ความสำคัญของ “การทำประกันภัยรถยนต์”

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกับคอลัมน์หน้าต่างประกันภัยที่จะมานำเสนอสาระความรู้ดีๆ เกี่ยวกับการประกันภัย ภาษี และการวางแผนทางการเงินให้กับท่านผู้อ่านทุกท่านเป็นประจำทุกๆ สัปดาห์ครับ อุบัติเหตุเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดและก็ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนท้องถนน ยิ่งถ้าหากเราเป็นผู้ขับขี่ที่ใช้รถใช้ถนนอยู่เป็นประจำยิ่งต้องใช้ความระมัดระวังเพิ่มขึ้นเป็นหลายเท่าตัว การทำ “ประกันภัยรถยนต์” สามารถช่วยกำจัดและถ่ายโอนความเสี่ยงจากอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี ซึ่งคอลัมน์ในวันนี้ผมจะพาท่านผู้อ่านทุกท่านไปทำความรู้จักกับการทำประกันภัยรถยนต์กันครับ

โดยการทำประกันภัยรถยนต์สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ 1) ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ และ 2) ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ

  1. ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ การทำประกันภัยประเภทนี้เป็นไปตามที่ พรบ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 กำหนดไว้ให้รถยนต์ทุกคันต้องทำประกันภัย โดยถือเป็นหน้าที่ของผู้ที่มีรถยนต์ทุกคนต้องทำตามกฎหมาย ซึ่งความคุ้มครองจากกรมธรรม์ประกันภัยประเภทนี้ก็จะคุ้มครองทั้งผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร และบุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหายจากรถ อย่างไรก็ตามวงเงินการคุ้มครองก็ไม่สูงมากนัก หากเป็นอุบัติเหตุใหญ่ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากผู้เป็นเจ้าของรถยนต์เองก็คงต้องควักเงินจ่ายเพิ่มเติมกันบ้างครับ
  2. ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ การประกันภัยที่ผู้เป็นเจ้าของรถยนต์เลือกซื้อเพิ่มเติมนอกเหนือจากประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ เพื่อเพิ่มความคุ้มครองในกรณีที่รถยนต์นั้นเสียหาย สูญหาย หรือไฟไหม้ หรือไปทำให้ผู้อื่น หรือทรัพย์สินของผู้อื่นได้รับความเสียหาย ซึ่งการทำประกันภัยภาคสมัครใจนั้นก็แบ่งออกได้หลายประเภทขึ้นอยู่กับความคุ้มครอง เช่น
  • ประกันภัยชั้น 1 ซึ่งเป็นประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองครอบคลุมมากที่สุดทั้งความเสียหายที่เกิดกับรถยนต์ของผู้เอาประกันภัยในกรณีเกิดอุบัติเหตุ สูญหาย หรือไฟไหม้ นอกจากนั้นยังคุ้มครองความเสียหายที่เกิดกับตัวผู้ขับขี่และบุคคลภายนอกทั้งกรณีบาดเจ็บหรือเสียชีวิต รวมไปถึงรถยนต์และทรัพย์สินของบุคคลภายนอกด้วย เมื่อความคุ้มครองครอบคลุมทุกอย่างเช่นนี้ จึงทำให้ค่าเบี้ยประกันภัยค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประกันภัยชั้นอื่นๆ อย่างไรก็ตามการทำประกันภัยชั้น 1 นี้จะมีข้อจำกัดในเรื่องของประเภทรถยนต์ที่สามารถทำประกันภัยชั้น 1 ได้ โดยต้องเป็นรถเก๋ง หรือรถกระบะส่วนบุคคลที่มีอายุไม่เกิน 7 ปี เท่านั้น
  • ประกันภัยชั้น 2 จะมีความคุ้มครองคล้ายกับประกันภัยชั้น 1 ครับ เพียงแต่จะไม่คุ้มครองความเสีย หายที่เกิดกับรถยนต์ของผู้เอาประกันภัยในกรณีเกิดอุบัติเหตุ แต่ยังคงคุ้มครองกรณีรถยนต์สูญหายหรือไฟไหม้อยู่ และสำหรับค่าเบี้ยประกันภัยก็จะถูกกว่าประกันภัยชั้น 1 ลงมาหน่อยครับ แต่ด้วยความที่ประกันภัยชั้นที่ 2 นี้ ไม่คุ้มครองรถยนต์ของผู้ขับขี่จึงอาจจะไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่
  • ประกันภัยชั้น 3 จะเน้นไปที่การคุ้มครองความเสียหายที่เกิดกับตัวของผู้ขับขี่และบุคคลภายนอกทั้งชีวิตและร่างกาย รวมไปถึงคุ้มครองรถยนต์และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก แต่จะไม่คุ้มครองความเสียหายที่เกิดกับรถยนต์ของผู้เอาประกันภัยเลย ทั้งในกรณีเกิดอุบัติเหตุ สูญหาย หรือไฟไหม้ ซึ่งค่าเบี้ยประกันภัยก็จะมีราคาไม่สูงมาก แต่ทั้งนี้หากเกิดอุบัติเหตุเจ้าของรถก็ยังคงต้องรับภาระค่าซ่อมรถยนต์ของตัวเองอยู่ด้วยครับ

ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่าการทำประกันภัยรถยนต์นั้นมีความสำคัญมากๆ เพราะกฎหมายเองก็มีการบังคับไว้เลยว่ารถยนต์ทุกคันต้องมีประกันภัย ซึ่งถ้าหากไม่ทำไว้ก็จะมีโทษตามกฎหมายด้วย นอกจากนั้นแล้วการทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจเพิ่มเติมก็ยังเป็นการถ่ายโอนความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการใช้รถยนต์อีกด้วยครับ เพราะถึงแม้ว่าเราจะระมัดระวังมากแค่ไหนก็ตามก็ยังคงมีโอกาสที่อาจจะเกิดอุบัติเหตุได้เสมอ และในปัจจุบันการทำประกันภัยรถยนต์ก็ทำได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว อีกทั้งยังมีให้เลือกหลายหลายบริษัทอีกด้วยครับ ดังนั้นท่านผู้อ่านอย่าลืมให้ความสำคัญและเลือกทำประกันรถยนต์เอาไว้นะครับ แล้วกลับมาพบกันใหม่ในครั้งหน้า สำหรับวันนี้สวัสดีครับ