้าใจตรงกันก่อนว่า พระราชบัญญัติภาษีมรดกของไทยนั้นปัจจุบันยังไม่มีผลบังคับใช้นะครับ เพราะยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หลักการทั้งหมดที่จะได้มาบอกเล่าในวันนี้เป็นร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรีมาแล้วแต่ยังอาจถูกนำไปแก้ไขได้ในการพิจารณาของ สนช. อย่างไรก็ตามอย่างน้อยที่สุดก็น่าจะทำให้ผู้อ่านทุกท่านได้เห็นภาพในเบื้องต้นของกฎหมายภาษีมรดกของไทยที่จะมีการใช้บังคับในเร็ววันนี้ได้

          อย่างที่เคยบอกผู้อ่านทุกท่านไปในคราวที่แล้วว่าภาษีมรดกไม่ใช่เรื่องที่แปลกใหม่สำหรับประเทศไทย ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะในอดีตที่ผ่านมาประเทศไทยได้เคยมีกฎหมายภาษีมรดกบังคับใช้ โดยมีการจัดเก็บภาษีมรดกมาแล้วตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2476 ซึ่งในตอนนั้นได้กำหนดเป็นพระราชบัญญัติอากรมฤดกและการรับมฤดก พ.ศ. 2476 อย่างไรก็ตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปในปี พ.ศ. 2487 ด้วยเหตุผลที่ว่าการจัดเก็บภาษีมรดกไม่สามารถจัดเก็บได้ในจำนวนที่แน่นอน อีกทั้งยังจัดเก็บได้น้อย ในขณะที่มีก็จะมีขั้นตอนในการดำเนินการจัดเก็บค่อนข้างมาก

          คราวนี้มาดูกันนะครับว่าร่างกฎหมายภาษีมรดกของไทยในปัจจุบันนั้น มีรายละเอียดและหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีกันอย่างไรบ้าง 
 
1 หลักการจัดเก็บภาษีมรดกของไทย

          ตามร่างกฎหมายในปัจจุบัน ประเทศไทยได้ใช้หลักการในการจัดเก็บภาษีมรดกประเภทที่เรียกว่า“ภาษีการรับมรดก” (Inheritance Tax) โดยการจัดเก็บนั้นจะไม่ได้นำทรัพย์มรดกทั้งหมดของเจ้ามรดกมาคำนวณเพื่อเสียภาษี แต่จะกำหนดให้เฉพาะผู้ได้รับมรดกเท่านั้นที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมรดก และกำหนดให้ผู้ได้รับมรดกแต่ละรายที่ได้รับทั้งหมดมีมูลค่ารวมกันเกินกว่าห้าสิบล้านบาทไม่ว่าจะได้รับมาในครั้งเดียวหรือหลายครั้งก็ตาม จะต้องเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกินมูลค่าดังกล่าว ส่วนมูลค่าของมรดกที่จะถูกนำมาคำนวณนั้นก็คือ มูลค่าของทรัพย์สินที่ได้รับเป็นมรดกทั้งหมดหักด้วยภาระหนี้สินที่ได้ตกทอดมาจากการรับมรดกนั่นเองครับ  

          ยกตัวอย่างเช่น นายปราณนท์ได้รับมรดกเป็นที่ดินจำนวน 200 ล้านบาทจากคุณหญิงแอบรักซึ่งเป็นมารดา แต่ปรากฎว่าคุณหญิงแอบรักมีหนี้สินเป็นเงินกู้ด้วยอีกจำนวน 160 ล้านบาท ดังนั้น ในกรณีนี้นายปราณนท์จึงมีมูลค่าของทรัพย์สินที่ได้รับเป็นมรดกเพียง 40 ล้านบาท เพราะต้องหักภาระหนี้สินที่ได้ตกทอดมาออกไปก่อน เมื่อมรดกที่นายปราณนท์ได้รับมีไม่ถึง 50 ล้านบาทจึงทำให้นายปราณนท์ไม่ต้องเสียภาษีมรดกแต่อย่างใดครับ
 
          นอกจากนี้แล้วยังมีรายละเอียดที่เกี่ยวกับประเภทของสินทรัพย์ที่ต้องนำมาเสียภาษี และอื่นๆ อีกมาก ซึ่งขอเก็บไว้ให้ติดตามกันในบทความฉบับหน้าครับ